SCB EIC ปรับลด GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.7% คาดส่งออกโตเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้ปรับประมาณการตัวเลข GDP ไทยปี 2020 เติบโตเพียง 2.7% และคาดว่าส่งออกของไทยปีนี้จะโตแค่ 0.2% เท่านั้น

Bangkok Thailand กรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2563 เติบโตที่ 2.7% จากเดิมที่ 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลข GDP ของปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ตามภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากภาวะการค้าโลกที่น่าจะปรับดีขึ้นบ้าง ขณะที่เรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่กดดันผู้ส่งออกของไทยอยู่

มองภาพรวม

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะฟื้นตัวแล้ว รวมไปถึงสถาบันการเงินใหญ่ๆ รวมไปถึง World Bank และ IMF มองว่าฟื้นตัวช้าๆ อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาปีนี้น่าจะชะลอลง

ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ Sentiment มีทั้งข้อดีข้อเสียปนๆ กัน CEO ยังกังวล 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องสงครามการค้ากับ Geopolitics

สำหรับเศรษฐกิจจีนปีนี้น่าจะต่ำกว่า 6% ซึ่งโตต่ำสุดตั้งแต่ปี 1990 ผลจากนโยบายจีนเองและสงครามการค้า แต่ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ปีนี้จะโตมาจาก ลาตินอเมริกา รวมไปถึงแอฟริกา ซึ่งเติบโตเพราะปีที่ผ่านมามีปัญหา แต่ไทยไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่เพราะเราไม่ได้ค้าขายกับกลุ่มนี้มากนัก

มองเศรษฐกิจไทยปีนี้

โดย EIC มองว่า ภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าสะสมกว่า 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย

ยรรยง ยังได้กล่าวว่า “คาดว่าส่งออกปีนี้น่าจะอยู่ 0.2% และน่าจะโตครึ่งหลังของปีนี้ เพราะคู่ค้าใหญ่ๆ ของไทย เศรษฐกิจพึ่งจะฟื้นตัว” ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง นอกจากนั้นแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน

สำหรับภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยกดดันหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว ส่วนรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนในระยะต่อไป

ด้านการลงทุนภาคเอกชน นอกจากจะมีแนวโน้มชะลอลงตามกำลังซื้อในประเทศแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ และระดับสินค้าคงคลังภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

ปีนี้จะได้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล

ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจปี 2563 ทั้งในรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลกลุ่มเปราะบางระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการ 5G ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ประกอบกับการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าจากเมื่อปลายปี 2562 จึงทำให้หลายโครงการมีการเลื่อนเบิกจ่ายมาในปี 2563

นอกจากนี้ยังรวมไปถึแนวนโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศทั่วโลกที่มีทิศทางผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจทำให้ SCB EIC คาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตที่ 2.7% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่ควรจะเป็นที่ 3.5%

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ ยรรยง กังวลคือเรื่องของ เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุดๆ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาหลายๆ ตัวยังลดลงอยู่ ซึ่งได้ภาครัฐยังช่วยไว้ได้อยู่

ขณะที่ค่าเงินบาทได้คาดไว้ที่ประมาณ 29.5 ถึง 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้

สำหรับความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2563 มี 3 ปัจจัย ที่ EIC มองไว้ ได้แก่

  1. ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ด้านสงครามการค้า แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ อาทิ การเจรจากับจีนในระยะต่อไป การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป และการพิจารณาของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ของหลายประเทศ
  2. ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  3. ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ