อนาคตมืดมน SCB คาด GDP ปีนี้เหลือ 2.5% หลังส่งออกหด การบริโภคและลงทุนชะลอตัว

GDP ไตรมาส 3 โตต่ำที่ 2.4% ปรับลดคาดการณ์ปี 2019 เหลือ 2.5% ปี 2020 เสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าคาด

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยบทวิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายต่ำเพียง 2.4% YOY ภาคส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง ภาคเศรษฐกิจในประเทศทั้งบริโภคและลงทุนมีการชะลอตัว

เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (technical recession) แต่ภาคการผลิต (manufacturing)​ ยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อ ทำให้ภาวะการฟื้นตัวของการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2019 ขยายตัวที่ 2.4% YOY จาก 2.3% YOY ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวในระดับต่ำแม้จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้า 

ทั้งนี้การเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ sa) พบว่าขยายตัวที่ 0.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.4% สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) ยังถูกกดดันจากภาคส่งออกที่ยังคงหดตัว ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลง

ภาพรวมการส่งออกสินค้าจะหดตัวน้อยลง แต่เกิดจากการส่งออกทองเป็นหลักซึ่งไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย 

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงไตรมาส 3 หดหัวที่ -0.3%YOY ชะลอจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึง -5.8%YOY สาเหตุของการหดตัวน้อยลงของภาคส่งออกเกิดจากการส่งออกทองคำ (ไม่ได้ขึ้นรูป) ในระดับสูง 

(ตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการส่งออกทองในไตรมาส 3 ขยายตัวมากถึง 302.5%YOY ทำให้การส่งออกในภาพรวมที่หดตัว -0.5%YOY หดตัวมากขึ้นเป็น -4.5%YOY เมื่อหักผลของการส่งออกทอง) 

การส่งออกนำเข้าทองไม่ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นการส่งออกทองที่เพิ่มมากขึ้น จะถูกหักในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือ (change in inventories) ซึ่งมีผลทำให้ส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือมี contribution to growth เป็นลบมากถึง 4.6 percentage points ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา (รูปที่ 1)  

ภาพจาก ธนาคารไทยพาณิชย์

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงหดตัวที่ -7.7% YOY ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าส่งออกที่ลดลง 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ซึ่งการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าดังกล่าวมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกสุทธิ (net exports) ขยายตัวได้

การส่งออกภาคบริการยังคงหดตัวจากการลดลงของค่าระวางสินค้า (freight) โดยการส่งออกบริการมีการหดตัวที่ -3.2%YOY 

เป็นผลมาจากการลดลงของค่าระวางสินค้าตามทิศทางการส่งออกของไทยที่ยังหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อนเป็นหลัก

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 4.2% YOY จากการชะลอลงในสินค้าทุกประเภท ทั้งสินค้าคงทน กึ่งคงทน และไม่คงทน สะท้อนภาคเศรษฐกิจในประเทศที่มีทิศทางชะลอต่อเนื่อง 

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การบริโภคโดยเฉพาะในหมวดสินค้าไม่คงทนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ทำให้ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 4.2% YOY

การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 2.4% YOY เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.1% YOY จากการนำเข้ารถไฟฟ้าและเรือเป็นสำคัญ การลงทุนในหมวดยานยนต์มีการชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ด้านการก่อสร้างก็มีการขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการ LTV

การลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากการก่อสร้างที่ยังขยายตัวได้ดีและเครื่องจักรเครื่องมือที่
หดตัวชะลอลง การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 3.7%YOY เร่งขึ้นจาก 1.4%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการก่อสร้างที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 5.1%YOY แม้จะชะลอลงจาก 5.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า 

ในส่วนของการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือหดตัวชะลอลงที่ -0.5%YOY จากการหดตัวสูงที่ -8.5%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า

ในด้านการผลิต (Production Approach) การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การผลิตในหมวดอื่นมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย

การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ -1.5% YOY ตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร ยางและพลาสติก และการผลิตรถยนต์ 

สาขาการขายส่งและการขายปลีกขยายตัวชะลอลงที่ 5.6%YOY จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.9%YOY โดยชะลอตัวตามการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าบริโภค

สาขาการก่อสร้างขยายตัวชะลอลงที่ 2.7%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.4%YOY โดยการขยายตัวมีสาเหตุจากการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนทรงตัว

ภาคการเกษตรขยายตัวที่ 1.5% YOY หลังจากหดตัวที่ -1.3% YOY ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผล
มาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตพืชหลัก ได้แก่ พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และในหมวดปศุสัตว์ 

ภาคบริการโรงแรมและภัตตาคารได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 7.0%YOY เทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 1.4%YOY จึงส่งผลให้ GDP สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ 6.6%YOY เทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 3.7.%YOY

อีไอซีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2019 จาก 2.8% เหลือ 2.5% โดยคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวประมาณ 2.6%YOY 

โดยสาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการเกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด (EIC คาดขยายตัว 2.7%YOY เท่ากับ Bloomberg Concensus) 

เป็นผลจากภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวมาก โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ผลกระทบของมาตรการ LTV ต่อการลงทุนด้านการก่อสร้าง และการลดลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ 

รวมถึงการลดลงของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่ลดลงมากกว่าคาด ทำให้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา 

แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) แต่ภาคการผลิต (manufacturing) ยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อ ซึ่งน่าจะทำให้การฟื้นตัวของการจ้างงาน รายได้นอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงขึ้น  

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวที่ 0.1% ในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ sa) แต่ก็นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2018 อย่างไรก็ดี 

หากพิจารณา GDP ภาคการผลิต (Manufacturing) พบว่ายังอยู่ในภาวะ technical recession โดยล่าสุด ภาคการผลิตยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า -0.9% QoQ sa ซึ่งเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2019 (-1.7% และ -0.5% QoQ sa ในไตรมาสที่ 2) 

จากแนวโน้มการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการสะสมสินค้าคงคลังของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเพิ่มขึ้น EIC มองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในระยะต่อไป 

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าได้มีการหลุดออกจากภาวะ technical recession แล้ว โดยกลับมาขยายตัวได้ 1.0% QoQ sa หลังจากหดตัวสองไตรมาสติดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 

อย่างไรก็ตาม การกลับมาขยายตัวได้ของการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่มาจาก การซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร (ขยายตัว 1.4% QoQ sa) ในขณะที่ ภาคการก่อสร้างแม้จะมีการขยายตัวแต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียง 0.1% QoQ sa (เทียบกับ 0.0% ในไตรมาสที่ 2/2019)

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 EIC มองว่าการส่งออกยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลงเนื่องจากได้รับอานิสงส์ปัจจัยฐานต่ำ เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่องสะท้อนจาก Global Manufacturing PMI ที่ยังอยู่ในโซนหดตัว (ระดับต่ำกว่า 50) รวมถึง PMI ของประเทศสำคัญก็ยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง (รูปที่ 2) โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2019 จะหดตัวที่ 2.5% 

การส่งออกที่ยังมีแนวโน้มหดตัว จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในภาวะ technical recession ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เริ่มลดลง และค่าจ้างนอกภาคเกษตรที่ชะลอตัวลง อาจยังคงดำเนินต่อไปและจะทำให้การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

EIC มองว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (เช่น มาตรการประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการชิม ช้อป ใช้ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น) ก็อาจมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้างผ่านการบริโภคสินค้าไม่คงทนในช่วงที่เหลือของปี

ภาพจาก ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับปี 2020 EIC คงคาดการณ์ที่ 2.8% แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากจากภาคส่งออกที่ยังคงมีหลายปัจจัยกดดัน รวมถึงการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลง จากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปีหน้า ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่จะมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยฐานต่ำของการส่งออกในปี 2019 

EIC จึงประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน คาดขยายตัวชะลอลงจากปี 2019 เล็กน้อยตามภาคส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV 

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการลงทุนของประเทศจะได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ ในส่วนของการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณปี 2020 ก็จะส่งผลให้โครงการลงทุนภาครัฐบางส่วนมีการเลื่อนไปเบิกจ่ายได้มากขึ้นในปี 2020 

ดังนั้น EIC จึงคาดว่าการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ราว 8.0% ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลงเช่นกันจากหลายปัจจัยกดดัน ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของรายได้ประชาชน ทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่จะเข้มงวดมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การลดลงของยอดซื้อรถยนต์ในระยะข้างหน้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 

หากรัฐใช้มาตรการกระตุ้นยังคงเป็นแบบเดิมที่มีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย (small and scattered) ก็อาจทำได้เพียงช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น 

สำหรับแนวโน้มนโยบายการเงิน  EIC มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 EIC ประเมินว่า กนง. มีโอกาสมากขึ้นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25 basis points) หากภาวะเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ (domestic demand) ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงดังกล่าว 

ล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของ รองประธาณกรรมการ กนง. ได้มีการกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% นั้นไม่ใช่ขีดจำกัดของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate floor) หากแต่คณะกรรมการจะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ (data dependent) และหากมองว่าเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่กรรมการคาดการณ์ไว้ ก็พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นต่อไปได้ 

ที่มา – ​ธนาคารไทยพาณิชย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา