5 เทคนิคสร้างวินัย “การออมเงิน” ฉบับมนุษย์เงินเดือน

การออมเงินเป็นเรื่องที่เราถูกสอนมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเก็บเงินหยอดใส่กระปุกจากเงินค่าขนมเวลาไปโรงเรียน เงินจากอั่งเปาวันตรุษจีน พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อยหลายคนก็เริ่มทำงานพิเศษออมเงินได้มากขึ้น เข้าสู่วัยทำงานมีเงินเดือน มีรายได้มั่นคงมากขึ้นแต่การออมเงินก็ยังคงสำคัญอยู่ดี เรียกได้แม้เราจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน แต่การออมเงินก็มีแต่ผลดีต่อตัวเราในอนาคต หลายคนไม่ได้สนใจในเรื่องการออมเงินหรืออาจจะไม่รู้ว่าจะแบ่งเงินแบบไหนดี จัดสัดส่วนไม่ถูก จนกลายเป็นว่าทำให้วินัยการออมเงินของตัวเองไม่สำเร็จสักที วันนี้เรามาลองดูกันว่าเมื่อเรามีเงินเดือนเป็นของตัวเองแล้วจะจัดสรรเงินเดือนยังไงเพื่อออมเงินให้ดีที่สุด

ออมเงินphoto : pixabay

เริ่มจากแบ่งเงินจากเงินเดือนตั้งแต่วันเงินเดือนเข้าเลย เริ่มที่ 5% กันก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นก็ได้

เป็นวิธีที่ง่ายและเริ่มต้นได้เลยในวันที่เงินเดือนเข้าบัญชี ก่อนอื่นต้องคำนวณกันก่อนว่าในหนึ่งเดือนนั้นมีค่าใช้จ่ายประจำอยู่เท่าไหร่ (ค่าเช่าห้อง, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่ามือถือ, ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ) จากนั้นลองเริ่มแบ่งเงินเข้าไปไว้อีกบัญชีหนึ่ง เริ่มต้นง่ายๆ ที่ 5% ก่อน เช่นเงินเดือน 20,000 บาท 5% ก็คือ 1,000 บาท จากนั้นเมื่อเรามีการอัพเงินเดือนเพิ่มหรือมีรายรับที่มากขึ้นก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการออมเงินตรงนี้ได้

 

ฝากประจำ หนึ่งตัวเลือกที่หลายคนมองข้าม

นอกจากการเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ ยังมีตัวเลือกการออมเงินอีกหนึ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นก็คือการฝากประจำเพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าการฝากรูปแบบอื่น ยังเป็นสร้างวินัยการออมที่ดีมากๆ ทางหนึ่งเลยทีเดียว โดยการฝากประจำก็จะมีรูปแบบและระยะเวลาแตกต่างกันไปแล้วแต่ทางธนาคาร รวมถึงผลตอบแทนด้วย โดยที่การฝากประจำนั้นจะมีทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว เริ่มตั้งแต่ 3 เดือน ไปจนถึง 36 เดือน โดยผลตอบแทนก็จะแตกต่างกันไป รวมถึงมีการฝากประจำแบบปลอดภาษีที่ได้ผลตอบแทนสูงอีกด้วย นับเป็นหนึ่งวิธีการออมเงินที่ยังน่าจับตามองอยู่ในสภาวะการเงินแบบนี้

แค่บันทึกรายรับ-รายจ่ายก็ทำให้เราเห็นภาพรวมของการเงินได้ง่ายขึ้น

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมแค่บันทึกรายรับ-รายจ่าย ถึงดูสำคัญมากขนาดนั้น ลองคิดดูว่าในหนึ่งวันเราจ่ายเงินค่าอะไรไปบ้าง สำหรับหลายคนที่ไม่ได้มีการจับจ่ายใช้สอยเยอะก็อาจจะพอจำได้ แต่สำหรับบางคนที่มีการใช้จ่ายต่อวันเป็นจำนวนครั้งที่ค่อนข้างบ่อยอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อลองเอามารวมกันมันจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เราจ่ายไปต่อเดือนเลย ดังนั้นการบันทึกรายรับ-รายจ่ายช่วยให้มองเห็นว่ามีรายจ่ายก่อนไหนที่เราจ่ายมากเกินไปและลดลงได้ในเดือนถัดไป เช่น เดือนที่แล้วขับรถไปทำงานจ่ายค่าน้ำมันไป 2,000 บาท ค่าที่จอดรถ 1,200 บาททั้งเดือน แต่ถ้าเราลองสลับไปใช้ขนส่งมวลชนแบบอื่นอาจจะทำให้ลดค่าเดินทางลงมาเดือน 500-700 

ลดสินค้าฟุ่มเฟือย

การมองว่าสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นการใช้เงินอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือ ใช้เงินไม่ประมาณตนเองเป็นแนวคิดที่อาจจะไม่ถูกและไม่ผิดเสมอไป ในสภาวะการทำงานอาจจะมีบ้างที่เราเหนื่อย เราต้องการความบันเทิงหรือตอบแทนความเหนื่อยตลอดทั้งเดือนจากการทำงานก็มีบ้างที่เราจะซื้อสินค้า-บริการเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น แต่การใช้เงินเพื่อตอบสนองมากเกินไปก็อาจจะทำให้เงินในกระเป๋าเราร่อยหรอจนต้องกลับมาทำงานหนักขึ้นเพื่อทดแทนเงินที่เสียไป ดังนั้นการใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการเหล่านี้สามารถทำได้ เพียงแค่ต้องรู้จักความพอดี หากพบว่าเดือนที่แล้วจ่ายมากไป เดือนนี้ลดลงบ้างก็เป็นเรื่องดี หรือนำเงินไปใช้ในส่วนอื่นมากขึ้น ก็จะเป็นทางที่ดีกว่า 

มีเป้าหมาย ไปให้ถึง

ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย การทำอะไรสักอย่างก็อาจจะไม่สำเร็จเลย เช่นเดียวกันกับการออมเงินหากเราลองกำหนดเป้าหมายไว้สักหนึ่งข้อว่าเราอยากออมเงินให้ได้กี่บาทต่อเดือน ต่อปี เริ่มต้นจากเป้าหมายเล็กๆ ก่อนเช่นออมเงินเดือนละ 1,000 บาท ครบแล้วจะเอาไปฝากประจำหรือลงทุนกองทุนสักกอง พยายามค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปก่อนในช่วงแรกเมื่อเราทำสำเร็จจะยิ่งทำให้มั่นใจมากขึ้นในการออมเงิน จากนั้นค่อยเพิ่มเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นและระยะยาวมากขึ้น หลายคนตั้งเป้ามีเงินล้านแรกก่อนอายุ 30 เป็นเป้าหมายแรกเลยก็อาจจะดูใหญ่ไป ลองค่อยๆ เริ่มต้นก็ได้จะทำให้เรามีวินัยและประเมินศักยภาพตัวเองได้ง่ายขึ้น สุดท้ายอาจจะมีเงินล้านก่อน 30 ขึ้นมาจริงๆ ก็ได้นะ 

photo : pixabay

มีรายได้แล้วก็อย่าลืมสร้างนิสัยการออมให้แข็งแรงเพราะการออมไม่ได้มีผลเสียให้กับตัวเราเลย มีแต่ได้กับได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อย่าพยายามใช้เงินเดือนชนเดือนเพราะจะทำให้เกิดผลเสียตามมา รวมทั้งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาเงินก้อนที่เราสะสมจากการออมจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือเราเองในอนาคต

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา