ความสุขอย่างหนึ่งของคนวัยทำงาน คือการได้ลาพักร้อนไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ที่ตัวเองชอบ แต่ก่อนที่จะไปเที่ยวได้อย่างแรกที่ต้องทำคือ การเก็บเงิน บางคนเก็บเงินเก่งเพราะไม่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
แต่บางคนใช้เงินซื้อความสุข ฟุ่มเฟือยไปกับของไม่จำเป็น ช็อปปิงแก้เบื่อ เอาอารมณ์ผูกติดกับการใช้เงินทำให้เก็บเงินไม่ได้เสียที แต่ญี่ปุ่นมีวิธีคิดในการเก็บเงินแบบที่เราเรียนรู้ได้ นำไปใช้ได้จริง
Kakeibo เป็นคำที่ใช้เรียกวิธีการใช้จ่ายเงินของคนญี่ปุ่น โดยมีความหมายแบบตรงตัว คือ บัญชีแยกประเภทค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือน คิดค้นขึ้นโดย Hani Motoko นักเขียนหญิงคนแรกของญี่ปุ่น เมื่อปี 1904 ซึ่งวิธีการเก็บเงินแบบ Kakeibo นี้ภายหลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะความเรียบง่าย แต่ได้ผลจริง
หลักการของ Kakeibo ก็เหมือนกับการจดบันทึกรายรับรายจ่ายทั่วไป เพื่อหาความสัมพันธ์ว่าใช้จ่ายเงินพอดีกับรายรับที่เข้ามาหรือไม่ ซึ่งแนะนำว่าให้จดบันทึกใส่สมุดจะดีกว่า เพราะการเขียนจะช่วยให้คุณอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นรวมถึงรู้พฤติกรรมที่ส่งผลเสียกับการเก็บเงิน มากกว่าการใช้แอปพลิเคชันบันทึกรายรับรายจ่ายในโทรศัพท์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ Kakeibo จะเน้นให้คุณได้ถามตัวเอง โดยต้องตอบคำถามก่อนซื้อของสักชิ้น
- ถ้าไม่มีของชิ้นนี้ คุณอยู่ได้ไหม คำถามนี้เป็นการให้คุณได้คิดว่าของชิ้นนี้เป็นความจำเป็น ขาดไม่ได้ หรือแค่อยากได้เฉยๆ
- คุณมีเงินเพียงพอที่จะซื้อจริงๆหรือ ถ้าซื้อของชิ้นนี้แล้วคุณต้องอดมื้อกินมื้อ ใช้ชีวิตอย่างลำบากไปจนถึงสิ้นเดือน อย่าซื้อดีกว่า
- ซื้อมาใช้หรือซื้อมาวางทิ้งให้เปล่าประโยชน์หลายครั้งมีของที่อยากได้ และตัดสินใจซื้อโดยไม่ได้คิดให้ดีก่อน กลายเป็นว่าของชิ้นนั้นถูกเอามาวางทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์
- ซื้อไปแล้วมีที่เก็บหรือเปล่า หลายคนซื้อของมาวางกองไว้เฉยๆ จนรกบ้าน ไม่มีที่เก็บ นอกจากจะเปลืองเงินแล้ว บ้านยังรก ไม่น่ามองอีกด้วย
- เห็นของชิ้นนี้ที่ไหน อะไรทำให้อยากได้ เดี๋ยวนี้สิ่งล่อตาล่อใจมันเยอะ ถ้าเห็นของชิ้นนี้จากคนดังบน Instagram บางทีคุณอาจไม่ได้อยากได้มันจริงๆ ก็ได้
- วันนี้อารมณ์เป็นยังไงบ้าง ถามอารมณ์ตัวเองก่อนว่าวันนี้รู้สึกยังไง เครียด หรือเศร้าจนทำให้อยากซื้อของหรือเปล่า ถ้าใช่ ควรจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง มากกว่าการซื้อของ
- ถ้าซื้อแล้วจะรู้สึกยังไง จะมีความสุขกับสิ่งที่ซื้อจริงๆ หรือเปล่า หรือซื้อแล้วทุกข์เพราะไม่มีเงินเหลือพอถึงสิ้นเดือน
วิธีการเก็บเงินแบบ Kakeibo ไม่ใช่การตัดทุกสิ่งออกจากชีวิตจนไม่มีความสุข แต่เป็นการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น อะไรที่ชอบอยากใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองบ้างก็ได้ เพียงแต่ให้คิดก่อนซื้อ ไม่ตามใจตัวเองบ่อยๆเหมือนที่เคย ถ้าใครตอบคำถามทั้ง 7 ข้อนี้แล้วยังรู้สึกไม่แน่ใจ ลองเอาหลักการอีก 6 ข้อนี้มาช่วยตัดสินใจขณะกำลังซื้อของ
ปล่อยให้อยากไปก่อน พรุ่งนี้ค่อยซื้อ บางครั้งความอยากได้ก็เป็นอารมณ์ชั่ววูบ ถ้าคุณรอเวลาอีก 1 วัน แล้วคุณยังอยากได้ของชิ้นนั้นอยู่ และคุณมีเงินพอที่จะซื้อมันได้ แบบนี้ก็ซื้อได้เลย ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ
อย่าตกเป็นเหยื่อการตลาด อย่าเป็นทาสของลดราคา ป้ายสีแดงตัวใหญ่ๆ ขีดฆ่าราคาเต็มทำให้คุณรู้สึกอยากได้ของ ลองคิดต่ออีกนิด ถ้าต้องซื้อของชิ้นนี้ด้วยราคาเต็มคุณจะยังซื้อมันหรือไม่
เช็คเงินในบัญชีบ่อยๆ การเช็คเงินในบัญชีจะช่วยให้คุณรู้สถานะทางการเงิน ไม่เผลอใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะคิดว่ายังมีเงินในบัญชีเหลืออีกเยอะ ถ้าคุณเห็นยอดเงินในบัญชีทุกวันจะช่วยให้คุณจัดสรรเงินไปใช้กับสิ่งที่จำเป็นได้ดีกว่า
กดเงินสดมาใช้ ดีกว่ารูดบัตร การใช้จ่ายด้วยเงินสดช่วยให้คุณรู้ว่าคุณใช้จ่ายเงินออกไปจริงๆ ไม่เหมือนการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ที่คุณสามารถรูดไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว
เขียนคำเตือนในกระเป๋าสตางค์ โดยอาจติดเป็นคำเตือนให้ระวังเวลาใช้จ่ายสั้นๆ ที่บัตรเครดิต หรือที่ช่องใส่เงินในกระเป๋าสตางค์ก็ได้ ทุกครั้งที่คุณเปิดกระเป๋า คุณจะได้อ่านคำเตือนตลอดเวลา
ปรับพฤติกรรม เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว คุณควรเรียนรู้พฤติกรรมของตัวเองว่าทำไมคุณจึงอยากซื้อของ เช่น คุณอาจเห็นโฆษณาใน Instagram เวลาเล่นโทรศัพท์บ่อยๆ ก็ให้เปลี่ยนพฤติกรรม เล่น Instagram ให้น้อยลงเอาเวลาไปทำอย่างอื่น
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา