SCB EIC ได้วิเคราะห์ว่า Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยทั้งปี นอกจากนี้ยังมองไปถึงตราสารหนี้ของไทยอีกด้วย โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ผลตอบแทนอาจลดลง
หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2019 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ที่ช่วง 2.25 – 2.50% นอกจากนี้ Fed ได้เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็นคงดอกเบี้ยตลอดปี 2019 ทั้งนี้ Fed ยังคงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 1 ครั้งในปี 2020 นอกจากนี้ยังมีการประกาศที่จะยกเลิกการปรับลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Run-Off) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2019 อีกด้วย
ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้น
SCB EIC มองว่า การปรับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ส่งผลให้ภาวะการเงินของสหรัฐฯ โดยรวมผ่อนคลายขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้ หลังการประชุม FOMC อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลง 10 bps มาอยู่ที่ระดับ 2.51% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 นอกจากนี้แนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ที่ dovish ขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับขึ้นน้อยลงกว่าที่คาดไว้เดิม
โดยมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว ดังนั้นการที่ Fed ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลง พร้อมกับปรับลด Dot Plot จึงทำให้ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อ (Breakeven Inflation) ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นได้ไม่มาก นอกจากนี้การที่ Fed ประกาศว่าจะยังคงขนาดงบดุลในระยะต่อไปโดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ทำให้ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Term Premium) ไม่สามารถปรับขึ้นได้มากเช่นกัน สำหรับดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นพบว่า อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.3% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทรงตัว
ลดแรงกดดันของธนาคารกลางในกลุ่ม Emerging Markets
การปรับขึ้น Fed Fund Rate ที่มีแนวโน้มน้อยลง เป็นการลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ เนื่องจากความจำเป็นที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ EM ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม Fed ลดลงไปด้วย จึงทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจ EM จะชะลอลงอย่างมากปรับลดลง นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้นจะเป็นปัจจัยเสริมให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับดีขึ้น (Risk-On Sentiment) ซึ่งอาจทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าสู่ EM มากขึ้นและลดความเสี่ยงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลออกอย่างรวดเร็ว (Capital Flight) ลง
ผลต่อพันธบัตรรัฐบาลไทย
นอกจากนี้ SCB EIC ยังมองว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ Fed ที่เปลี่ยนไปประกอบกับมุมมอง กนง. ที่ มองว่าไม่มีความกังวลเงินเฟ้อจะเร่งตัวในอนาคต ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ปรับลดลง 9 bps มาอยู่ที่ 2.46% โดยเป็นผลจากสองปัจจัยด้วยกันคือ
- การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยค่อนข้างมาก
- ท่าทีที่มองว่าไม่มีความกังวลเงินเฟ้อจะเร่งตัวในอนาคตขึ้นของ กนง. หลังการประชุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2019 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง
สำหรับนัยของการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นั้น อีไอซีมองว่า เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่งอยู่แล้วและมีการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. จึงไม่ได้รับอิทธิพลจาก Fed มากนัก
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา