3 วิธีออมเงินแบบแฮปปี้ แถมเคล็ดลับวางแผนการเงิน-ลงทุนเพื่ออนาคต

หลายคนคงมีปัญหาอยากจะออมเงิน แต่เวลาที่เก็บเงินรู้สึกไม่มีความสุข เพราะนู่นก็ห้ามซื้อ นี่ก็ห้ามใช้ ฯลฯ ซึ่งที่จริงแล้วเคล็ดลับในการออมคือ เงินก็ต้องเก็บ แต่ก็ต้องใช้เงินอย่างมีความสุขด้วย และไม่ใช่แค่สุขในปัจจุบัน แต่วางแผนเผื่ออนาคตด้วย

ภาพจาก Shutterstock

วางแผนการเงิน-ออมแบบไหนให้ชีวิตแฮปปี้ตั้งแต่ตอนนี้ถึงอนาคต

บางคนเขาออมเก่ง แต่ก็ไม่แฮปปี้  ส่วนบางคนใช้เงินเก่งก็ไม่มีเงินอนาคต แถมปัญหาใหญ่ของทุกคนบนโลกคือ เราไม่รู้ว่าอนาตตจะเป็นอย่างไร เพราะเศรษฐกิจเมื่อโตขึ้นของก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อ ดังนั้นการเก็บเงินในวันนี้จะพอใช้ในอนาคตหรือ?  ซึ่งการจะออมเงินได้เราต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ

1. วิเคราะห์และคิดต่อว่าสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ในการใช้ชีวิตว่ามีอะไรบ้าง เช่น ค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ ซึ่งปัจจัย 4 ของแต่ละคนต่างกัน อย่างบางคนอาจจะเลือกที่จะซื้อรถเพราะสามารถใช้ขายของสร้างรายได้ วิธีการออมก็ขึ้นอยู่กับความถนัดเช่น แยกเงินออมออกมาก่อนใช้จ่าย เป็นต้น

2. ออมเงินแบ่งตามเป้าหมาย เช่น แบ่งเงินสำหรับออมเพื่อใช้หลังเกษียณ ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน ฯลฯ เพราะจะสามารถแยกแยะ และวางแผนได้ว่าใช้ระยะเวลาในการออมเท่าไร และลงทุนแบบไหนได้บ้าง ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดคือ การแยกแต่ละบัญชีเลยว่าออมเพื่อใช้กับอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นชัดเจน และเรามีวินัยมากขึ้นไม่เผลอดึงไปใช้จ่ายกับส่วยอื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเก็บรวมในบัญชีเดียว หรืออาจจะแยกแค่ LTF RMF เท่านั้น

3. ต้องไม่ลืมแบ่งเงินส่วนความสุขไว้ แต่ต้องลดสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิตด้วย เช่น แบ่งงบให้ตัวเองว่า 1 ปีนี้หลังจากรายได้หักค่าใช้จ่าย หักภาษีแล้วเหลือเงินเท่าไร แล้วค่อยแบ่งว่าจะใช้เพื่อความสุขเพื่อชีวิตเท่าไร แต่ห้ามใช้เกินงบที่ตั้งไว้

ภาพจาก Shutterstock

เล่นหุ้นมันยาก แต่ออมหุ้นไม่ยากแถมเสี่ยงต่ำกว่า

แน่นอนว่าเมื่อเก็บเงินได้แล้ว จะใช้เงินเพื่อผลตอบแทนอย่างไรได้บ้าง หลักที่เห็นชัดเจนคือ High Risk High Return หรือเสี่ยงสูงก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง อย่างหุ้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เราต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่า ตนเองต้องการลงทุนในหุ้น หรือ เก็งกำไรในหุ้น เช่น คนที่อยากซื้อ-ขายหุ้นแล้วได้กำไรในระยะสั้น หรือไม่ได้ดูปัจจัยพื้นฐานของบริษัท

ส่วนคนที่อยากออมหุ้น คือเปลี่ยนจากการออมเงินในบัญชีเงินฝาก (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันเฉลี่ย 0.5%) และยังออมตามเป้าหมายต่างๆที่ตั้งไว้ ปัจจัยหลักที่ต้องดูคือ

ต้องรู้จักและศึกษาหุ้น บริษัท อุตสาหกรรมนั้นอย่างเต็มที่ มองอนาคตการเติบโตระยะยาว และเข้าซื้อหุ้นเก็บไว้อย่างสม่ำเสมอ (ไม่ต้องรอเก็บเงินเป็นก้อนแล้วซื้อตอนหุ้นถูก)

อย่างไรก็ตามการลงทุนในตลาดไทยช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (ไทยเจอวิกฤตมา 3 ครั้ง เช่น ต้มยำกุ้ง สงครามอ่าวเปอร์เซีย แฮมเบอร์เกอร์) ถ้าทยอยซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนเงินเท่าๆกันจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% เรียกว่าวิธีการแบบ DCA (dollar-cost averaging) หรือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน

ภาพจาก Shutterstock

ถ้ายังไม่มั่นใจเริ่มต้นที่ กองทุนรวม เพราะมีผู้จัดการกองทุนดูแลให้

ส่วนใครที่ไม่มั่นใจในการลงทุนเองทั้งหมด อาจจะลงในกองทุนรวมที่มีคนดูแลให้ อาจจะเริ่มที่ LTF – Long Term Equity Fund หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งแต่ละกองที่เลือกมาจะมีสัดส่วนหุ้น 65% ขึ้นไป ซึ่งมีเงื่อนไขต้องถือยาว 7 ปี 

หรือถ้าต้องการออมเงินระยะยาวเพื่อมีเงินใช้หลังเกษียณอายุ ได้แก่ RMF – Retirement Mutual Fund หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่มีเงื่อนไขให้ซื้อกองทุนทุกๆปี  โดยทั้ง LTF-RMF ยังมีใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ด้วย แต่การจะซื้อกองทุนรวมก็ต้องดูระยะเวลาด้วย

  • การลงทุนระยะสั้น 2-3 ปี แนะนำให้ลงทุนในกองทุนพวกตลาดทุน ตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ซึ่งไม่เสียภาษี  
  • การลงทุนระยะ 5-10 ปี สามารถลงทุนใน LTF RMF และกองทุนระยะยาวอื่นๆ ได้
ภาพจาก Shutterstock

แต่ถ้ากลัวใจตัวเอง กลัวมีวินัยไม่พอ ซื้อประกันไปเลย

หัวใจหลักของประกันภัย คือสร้างหลักประกันในชีวิต และป้องกันความเสี่ยง เช่น เกิดปัญหาสุขภาพ ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพไว้ก็ไม่ต้องออกเงินทีเก็บมา หรือ ซื้อประกันชีวิต เพื่อเป็นมรดกไว้ให้คนข้างหลัง

แต่ต้องยอมรับว่าประกันภัยสภาพคล่องไม่ดีเท่าเงินฝาก ผลตอบแทนไม่ได้สูงกว่าตราสารหนี้ และเงินฝากแต่เป็นตัวช่วยในการสร้างวินัย

“ว่าง่ายๆ ประกันเป็นตัวช่วยไม่ให้เราจนลง เพราะเกิดอะไรขึ้น เรื่องฉุกเฉินเราไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น มีวงเงินรักษาตัว ฯลฯ แต่เบี้ยประกันไม่ควรจ่ายเกิน 10-15% ของรายได้เราทั้งหมด แต่ไม่รวมการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี”

ภาพจาก Shutterstock

ว่าแต่เงินเดือน 25,000-35,000 บาท จะวางแผนออม ลงทุนยังไงดี

คนที่รายได้ 25,000-35,000 บาท/เดือน เรียกว่าเป็นช่วงตั้งตัว ดังนั้นเริ่มที่การหาจุดเหมาะสม รายจ่ายหลักๆ อย่างการเดินทาง ค่ากินอยู่ ไลฟสไตล์ของตัวเอง การผ่อนคอนโด (ซึ่งมีข้อดีเพราะเป็นททรัพย์สินที่ไม่เสื่อมค่า ยังหาทางสร้างรายได้อยู่ เป็นการออมและแหล่งรายได้ที่ดีในอนาคต

ดังนั้นต้องบริหารค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิน 60-70% ของรายได้ แล้วจึงแบ่งงบสร้างความสุขออกมา ที่สำคัญควรเหลือเงินออมไม่ต่ำกว่า 20% ของรายได้ทั้งหมด เพราะยิ่งอายุมากขึ้น เราต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ถ้ารายได้ไม่พอ ก็ต้องหารายได้เพิ่ม

ส่วนจุดที่จะเริ่มลงทุนได้ คือ เมื่อเรามีเงินใบบัญชีพอจะประทังชีวิตขณะไม่มีรายได้ 6 เดือนขึ้นไป แล้วค่อยนำเงินก้อนนั้นมาลงทุน แบ่งตามเป้าหมายที่มี ซึ่งต้องดูความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ด้วย แต่ต้องไม่ลืมหาความรู้เรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

สมมติการจัดพอร์ทลงทุนอย่างผลตอบแทน 5% ต่อปี พอร์ทตราสารหนี้ 3-4% 70% ก็ต้องแบ่งไปที่หุ้นบ้าง ดูตามสถิติกี่ปี 5-10 ปี สัดส่วนดูน้ำหนัก  อย่างหุ้น 30% ผลตอบแทน 8%

สรุป

อยากลงทุนต้องเริ่มต้นที่การออมเงิน แล้วค่อยมาคิดเรื่องการลงทุน แบ่งเป็นวิธีการออมหุ้น ที่มีพื้นฐานดี อนาคตไกล และเติบโตต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่มั่นใจสามารถเริ่มที่กองทุนรวม ไม่ว่าจะ LTF RMF สุดท้ายแล้วจะออม จะใช้ จะลงทุนก็ต้องมีวินัย เพิ่งดวงอย่างเดียวไม่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา