ทำแค่ร้านอาหารไม่พอ ต้องทำ “ซอส” สร้างโอกาสโตจากในครัวทุกบ้าน

ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ ทั้งสั่งอาหารจากเดลิเวอรี่มากินเองที่บ้านและที่ทำงาน และยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำอาหารกินเองที่บ้าน จากกระแสหม้อทอดไร้น้ำมัน นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เชนร้านอาหารแบรนด์ดัง ต่างปรับกลยุทธ์กันอย่างฝุ่นตลบ พาเหรดออกเครื่องปรุงอาหารคู่ครัว เพื่อดักจับผู้บริโภคที่ถึงแม้ว่าความถี่เข้ารับประทานอาหารจะน้อยลง แต่ก็ยังมีสินค้าคู่ครัวภายในบ้าน

sauce

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ขยายตัวรุนแรงจนทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์เป็นวงกว้างอีกครั้ง ธุรกิจร้านอาหารปี 2564 จะมีมูลค่ารวม 4.10 – 4.15 แสนล้านบาท ขยายตัวเล็กน้อยราว 1.4 -2.6% โดยเป็นการขยายตัวบนความเปราะบาง ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะหดตัว 6.0% หรือมีมูลค่าประมาณ 4.05 แสนล้านบาท 

ขณะที่ตลาดเครื่องปรุงรสเมื่อปี 2563 มีมูลค่า 41,893 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.3% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2559 ที่มีมูลค่า 35,354 ล้านบาท และแน่นอนว่าแนวโน้มในปี 2564 ตลาดเครื่องปรุงรสยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยความคุ้นเคยหรือเคยชินกับการทำอาหารกินเองที่บ้าน ทำให้เชนร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์เสิร์ฟเครื่องปรุงบุกยันในครัวของลูกค้า เพื่อมองโอกาสการขายใหม่ในช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากที่จะให้ลูกค้าเดินมากินอาหารที่ร้านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นยุคที่แบรนด์ต้องวิ่งหาผู้บริโภคในทุกโอกาสและทุกช่องทาง

oishi

โออิชิส่งซอสปรุงญี่ปุ่นตอบโจทย์ทำอาหาร

โออิชิเจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น ลุยตลาดเครื่องปรุงรสด้วยการเปิดตัวน้ำจิ้มและซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น ตราโออิชิ หรือ ซอสโออิชิ ประเดิม 3 สูตรแรก น้ำจิ้มสุกี้ยากี้ ซอสเทอริยากิ และ ซอสโชยุ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรสญี่ปุ่นเอนกประสงค์ สามารถนำไปจิ้มหรือปรุงรสอาหารญี่ปุ่นได้อย่างหลากหลาย วางจำหน่ายผ่านร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิมากกว่า 200 แห่ง รวมทั้งบริการเดลิเวอรี่ และวางแผนขยายช่องทางขายเข้าสู่ทั้งโมเดิร์นเทรดและคอนวีเนียนสโตร์ชั้นนำต่อไป

DNA ของโออิชิ เป็นแบรนด์อาหารญี่ปุ่น การออกซอสจิ้มสุกี้ยากี้ ซอสเทอริยากิ และ ซอสโชยุ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรสญี่ปุ่นเอนกประสงค์ เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ขณะที่การเลือกซอสปรุงทั้งสามตัวนั้น ล้วนเป็นเมนูอาหารที่คนไทยนิยมทำกินในครอบครัว

พฤติกรรมของคนไทย การกินอาหารญี่ปุ่นยกระดับมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ร้านอาหารสไตล์บุฟเฟ่ต์ หรือเซ็กเมนต์ญี่ปุ่นที่จำหน่ายอาหารเฉพาะทาง หรือกระทั่งพรีเมียม ดังนั้นถึงเวลาที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร สร้างเซ็กเมนต์เครื่องปรุง เพื่อให้ลูกค้านำไปปรุงเองที่บ้าน สิ่งที่แบรนด์จะได้รับ คือความคุ้นเคยของรสชาติของความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนว่าจะกินที่บ้านหรือที่ร้านก็ได้รสชาติที่คุ้นเคยนั่นเอง

โอกาสทางการตลาดโตทุกช่องทาง แม้ว่าในช่วงแรกโออิชิจะเปิดตัวซอสปรุงรสจำหน่ายในช่องทางร้านอาหาร ซึ่งไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียม แต่ก็ได้เฉพาะฐานลูกค้าที่เข้าไปกินอาหารเท่านั้น แต่โออิชิยังมองถึงการขยายช่องทางโมเดิร์นเทรดที่แน่นอนจะสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และยังมีโอกาสที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเข้ามากินอาหารภายในร้านด้วย

sauce todd

ซอสต๊อด ปั้นแบรนด์ผ่านร้านอาหาร EST.33

ซอสต๊อด เป็นหนึ่งในธุรกิจต้นน้ำของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยมีซอสปรุงรสหลากหลาย ทั้ง ซอสมะเขือเทศรสเผ็ด, น้ำจิ้มไก่, ซอสผัดไทย, ซอสกะเพรา เชฟบุ๊ค และน้ำจิ้มซีฟู้ดซอสพริกอเนกประสงค์ ล่าสุดซอสต๊อด เดินหน้าสร้างแบรนด์ผ่านความร่วมมือ EST.33 เปิดบริการเดลิเวอรี่ยกระดับการบริการ ส่งตรงจากร้านเสิร์ฟถึงบ้านและที่ทำงาน โดยร่วมพัฒนาอาหารสไตล์ฟิวชั่นภายใต้คอนเซ็ปต์ “EST พริก พริก Eat เผ็ด เผ็ดที่สุดจัดจ้าน ที่สุดของความอร่อย! ประเดิมปล่อย 20 เมนูเด็ดสุดแซ่บให้  ลิ้มลอง

ซอสต๊อด เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่ถูกปลุกปั้นเมื่อปี 2560 โดย Positioning เป็นซอสระดับพรีเมียม และวางจำหน่ายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรด ซึ่งฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ปรุงอาหารที่บ้านอยู่แล้ว แต่การร่วมมือกับ EST.33 คือการสร้างแบรนด์ซอสต๊อดส่งต่อความอร่อยไปที่ร้านอาหารและในรูปแบบดิเวอรี่ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

ขณะที่การนำผลิตภัณฑ์ซอสต๊อดมาปรุงร้านอาหาร EST.33 เป็นการตอกย้ำถึงความอร่อยของแบรนด์ที่ระดับร้านอาหารยังนำมาใช้การปรุงอาหาร รวมทั้งยังสามารถนำมาครีเอทเมนูอาหารได้อย่างมากมาย ข้าวแซลมอนยั่วยั่ว คั่วพริกเกลือ, สปาเก็ตตี้ปลาแซลมอน เบื่อคนเมา, ข้าวกะเพราเมาแซ่บแซ่บ, ข้าวผัดต้มยำลองม่ะแซลมอน และพิซซ่าเม็กซิกันเนื้อเผ็ดไฟลุก ตอกย้ำถึงความเป็นซอสเครื่องปรุงเอนกประสงค์ได้เป็นอย่างดี

tam mao

จับตาเซ็น กรุ๊ป ปั้นขาธุรกิจเครื่องปรุงรส

เซ็น กรุ๊ป เป็นอีกเชนร้านอาหารหนึ่งที่มีออกเครื่องปรุงรสมาตั้งแต่ปี 2561  โดยตำมั่วเป็นแบรนด์แรกในเครือที่ออกน้ำปลาร้ากับแจ่วบองบรรจุขวดเป็นสินค้าหลักตามช่องทางทั่วไป  และล่าสุดเปิดตัวน้ำยำปลาร้าปรุงรส ที่จำหน่ายขวดละ 39บาท และได้เริ่มขยายช่องทางการจำหน่ายจากร้านอาหารในเครือสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด

กลยุทธ์ของเซ็น กรุ๊ป การเลือกแบรนด์ร้านอาหารตำมั่วเพราะเป็นร้านอาหารสไตล์อีสาน ที่คนไทยมีความคุ้นเคย โดยเฉพาะน้ำปลาร้าและแจ่วบองถือว่าเป็นเมนูอาหารไทยยอดนิยม ขณะที่การเปิดตัวน้ำยำปลาร้านสามารถนำไปปรุงอาหารประเภทยำได้หลากหลาย ซึ่งตอกย้ำ DNA ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี และอนาคตยังสามารถออกซอสหรือเครื่องปรุงสไตล์ไทยเพิ่มมากขึ้น

สรุป

การรุกธุรกิจเครื่องปรุงรส เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายแบรนด์ต้องการส่งต่อความอร่อยครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ในระดับกลางพรีเมียมผ่านในช่องทางร้านอาหาร และเซ็กเมนต์กลางล่างเป็นการส่งต่อความอร่อยผ่านการใช้ซอสเครื่องปรุงรสในช่องทางการขายทั้งโมเดิร์นเทรด

โอกาสการขยายไปสู่ช่องทางเทรดิชั่นนัลเทรด นอกเหนือจากการวางในช่องทางร้านอาหาร โมเดิร์นเทรดแล้ว ยิ่งในกรณีที่สินค้าวางราคาอยู่ในตลาดแมสยังมีโอกาสเติบโตได้ดีในช่องทางเทรดิชั่นเทรด เพราะเข้าถึงกลุ่มแม่บ้านทุกครัวเรือนได้ง่าย จากปัจจุบันราคาซอสปรุงรสทั่วไปขนาด 800 มล.ที่อยู่ในระดับราคาตั้งแต่ 39 บาทจนถึง 45 บาทขึ้นไปเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา