ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดหลักสูตรเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร SCB IEP Boothcamp: The Hospitality Survival ลงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคติวเข้มยุทธวิธีเอาตัวรอดสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว เปิดคลาสระยะสั้น 3 วัน อัดความรู้ธุรกิจยุคดิจิทัล สามารถประยุกต์ใช้กับกิจการได้ทันที เพิ่มรายได้ให้โรงแรมได้จริง
โดยนำร่องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ภาคใต้ครอบคลุมจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงาเป็นพื้นที่แรกเพื่อแนะนำกลุ่มเป้าหมายเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เพื่อประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยแม้จะเริ่มฟื้นตัวบ้างจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่การฟื้นตัวยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของไทยยังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ
ธุรกิจโรงแรมถือเป็นเสาหลักของประเทศ ลูกค้าเดือดร้อน ธนาคารก็เดือดร้อน ปกติธนาคารจะมีหลักสูตรยาว 3 เดือน ก็ลดระยะเวลาให้เหลือ 3 วันเพื่อให้เรารอดไปด้วยกัน เรามีวิทยากรรุ่นใหม่มาให้ความรู้เพิ่มเติมด้วย หลังเผชิญโควิด ธนาคารหวังว่าจะใช้หลักสูตรนี้ประคองตัวเองเพื่อต้อนรับคนไทยไปได้
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ก็ปรับตัวเหมือนกัน เราไม่ได้ปลดพนักงาน แต่ลดต้นทุนหลายพันล้าน ลดค่าเช่าออฟฟิศ ฯลฯ ขอเป็นกำลังใจให้เราผ่านวิกฤติไปด้วยกัน หลักสูตรนี้ทำเพื่อลูกค้าที่เป็นโรงแรมทั้งประเทศ ทั้งช่วยลดดอกเบี้ย และช่วยหลากหลายมิติ อาทิ
(1) จะทำให้เขามีช่องทางการขายให้ครบ รอบด้านมากขึ้น มีการปรับตัว ทั้งลดขนาดองค์กร เราก็มีหลักสูตรทำให้องค์กร lean มากขึ้น
(2) เพิ่มช่องทางขาย เช่น Social Marketing ให้ขายได้ให้ครบ ต้องฝึกที่จะสร้างคอนเทนต์ สามารถสังเกตพฤติกรรมได้ คนที่เป็น Influencer ก็มาให้ความรู้ แบงก์ชาติก็มาช่วย เราก็ได้แนวคิดว่าเราทีมไทยแลนด์ หลังจากผ่านวันนี้ไปแล้วจะมาดูฟีดแบคว่าเป็นแบบไหน และออก financial package อย่างไรต่อไป ตอนนี้เราก็มี holiday คือไม่ต้องจ่ายต้น จ่ายดอกอีก 6 เดือน และคนที่มาเรียนหลักสูตรนี้ก็จะขยายให้อีก 6 เดือน
เราเริ่มที่ภูเก็ต กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักสุดคือภาคใต้ จะมีการปรับหลักสูตรตามฟีดแบคและโมเดลของลูกค้า เช่น กลุ่มติดหาดต้องทำแบบไหน โรงแรมแบบบัดเจ็ด ติดถนน เดินทางสะดวกก็จะปรับตามพฤติกรรมลูกค้าของโรงแรม
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเราต้องมาดูว่าเขาได้ปรับในการทำองค์กรให้ lean ไหม เรามีเกณฑ์ค่าเฉลี่ยราว 35-40% สำหรับการลดขนาดหนี้ แต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน จะมีคนสอนในส่วนที่ว่าต้องทำอะไรให้ lean ได้บ้าง ถ้าเขาทำเองไม่ได้ ก็จะมีคนช่วยเป็นพาร์ทเนอร์ในการช่วยลดต้นทุน แต่เราให้เขาทำเองก่อนเพื่อลดต้นทุน ตอนนี้มีอบรมราว 40 แห่ง การลงทุนระดับ 3 ดาว ตกอยู่ที่ห้องละ 2 ล้านบาท ต้องมาดูกันว่าจะปรับอย่างไรให้เหมาะสมได้บ้าง
วันนี้ผู้ประกอบการที่มาร่วมด้วยก็มีทั้งภูเก็ต พังงา สมุย กระบี่ ปัญหาที่เป็นอุปสรรคคือ ลูกค้ายังไม่กลับ ธุรกิจมีแค่นี้ ยอดขายกับต้นทุน ภูเก็ตพึ่งพานักท่องเที่ยว 90% เมื่อเราพึ่งพิงต่างชาติมากเกิน 80% เมื่อลูกค้าหาย เราก็พยายามประคอง 20% ให้อยู่รอดได้
เราคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ถ้ามีการติดเชื้ออีกภาระของประเทศก็จะเพิ่มขึ้น เรามีความหวังกว่าประเทศอื่นในด้านสาธารณสุข เพราะสาธารณสุขของเราดีมาก เก่งมาก ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ก็คิดว่าค่อยๆ แง้มประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว ค่อยๆ คุมไม่ให้มีการระบาดครั้งใหม่ด้วย
เรื่อง NPL แบงก์ชาติทำ พรบ ฮอลิเดย์ ยอดที่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ให้พักชำระหนี้ไปเลย ถ้าเกิน 100 ล้านบาทก็มีมาตรการรองรับ ผู้ที่ทำธุรกิจ hospitality รวมถึง supply chain ที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับผลเชื่อมโยงด้วย รถมือสองก็พอขายได้เพราะคนกลัวขนส่งมวลชน เป็นต้น
ขณะที่ นภสร ค้าขาย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต ระบุว่า อยากเรียนทุกท่านว่าเรามีความหวังและอย่าหมดกำลังใจ ททท. ไปเสวนาให้กลุ่มโรตารีป่าตอง 99.99% เป็นคนต่างชาติ หลายคนก็อยากรู้ว่าเมื่อไรจะเปิด จะทำยังไงต่อไป เราต้องค่อยๆ แง้มประตู
ความมั่นใจอย่างหนึ่งที่อยากเรียนทุกท่านวา ไม่ต้องห่วง เรามีมาตรการ แนวทางที่จะดูแล จำกัดคนอยู่ในวงแคบเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง รอบสาม ขอเป็นกำลังใจว่ามีแสงสว่างแน่นอน อย่าท้อ ประคองตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ ธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะอยู่เคียงข้าง เพราะเรื่องเงินถือเป็นเรื่องสำคัญ
พื้นที่ภูเก็ตถือเป็นเครื่องยนต์หลักสำคัญ เพราะการท่องเที่ยวแทบจะ 100% ที่ได้รับผลกระทบหมด ทุกท่านต้องปรับตัว ลดขนาดลง อะไรที่ไม่จำเป็นต้องประหยัด อยู่อย่างพอเพียง ก่อนหน้านี้ดูแลตลาดโฮจิมินห์ ลาว กลับมาดูแลในไทยใกล้โควิด เจอสถานการณ์พอดี ตอนนี้เรามี PhuketGreatTime.com ตอนนี้ถือเป็นช่วง B2C online ผู้ซื้อผู้ขายเจอกันออนไลน์ เปิดตัว 15 มิถุนายน ขายได้แล้วกว่า 3 หมื่นราย เฉพาะพื้นที่ภูเก็ตก่อน มีเงื่อนไขข้อเดียวคือธุรกิจต้องถูกกฎหมาย อาจไม่มีใบอนุญาตเปิดโรงแรมได้ แต่ขอให้มีใบเสียภาษีนิดหน่อย
เราเคยแอบฝันว่าทำไมเราต้องจ่ายให้ Agoda 30% ทำไมไม่สร้างแบรนด์ไทย เรากำลังขายให้คนไทยอยู่ในตอนนี้ ต่อไปจะขยายให้ชาวต่างชาติด้วย ตอนนี้มีกลุ่มชาวจีนซื้อวิลลา ซื้อคอนโดอยู่ 2,600 กว่าคน เขามีกำลังซื้อ มีการใช้จ่ายในภูเก็ต ทำให้ภูเก็ตพอที่จะต่อท่อไปได้
เราเคยมีโรงแรมกว่า 1,800 แห่ง กว่า 1 แสนห้อง เป็นสภาวะ over supply ตอนนี้ เหลือแค่ 125 แห่ง แต่ละแห่งไม่ได้เปิด 100% เหลือ 8,400 ห้องที่เปิดอยู่ ต้องขอบคุณคนไทย ภาครัฐมาช่วยคนในพื้นที่เยอะมาก กระจายรายได้ทำให้เม็ดเงินเข้าพื้นที่ ตอนนี้มีโรงแรมที่ถูกกฎหมายราว 700 แห่งเฉพาะภูเก็ต การท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่ากำลังบูม ก็ถือว่าประสบสำเร็จ
ตอนนี้รัฐก็กำลังคิดวีซ่า Special Tourist Visa คนต่างชาติที่ต้องเข้ามา จะอยู่อย่างน้อย 1 เดือน ต่อได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน ต้องผ่านการกักตัวเข้มข้น บางคนกังวลว่าจะพักโรงแรมแบบ AQ (Alternative Quality เฉพาะโรงแรมระดับ 5-6 ดาวหรือเปล่า) ซึ่งอยากทำความเข้าใจว่าไม่ต้องตกใจกลัว เราเปิดรับแน่นอน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะแย่ เราก็ไม่อยากให้เกิดการติดเชื้อรอบ 2 ซึ่งการแพทย์เราเยี่ยมมาก เมืองไทย หมอ พยาบาลรักษาโรคโควิดด้วยใจไม่ใช้ยา เมืองไทยค่อยๆ เปิด ค่อยๆ รับคนเข้ามา จากภูเก็ตไหลไปพังงา กระบี่ อยากให้ทุกท่านเรียนรู้เรื่องไอทีเพิ่มขึ้น อยากให้ปรับตัวมากขึ้นทั้งขนาดองค์กรและองค์ความรู้ด้านไอที
รูปแบบในการรับชาวต่างชาติเข้ามา ค่อนข้างสะดวก เพราะภูเก็ตเป็นเกาะ มีสนามบินนานาชาติ สามารถคุมได้ อาจกล่าวได้ว่าข้อดีของโควิดคือการฟื้นฟูธรรมชาติ เราไม่เห็นเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่นานแล้ว ตอนนี้ เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่จำนวนมาก สภาวะภูเก็ตมีลักษณะ over supply ห้องพักล้นเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว ตอนนี้เราต้องคำนึงถึงการรองรับแขกที่เพียงพอมากกว่าจะทำให้ over supply แบบเก่า เช่น ประเมินว่าแต่ละพื้นที่สามารถรองรับได้เท่าไร (caring capacity)
ปัจจุบัน เราไม่เรียกภูเก็ตโมเดล เรียกชื่อใหม่ว่า 5T ใช้เฉพาะภูเก็ตก่อน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพร้อม ว่าจะใช้ special tourist visa จะพร้อมเมื่อไร แต่ละพื้นที่เริ่มได้เมื่อไร พร้อมไหม ตอนนี้จีน สแกนดิเนเวียเริ่มติดต่อที่จะมาเที่ยวแล้ว ปัญหาหลักคือการสร้างความมั่นใจในพื้นที่
ในการเข้ามา 30 วัน (จ่ายค่ากักตัว 14+1 local quarantine คนเข้าไปกักตัว ต้องจ่ายเงินเอง แต่ state quarantine รัฐจ่ายให้ โดย local quarantine หรือ alternative quarantine 15 วันจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2 แสน ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมราคาสูง)
5T นี้ประกอบด้วย
- T Targeting กลุ่มเป้าหมายใด เข้ามาได้ พื้นที่สีเขียว ระบาดต่ำ เช่นตรงไหนแดงเสี่ยงมาก ตรงไหนเขียว
- T Testing การตรวจโควิด fit2fly มีประกัน 1 แสนเหรียญ มีการตรวจตั้งแต่รอบแรก ถ้ามีผลบวก เข้า รพ ถ้าลบ เข้าสถานที่กักกัน (มี alq alternative quarantine) มีสองช่วงสำหรับการ testing (22 วัน)
- T Tracing มีการโหลดแอปช่วยโหลดติดตามตัว
- T Treating มีระบบการแพทย์ที่สามารถรองรับได้ ให้ความมั่นใจเกิน 100% วันนึงรับได้วันละ 1,000 คน เป็นที่เดียวมี รพ สนามที่พร้อมมาก รวมทั้ง รพ. รัฐ เอกชน เรามีหมอที่เกี่ยวกับระบาดวิทยาคอยดูแล
- T Trusting ไว้วางใจ ภาคประชาชน ทุกส่วนจะได้รับการดูแลอย่างดี ถ้าระบาดรอบสอง เราคิดว่าจะตั้งกองทุนขึ้นมา ทั้งส่วนที่ได้รับจากคนต่างชาติและภาครัฐ กองทุนนี้จะมาดูแลบุคลากรทางการแพทย์เมื่อเกิดการระบาด มีการแจกถุงยังชีพช่วงโควิดเพราะออกไปซื้อของไม่ได้ กองทุน เป็นแนวคิดทุกภาคส่วนที่ภูเก็ตยอมรับแล้ว สมมติว่าในส่วนของ อบจ. อาจจะสมทบมาร้อยล้านบาท ต่างชาติก็ต้องจ่ายด้วย เป็นค่าธรรมเนียม ตม.
ที่รัฐเตรียมจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ วันที่ 1 ตุลา ตอนนี้กำลังดูเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการไม่ค่อยอยากรับนักท่องเที่ยวมากนัก เพราะค่อนข้างระวังการระบาดซ้ำ สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความมั่นใจของทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ตอนนี้ เราอาศัยเพจดังๆ โซเชียลมีเดียช่วยโปรโมตไทยเท่ห์ ฯลฯ ทำคอนเทนต์ประเภทกำเงินมาเท่าไร เอาเงินไปใช้อะไรได้บ้าง เพื่อทำให้คนสนใจมากขึ้น
หลักสูตรเข้มข้น เสริมศักยภาพพลิกธุรกิจโรงแรมรอด ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมบุหงา 1-3 โรงแรมเอทู พูล รีสอร์ท ภูเก็ต มีหัวข้ออบรมหลากหลาย อาทิ กลยุทธ์เพิ่มยอดจองด้วยการตลาดออนไลน์ยุคใหม่, Influencer Marketing ให้ตอบโจทย์ลูกค้าโรงแรม, เทคนิคการ Live เพิ่มยอดขาย, How To Use Data To Create Storytelling Contents เป็นต้น
ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมสอน “สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้โรงแรมผ่านการตลาดด้วย Data” เล่าว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ก่อนหน้านี้ที่นักท่องเที่ยวไหลมาเทมายังภูเก็ต วันนี้คนไม่ได้มาเที่ยวเยอะเหมือนเก่าแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ จะอยู่อย่างไรกับสิ่งที่มี ลูกค้าที่เข้ามามีแบบใดบ้าง เข้ามาเพื่อพักผ่อน หรือมาทำงาน ยิ่งเรามี data มาวิเคราะห์มากขึ้นก็ยิ่งทำให้รู้ว่าเราต้องปรับธุรกิจแบบไหน เหมือนโรงแรมหรือร้านอาหารที่มีเป็นร้อยแห่ง อะไรเป็นจุดแตกต่างต่าง data จะช่วยทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น
ก่อนหน้านี้เราอาจจะตัดสินใจตามพื้นฐานประสบการณ์ส่วนตัว หลายอย่างอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เราอาจจะมีลูกค้าประจำทุกวันพุธ เราก็จะสามารถปรับทิศทางให้ถูกทางมากขึ้น มีธุรกิจหลายแห่งมาปรึกษา รู้ว่าทำแล้วยอดขายขึ้น เมื่อไม่มี data ก็จะตอบไม่ได้ว่าขั้นต่อไปของธุรกิจจะไปทิศทางไหนต่อ มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามที่เจ้าของกิจการบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การที่เราข้อมูลมันทำให้เราเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ทักษะใหม่คือความรู้ความเข้าใจเรื่อง data คุณมีความรู้ ความเข้าใจ data แค่ไหน เหมือนกับ 20 ปีก่อนที่พัฒนาความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้น
การเรียนรู้เรื่อง data ต้องบอกว่าเรื่อง mindset ค่อนข้างสำคัญ ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่ามันเข้าถึงยาก และทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกว่าการทำงานกับ data เป็นเรื่องที่คุ้มค่า ทุกธุรกิจอยากใช้ data แต่มี strategy แตกต่างกัน เราควรเก็บ data ของลูกค้าให้มากที่สุด ละเอียดที่สุด เพื่อที่จะทำงานตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้
ณัฐพลมองว่า ภูเก็ตมีจุดขายคือความ Luxury ราคาที่พักจากหลักหมื่นเหลือราคาหลักพัน เราก็สามารถรักษาความเป็น Premium และ Luxury เช่นนี้ต่อไปก็ถือว่าดี หลายบริษัทเริ่มมีนโยบาย Work from anywhere ก็ถือว่าช่วยตอบโจทย์ในแง่นี้ ให้คนทำงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ สามารถช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อีกทาง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา