ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่เปิดให้ใช้บริการจริง SCB ดึง Blockchain รับโอนเงินข้ามประเทศ

ภาพจาก Ripple

สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจนจากการมาของฟินเทค (FinTech) ที่ในช่วงแรกทุกฝ่ายต่างเกรงกลัวกันว่าจะส่งผลกระทบแก่ธนาคาร แต่ในความเป็นจริงการมาของฟินเทค ถือเป็นแรงกระตุ้นที่ดี เพื่อให้ธนาคารเกิดการปรับตัว โดยเฉพาะธนาคารที่มีความตื่นตัวทางด้านดิจิทัล ที่สามารถเรียนรู้ข้อจำกัดในการใช้งานฟินเทค นำมาประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบบริการที่ลูกค้าต้องใช้งาน

ข้อมูลจากไอดีซี ที่วิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนทางด้านไอทีในประเทศไทย มองว่าธุรกิจไฟแนนซ์เชียลเซอร์วิส หรือธุรกรรมทางการเงินต่างๆ จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนไอทีเติบโตมากที่สุด สูงถึง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และถือว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีการลงทุนไอทีอยู่ราว 5% เท่านั้น

ที่ผ่านมาเชื่อว่าลูกค้าธนาคารทุกคนต่างมองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เป็นเรื่องไกลตัว แต่ก้าวสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่ร่วมมือกับทาง Ripple และ SBI Remit จากประเทศญี่ปุ่น นำ Blockchain มายกระดับการให้บริการรับโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ภาพจาก Pixabay.com

โอนเงินจากญี่ปุ่น ได้รับภายใน 20 นาที

สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้าทั่วไป สามารถรับโอนเงินข้ามประเทศได้รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นำร่องด้วยการโอนเงินจากญี่ปุ่น มายังบัญชี SCB ในประเทศไทยโดยตรง เพราะในแต่ละปีมีการโอนเงินจากญี่ปุ่นมาไทยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท การมีเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้คนไทยในญี่ปุ่นกว่า 40,000 คนโอนเงินสะดวกยิ่งขึ้น

รูปแบบในให้บริการโอนเงินจะเริ่มจากต้นทางในญี่ปุ่นจากสกุลเงินเยน (JPY) มายังปลายทางบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ SCB ที่ประเทศไทย ในสกุลเงินบาท (THB) ผ่านตู้เอทีเอ็มของ Japan Post ที่เป็นพันธมิตรกับ SBI Remit ที่มีมากกว่า 20,000 ตู้ทั่วประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังบัญชี SCB โดยตรง

เมื่อลูกค้าทำรายการแล้วข้อมูลจะวิ่งเข้าสู่ระบบ Ripple Blockchain จากนั้น เงินจะเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติภายใน เวลา 20 นาทีต่อรายการเท่านั้น จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 วัน เพราะระบบ Blockchain จะทำการตรวจสอบ 1. ข้อมูลผู้ส่ง-ผู้รับในรายการ Sanction List 2. ตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยน 3. ตรวจสอบวัตถุประสงค์การโอน รวมถึง 4. ตรวจสอบสถานะบัญชีของผู้รับปลายทางเพื่อยืนยันความถูกต้องของผู้รับก่อนทำการโอนเงินจริง ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว ต่างจากระบบการโอนเงินรูปแบบเก่าที่ต้องเช็คและดำเนินการเป็นขั้นๆ ไป จึงทำให้ล่าช้า ซึ่งจากการเปิดบริการครั้งแรกในประเทศไทยร่วมกับญี่ปุ่นแล้วนั้น แผนในระยะยาวต่อไป คือการเตรียมความพร้อมเปิดบริการให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก

ครั้งแรกในไทยที่ทำ Blockchain มาใช้โอนเงินข้ามประเทศ

ที่ผ่านมา SCB ศึกษาการนำ Blockchain มาใช้งาน โดย Digital Ventures หรือ DV ในเครือ SCB มีการเข้าไปลงทุนใน Ripple ซึ่งเป็นผู้นำ Blockchain มาให้บริการโซลูชันด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา

พร้อมกับการเป็นพันธมิตรกับ บริษัท SBI Remit จำกัด ผู้ให้บริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ ในเครือของ SBI Group เป็นกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางการเงินที่ทันสมัยและครบวงจร

ทำให้สามารถนำเครือข่ายสถาบันการเงินของ Ripple มาต่อยอดในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาสู่การให้บริการรับโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่พร้อมเปิดให้บริการแล้ววันนี้

ภาพจาก Pixabay.com

ทดสอบร่วมกับธปท. มั่นใจได้ในความปลอดภัย

ในการนำ Blockchain มาใช้ SCB ได้ทำงานร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนำบริการดังกล่าวเข้า สู่ Regulatory Sandbox เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริการนี้จะสร้างประโยชน์แก่ลูกค้า ประกอบกับ SCB นับเป็นธนาคารแรกๆ ที่นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาทดสอบ

จนได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้นำบริการโอนเงินข้ามประเทศผ่านเทคโนโลยี Blockchain มาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้จริงเป็นธนาคารแรกของประเทศไทย โดยธนาคารมีแผนที่จะขยายการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศผ่าน Blockchain ครอบคลุมประเทศต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคในอนาคต

การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยให้ลดข้อจำกัดของธนาคารในการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินได้ง่ายขึ้น เพราะการนำ Blockchain มาใช้จะเป็นการช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูลจากหลายๆ Party ที่ร่วมกันตรวจสอบก่อนเริ่มต้นทำธุรกรรม และข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ รวมถึงข้อมูลทั้งหมดถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นเครือข่ายในเก็บไว้ที่ทุก Party ที่เกี่ยวข้องแบบเข้ารหัสชั้นสูง ซึ่งปลอดภัยกว่าการเก็บข้อมูลไว้แบบรวมศูนย์ที่เดียวซึ่งง่ายต่อการถูกโจมตี

ภาพจาก Pixabay.com

สรุป

การเปิดบริการโอนเงินข้ามประเทศจากญี่ปุ่น มาไทยสำหรับลูกค้าบุคคลผ่าน Blockchain ถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการปรับตัวสู่ดิจิทัลของธนาคาร ที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเข้าใจในความซับซ้อน แต่ได้รับประโยชน์จากความสะดวกในการรับโอนเงินที่ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น ที่สำคัญคือได้รับเงินเร็วขึ้นหลังจากโอนเพียง 20 นาทีเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา