SCB EIC คาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ 

หลังจากที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน (Emergency rate cut) 50 bps เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดย Feb ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินนอกวาระการประชุมปกติ ซึ่งคณะกรรมการ FOMC มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps จากกรอบ 1.75%-1.50% มาอยู่ที่กรอบ 1.25%-1.00%

เนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2020 ไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่ Fed ประเมินก่อนหน้า โดย Fed ต้องการผ่อนคลายภาวะการเงินในสหรัฐฯ จากที่เริ่มตึงตัวขึ้นมาก

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาด ทั้งการส่งออกสินค้าไปจีนอยู่ที่ 13.5% ต้องชะลอลงในครึ่งแรกปี 2020 ทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนราว 3.8% ทั้งทางห่วงโซ่อุปทานต่อผู้ผลิตสหรัฐฯ ทั้งห่วงโซ่อุปทานต่อผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นและการบริโภคภายในประเทศ

ด้วยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ EIC มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25bps) ภายในครึ่งแรกของปี มีโอกาสสูงที่จะปรับลดในการประชุมเดือนมีนาคมนี้

สถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยและโลกรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนจากธนาคารกลางหลายประเทศต่างปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง EIC มองว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากกว่าที่คาด ทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออก และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม

รวมถึงผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ยังรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า การปิดโรงงานผลิตในจีนช่วงต้นปีส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าขั้นกลางบางชนิดจากจีนมาไทยต้องชะงักลงในบางอุตสาหกรรม รวมทั้งสินค้าขั้นสุดท้ายของจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ส่งผลต่ค้าปลีกของไทยด้วย

ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ EIC มองว่า ส่งผลต่อช่องทางการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ กนง. จึงอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเพิ่มเติม เพื่อให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุด การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบการเงินไทยได้บ้าง เอื้อประโยชน์ครัวเรือนให้ปรับโครงสร้างหนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยต่ำจะช่วยให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนปรับลดลงได้ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและภาคธุรกิจต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การใช้มาตรการอื่นประกอบ นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยจะมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเกิดจากปัญหาด้านอุปทาน การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ อาจมีผลจำกัด

EIC ประเมินว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกไม่มากนัก และจำเป็นต้องพึ่งพาการดำเนินนโยบายจากภาคส่วนอื่นๆ โดย กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ตามที่คาดไว้ การใช้นโยบายอื่นๆ ร่วมด้วยจะจำเป็นยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินนโยบายบ้างแล้ว

อาทิ คลังขยายระยะเวลายื่นแบบชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดาออกไปถึงเดือนมิถุนายน 2020 ให้ธุรกิจโรงแรมสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มเติม พร้อมทั้งเตรียมงบประมาณสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มเติม สถาบันการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน

ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาทให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยให้แก่ลูกค้าตนเองต่อไป ขณะที่แบงก์ชาติขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมลง เพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น

Thailand Face Masks Coronavirus ไวรัสโคโรนา
ภาพจาก Shutterstock

ขณะที่ต่างประเทศมีแนวโน้มหันมาใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

  • สิงคโปร์เพิ่มงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เงินช่วยเหลือแก่แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ และกลุ่มอาชีพอิสระเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19
  • ฮ่องกง ลดภาษีเงินเดือนของพนักงานและกำไรของภาคธุรกิจ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐบาลเข้ามาค้ำประกัน 100% ทั้งเตรียมอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและโรงพยาบาล
  • จีน รัฐได้ออกมาตรการลดภาษีแก่ภาคธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมทั้งอัดฉีดเงิน 3 แสนล้านหยวนและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ทั้ง LPR และ MLF) ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) ลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ชะลอลงรุนแรง

EIC มองว่า ภาครัฐจะดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาในระยะถัดไป เน้นกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ

เช่น ให้เงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการบริโภค อัดฉีดสภาพคล่องผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยตรง ทั้งธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคารที่ได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับการขาดหายของอุปทานสินค้าจากจีน

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา