SCB ประกาศวิสัยทัศน์เป็นธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าเป็นอันดับ 1 ในใจลูกค้าทุกกลุ่มใน 3 ปี

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2023 ในการเป็น ธนาคารดิจิทัล ที่เป็นอันดับ 1 ในการบริหารความมั่งคั่ง และต้องการเป็นอันดับ 1 ในใจลูกค้าทุกกลุ่มภายใน 3 ปี นับจากนี้ ถือเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายไม่น้อย โดย SCB ได้แบ่งกลุ่มลูกค้าหลักไว้ 4 ประเภท คือ Corporate/SME, Retail Lending, Digital และ Wealth

scb

เป้าหมายชัดเป็นธนาคารที่ดีขึ้น ติด Top ในทุกกลุ่มลูกค้า

กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ด้วยเป้าหมายนี้ SCB ต้องปรับโครงสร้างภายในใหม่โดยผนวกด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาบริการด้านดิจิทัลด้วยโมเดล Digital Wealth เปิดตลาด Emerging Wealth เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในส่วนนี้จะมี อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology เดินหน้ายกระดับบริการสู่ธนาคารดิจิทัลครบวงจร ขณะที่ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ SCB จะช่วยบริหารความมั่งคั่งให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น

สำหรับปัจจุบัน SCB ถือเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในสินเชื่อที่อยู่อาศัย อันดับหนึ่งในธุรกิจ Bancassurance นอกจากนี้ ยังเป็น Top 3 ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อลูกค้ารายย่อย และทางด้านการบริหารความมั่งคั่ง รวมทั้งยังเป็น Top 3 ธนาคารที่มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันทางเงินมากที่สุดในประเทศ

ในมุมมองทางเศรษฐกิจ SCB เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเร่งพลิกฟื้น คาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3% ดังนั้น ธนาคารมีหน้าที่ต้องสนับสนุนการเติบโตและช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

scb

ปรับองค์กรสู่ธนาคารดิจิทับเต็มรูปแบบ

กฤษณ์ บอกว่า SCB มีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นธนาคารดิจิทัลอยู่แล้ว ประกอบกับแนวโน้มการใช้งานดิจิทัลของคนไทยปัจจุบันอยู่ในระดับสูง มีการใช้แอปพลิเคชันการเงินเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และประมาณ 94% ของคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน และมีความต้องการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งหมดอยู่ในแผนของ SCB เพื่อเตรียมให้บริการกับลูกค้าทุกกลุ่ม

เป็นเจ้าตลาดด้านความมั่งคั่ง

SCB มีความพร้อมด้านการบริหารความมั่งคั่งทั้งด้านบุคลากร มีที่ปรึกษาด้านการลงทุนได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำของเอเชียมากที่สุดในประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่หลากหลาย พันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฐานลูกค้าปัจจุบันของธนาคารเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน SCB จะเน้นสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของลูกค้า ทั้งการขยายธุรกิจ การระดมทุนรูปแบบต่างๆ หรือการขยายลงทุนในต่างประเทศ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าองค์กร

เป้าหมายที่สำคัญอีกประการในด้านความมั่งคั่งคือ การขยายการให้บริการไปกลุ่ม Emerging Wealth หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและต้องการสร้างความมั่งคั่งในระยะแรกเริ่ม เพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาว SCB จะนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้

scb

ยกระดับประสบการณ์ไร้รอยต่อในทุกช่องทาง

สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของ Digital Bank with Human Touch คือ ประสบการณ์ที่ดี ณ จุดให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารที่มีอย่างหลากหลาย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสบการณ์การให้บริการโดยการขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้าทั้งในโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่องทางที่คุ้นเคย โดยลูกค้าทุกกลุ่มจะต้องได้รับประสบการณ์อย่างไร้รอยต่อผ่านช่องทางบริการที่หลากหลายด้วยมาตรฐานเดียวกันทุกช่องทาง

พร้อมกันนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเติบโตยั่งยืน จากนี้ไปธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่ออย่างค่อยเป็นค่อยไปและการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง และให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจผันผวน พร้อมด้วยการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับนโยบายความยั่งยืนในทุกๆ มิติ ทั้งการให้บริการลูกค้า และการบริหารงานภายใน โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวมกันทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล 9.8 แสนล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.1 แสนล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ 9.2 แสนล้านบาท 

scb

สรุปเป้าหมายธุรกิจปี 2023

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการขยายพอร์ตสินเชื่อควบคู่กับการรักษาคุณภาพ โดยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อประมาณไม่เกิน 5% และสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 40% อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจรตามแผน 3 ปี ในปี 2568 ธนาคารมีเป้าหมายจะลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ต่ำกว่า 40% รวมถึงการเป็นอันดับ 1 wealth wallet share พร้อมผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตามเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (ESG) ด้วยยุทธศาสตร์ดาวเหนือของธนาคารจะผลักดันให้ไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ Digital Bank with Human Touch สร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยบริการที่รู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล และรู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก และก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าทุกกลุ่มในปี 2568”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา