EIC มองธุรกิจขนส่งพัสดุปีนี้ยังโตได้ แม้มีการแข่งขันเรื่องราคาดุเดือด และคู่แข่งเพิ่มขึ้น

SCB EIC ยังมองว่าธุรกิจขนส่งปีนี้ยังเติบโต พร้อมให้ 3 แนวทางธุรกิจที่จะทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพการแข่งขันที่สูงในขณะนี้

Online Delivery Parcel E-commerce
ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC ได้จัดทำบทวิเคราะห์ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 35% ในปี 2020 นี้ เมื่อเทียบกับปี 2019 มาอยู่ที่ประมาณ 66,000 ล้านบาท จากเดิมในปี 2017-2019 เติบโตได้ปีละ 40% ในปีนี้นั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce ที่มูลค่าตลาดยังเติบโตต่อเนื่องราว 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีขนาดที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

ขณะเดียวกันการค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social Commerce) อย่าง Facebook, Line, Instagram รวมถึงในหน้าเว็บไซต์ของแต่ละร้านค้าเอง ทำให้คาดว่าการขนส่งพัสดุในปี 2020 จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นการจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ เช่น เทศกาลช้อปปิ้งเอาใจคนโสด 11.11 ของ Lazada, 12.12 Birthday Sale ของ Shopee รวมไปถึง Black Friday จะส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวัน

ปีนี้ยังได้เห็นการแข่งขันสูง

ในด้านการแข่งขันปี 2020 นี้ ธุรกิจขนส่งพัสดุมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคารุนแรงยิ่งขึ้น จากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ในปีนั้น 2018 ตลาดขนส่งพัสดุของไทยประกอบด้วยผู้เล่นในรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่

  • ไปรษณีย์ไทย
  • เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express)
  • ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส (Lazada Express)

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นขนาดกลางอื่น ๆ  เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express) นิ่มเอ็กซ์เพรส (Nim Express) นินจาแวน (Ninja van) รวมไปถึง DHL E-commerce ที่ลงมาเล่นเกมนี้ด้วย

แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นรายใหญ่หลายรายจากต่างประเทศได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย เช่น

  • เบสท์ โลจิสติกส์ (Best Logistics) และ แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ซึ่งมีกลุ่ม Alibaba เป็นหุ้นส่วน
  • เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งอันดับ 1 จากอินโดนีเซีย
  • ซีเจ โลจิสติกส์ (CJ logistics) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่จากเกาหลีใต้ที่ได้ร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ของไทย เป็นต้น

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายเดิมยังมีโอกาสเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้าตามความต้องการ (On-Demand Delivery) ซึ่งให้บริการด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ลาลามูฟ (Lalamove), ไลน์แมน (Lineman), แกร็บเอ็กซ์เพรส (Grab Express) เป็นต้น อย่างไรก็ดี การขนส่งแบบตามความต้องการนี้จะเน้นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการขนส่งสินค้าทันทีซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับการขนส่งพัสดุแบบเดิม

ศึกตัดราคา แถมต้องไวด้วย

ขณะเดียวกันในรายงานของ EIC ได้กล่าวถึงการที่ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ทำให้เกิดการตัดราคาอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุที่จากเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มต้นที่ 35 บาท แต่ในปัจจุบันนั้นปรับเป็น 19 บาท อีกทั้งในอนาคตอัตราค่าบริการมีโอกาสปรับลดลงอีก

สำหรับการลดราคาค่าขนส่งจากผู้ประกอบการนั้นนอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ประกอบการดึงดูดปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นและทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นแล้ว ปริมาณการขนส่งที่มากขึ้นยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งเฉลี่ยของผู้ประกอบการ หรือการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale)

อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่รุนแรงนี้จะส่งผลบวกต่อผู้ใช้บริการขนส่งพัสดุเนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าบริการขนส่งที่ถูกลง การบริการขนส่งที่ปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น และมีผู้ประกอบการให้เลือกใช้หลายราย

นอกจากด้านราคาแล้ว ธุรกิจขนส่งพัสดุยังต้องแข่งขันในด้านบริการทั้งในแง่คุณภาพการบริการและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า โดยในด้านคุณภาพการบริการผู้ประกอบการควรต้องยกระดับความปลอดภัยในการจัดส่งสินค้าเนื่องจากมูลค่าสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การขนส่งที่ล่าช้า และการละเลยการติดตามปัญหาของผู้ใช้บริการจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการ

3 ปัจจัยที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอด

ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มขันนี้ บทวิเคราะห์จาก EIC มองว่า 3 แนวทางหลักในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจ ได้แก่

  1. การเป็นพันธมิตรกับ Online Platform ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งพัสดุ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ E-commerce ซึ่งต้องการการจัดส่งพัสดุจำนวนมาก เช่น Kerry Express และ DHL ที่ร่วมมือกับทั้ง Lazada, Shopee และ JD Central อีกทั้งผู้ประกอบการอาจพิจารณาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโลจิสติกส์บน e-logistics marketplace เช่น Shippop และ Shipjung ในการช่วยหาลูกค้าให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้งานรถขนส่ง อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจะต้องเตรียมพร้อมในการบริหารต้นทุนดำเนินการให้เหมาะสมกับค่าคอมมิชชัน (Commission) ที่ถูกหักจากเจ้าของแพลตฟอร์มและค่าใช้จ่ายทั่วไปอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สิทธิประโยชน์จากเจ้าของแพลตฟอร์มที่ปรับลดลง
  2. การสร้างความแตกต่าง โดยเน้นให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่มและยกระดับการบริการเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น SCG เห็นโอกาสการเติบโตของบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ส่วน Lalamove และ Deliveree สร้างจุดแข็งโดยการให้บริการขนส่งพัสดุออนดีมานต์ ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและสามารถตั้งเวลาเรียกใช้บริการขนส่งล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการขนส่งได้ ขณะที่ไปรษณีย์ไทยจัดโปรโมชันสำหรับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากและการขนส่งต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มซื้อ-ขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมไปถึง SF Express ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในจีนเน้นการขนส่งสินมูลค่าสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์และการแพทย์ การขนส่งสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วผ่านทางอากาศ
  3. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด้วยกันเอง ทั้งรูปแบบของการเป็นเครือข่ายธุรกิจและการร่วมทุนกับบริษัทขนส่งต่างชาติที่ต้องการเปิดตลาดในไทย เช่น Best Express ใช้โมเดลการขยายธุรกิจแบบเฟรนไชส์ (franchise) ซึ่งเป็นโมเดลที่นิยมและประสบความสำเร็จในจีน หรือการสร้าง E-Logistics Marketplace อย่างนิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ ร่วมทุนกับ Flash Express จัดตั้ง Flash Logistics เพื่อเป็นแพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้รถของผู้ประกอบการ และลดต้นทุนค่าขนส่งและลดการวิ่งรถเปล่า เป็นต้น

นอกจากธุรกิจขนส่งพัสดุแล้ว บทวิเคราะห์ EIC ยังได้มองว่า ศูนย์กระจายพัสดุและจุดให้บริการรับพัสดุ เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาดขนส่งพัสดุและเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

สาเหตุหลักๆ นั้นคือผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงต้องเปิดเกมรุกตลาดต่างจังหวัดเพื่อเพิ่มความสามารถในการกระจายสินค้าให้รวดเร็ว ซึ่งการลงทุนตั้งศูนย์กระจายพัสดุหรือเปิดจุดให้บริการเองอาจต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ดังนั้นผู้ประกอบการขนส่งบางรายจึงยังต้องเลือกใช้โมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ในการขยายพื้นที่จุดให้บริการ

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการทำธุรกิจนี้ นอกจากเงื่อนไขการขนส่งและส่วนแบ่งรายได้แล้ว อาจต้องพิจารณาถึงการเติบโตของอุปสงค์ในพื้นที่ ฐานลูกค้าที่ใช้บริการของแบรนด์ขนส่ง และการทับซ้อนของพื้นที่ให้บริการทั้งกับแบรนด์ขนส่งเดียวกันและแบรนด์คู่แข่ง เพื่อความมั่นคงของธุรกิจได้ในระยะยาว

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ