SCB EIC วิเคราะห์ รถยนต์ไฟฟ้า ตัวแปรสู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

ev car

รถยนต์ไฟฟ้าเป็น disruptive technology ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ด้วยขนาดของตลาดที่จำกัด ราคาที่สูง และความไม่พร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน จึงยังไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับสินค้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภค (value proposition) ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับ disruptive technology อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟน หรือกล้องดิจิตอล

SCB EIC มองว่า รถยนต์ไฟฟ้ายังต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะตีตลาดรถยนต์ไทยได้ แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต้องไม่นิ่งนอนใจโดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องเร่งหาโอกาสจากอุตสาหกรรมอื่นที่สอดคล้องกับจุดแข็งในธุรกิจของตน เพื่อกระจายความเสี่ยงหากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเกิดในไทยเร็วกว่าที่คาด

การที่ disruptive technology จะเติบโตขึ้นได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยทางด้านตลาด (social) ราคา (economics) และโครงสร้างพื้นฐาน (politics) แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีการผลิตและจำหน่ายมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ด้วยราคาที่ยังสูงมาก เนื่องจากต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ยังไม่สามารถพัฒนาให้ต่ำกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปได้ ในปี 2015 ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก

tesla01

Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่มีการลงทุนใน Gigafactory เพื่อตั้งเป้าลดต้นทุนแบตเตอรี่ให้เหลือ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้ได้ภายในปี 2020 นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ด้วยความหลากหลายในการพัฒนาเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งชนิดของแบตเตอรี่ มาตรฐานของเต้ารับเต้าเสียบประจุไฟฟ้า หรือแม้แต่รูปแบบของเชื้อเพลิงพลังงาน เช่น ผู้ผลิตค่ายญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี hydrogen fuel cell หรือแนวคิดของ Daimler ที่ผสานการใช้ plug-in battery และ fuel cell ไว้ด้วยกัน

ในอดีตมี disruptive technology ซึ่งสามารถแทนที่คู่แข่งด้วยการสร้าง value propositionเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ในเทคโนโลยีใหม่อย่างแพร่หลาย เช่น สมาร์ทโฟนของ Apple และ Samsung ที่เข้ามาแทนที่ Nokia จนทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดจากที่สูงถึง 50% เหลือเพียง 3% ภายใน 6 ปี

apple-inc-508812_1280

Apple ชูจุดเด่นในการสร้างนวัตกรรมที่แปลกใหม่พร้อมกับนำเสนอ user interface ที่เป็นมิตรแก่ผู้ใช้ ในขณะที่ Samsung นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองแก่ผู้บริโภคทุกระดับรายได้ เทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลที่เริ่มผลิตให้กับผู้ใช้ทั่วไปครั้งแรกในปี 1995 สามารถเข้ามาแทนที่กล้องฟิล์มได้ใน 7 ปีต่อมา โดยที่ Kodak ผู้ผลิตฟิล์มอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้คิดค้นกล้องดิจิตอล ได้ละเลยการพัฒนาต่อยอดกล้องดิจิตอล เพราะเกรงว่าจะไปแย่งตลาดจากธุรกิจฟิล์มเดิม สุดท้ายแล้วทำให้ Kodak ต้องสูญเสียตลาดกล้องดิจิตอลให้กับผู้เล่นรายอื่น พร้อมๆ กับเทคโนโลยีฟิล์มที่ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ

การดูภาพยนตร์ streaming บนคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่สร้างความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคและมีราคาถูกได้เข้ามาแทนที่ CD หรือ DVD ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตจากระบบสายโทรศัพท์ความเร็วต่ำสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง fiber optics และ 4G ทั้งนี้ ข้อสังเกตของลักษณะการเกิด disruptive technology ในช่วงต้นมักจะมีการเพิ่มปริมาณหรือขนาดตลาดอย่างช้าๆ แต่เมื่อถึงจุดที่สภาพแวดล้อมมีความพร้อมก็จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

EIC_infographic_EV2

SCB EIC คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี รถยนต์ไฟฟ้าจึงจะสามารถเริ่มตีตลาดในไทยได้เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ได้พัฒนาถึงจุดที่จะทำให้เกิดความต้องการอย่างก้าวกระโดดในขณะนี้ ด้วยความหลากหลายในเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตรถยนต์เองก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าเทคโนโลยีชนิดไหนจะตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ดีที่สุด ประกอบกับยังมีต้นทุนสูงซึ่งทำให้ต้องมีการพัฒนาเพื่อหาตัวเลือกต่อไป

อีกปัจจัยคือ นโยบายของไทยในปัจจุบันเป็นเพียงการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ยังไม่เพียงพอต่อการดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นว่าจะเกิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยรถยนต์เป็นสินค้าที่มีราคาสูง จึงมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อและเมื่อรวมถึงการพิจารณาถึงต้นทุนในการปรับเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่น (switching cost) จากข้อกังวลในความเหมาะสมต่อลักษณะการใช้งานในไทย ความปลอดภัยในเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ และความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคเข้าไป จึงเป็นการยากที่จะสร้าง value proposition เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ในปัจจุบันได้ในปริมาณมาก (massive scale)

EIC_infographic_EV21

ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไม่ควรวิตกแต่ต้องไม่นิ่งนอนใจควรจะพิจารณาจุดแข็งของธุรกิจและหาโอกาสในอุตสาหกรรมอื่น เช่น การรับผลิตชิ้นส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (Manufacturing-Related Services[2]) ที่มีความถนัด รวมไปถึงการหาพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจหากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด ดังกรณีของ Kodak ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหากผู้ผลิตกลัวว่านวัตกรรมของตนจะแย่งตลาดกันเองอาจส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสอันมหาศาลและกระทบต่อ supply chain ในเวลาต่อมา

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือผู้สนใจ รวมถึง start-up ที่มีความพร้อมในเทคโนโลยีชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าควรหาโอกาสจากทั้งในและต่างประเทศ เช่น ใช้โอกาสจากโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ และโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุนในธุรกิจการผลิต หรือโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ

Credit Image: Wikimedia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา