ทำไมร้านอาหารยอมเอา “น้ำจิ้ม” สูตรลับมาใส่ขวดขาย? ดึงคนเข้าร้านได้มั้ย หรือเป็นกลยุทธ์โตนอกร้าน

ปรากฎการณ์หนึ่งสำหรับร้านอาหารเชนดังหลายๆ แห่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คือ การเอา “น้ำจิ้ม” หรือ ซอส ที่เป็น Signature ของร้านออกมาบรรจุขวดขายอย่างมีนัยสำคัญ

จุดเริ่มต้นอาจจะขายแบบจำกัดวัน หรือขายเฉพาะที่สาขา แต่ต่อมาก็เริ่มขายในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต จนที่สุดคือขายผ่านช่องทางออนไลน์

ถ้าเราคิดว่าธุรกิจหลักของเขาคือ “ขายอาหาร” ที่ต้องการดึงคนเข้าร้าน หรือจะซื้อแบบ Take Away หรือสั่ง Delivery ให้ไรเดอร์ไปส่งที่บ้าน จุดขายสำคัญคืออาหาร และ น้ำจิ้มหรือซอส ก็เป็นตัวเสริมสำคัญให้อาหารอร่อยมากขึ้น แบบนี้การทำ น้ำจิ้ม ออกมาขายต่างหาก จะช่วยดึงคนให้มาซื้ออาหารของร้านได้อย่างไร?

ก่อนจะมาหาคำตอบ ลองมาดูกันว่า มีร้านอาหารดังๆ ร้านไหนบ้างที่ทำน้ำจิ้มออกมาขายจนหลายคนซื้อไว้ติดบ้านเรียบร้อย

นึกถึงปิ้งย่าง นึกถึงบาร์บีคิวพลาซ่า

น้ำจิ้มของบาร์บีคิวพลาซ่า ถูกใจใครหลายคนขนาดที่ในอดีตเคยมีขอซื้อกลับบ้าน ซึ่งบาร์บีคิวพลาซ่าก็ไม่ขาย ต้องมากินที่ร้าน หรือว่าช่วงที่ให้สั่งไปกินที่บ้านได้ ก็เริ่มมีลักษณะเป็นขวดแบ่งไม่ใหญ่มาก

ในที่สุด บาร์บีคิวพลาซ่า ก็ทนเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคไม่ไหวต้องผลิตน้ำจิ้มบาร์บีคิวพลาซ่าออกมาขายเป็นสูตรออริจินัล และต่อมายังพัฒนาสูตรไลท์ เพื่อคนรักสุขภาพตามออกมาด้วย ถ้าชอบน้ำจิ้มบาร์บีคิวพลาซ่า ซื้อติดบ้านไว้จิ้มอย่างอื่นก็ได้

MK น้ำจิ้มสุกี้

นึกถึงสุกี้ ต้องเอ็มเคสุกี้

กล่าวได้ว่าเป็นแบรนด์สุกี้อันดับหนึ่งในไทย ที่มีจุดเด่นคือน้ำจิ้มสุกี้ ซึ่งเป็นสูตรที่เจ้าของแบรนด์หวงสุดๆ น้ำจิ้มสุกี้ของเอ็มเค จะผสมจากส่วนกลางแบบลับๆ แล้วส่งสำเร็จไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนั้นทุกสาขาไม่มีใครรู้สูตรของน้ำจิ้มนี้แน่นอน ผู้บริโภคหลายคนที่กินเอ็มเค นอกจากตัวสุกี้ เป็ดย่างและหมูกรอบ ก็น้ำจิ้มนี่แหละที่ติดใจกันมานาน

และแน่นอนว่า ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ร้านอาหารซบเซาลงไปเยอะ การแข่งขันร้านอาหารก็สูงขึ้น ในที่สุดเอ็มเคเองก็ทำน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดขายด้วยเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 66 ที่ผ่านมา ก็เป็นคำถามอีกว่า ถ้าเรามีน้ำจิ้มสุกี้เอ็มเคที่บ้านแล้ว เราทำสุกี้กินเองได้มั้ย หรือน้ำจิ้มจะดึงคนให้เข้าร้านสุกี้มากขึ้นได้อย่างไร

เชสเตอร์ กริลล์ ก็ขายซอสนะ

สำหรับคนที่ชอบไก่ทอดเชสเตอร์ กริลล์ ต้องคุ้นเคยดีกับซอสเทอริยากิ เข้มข้น หอมหวาน ที่ไว้กินกับ ข้าวอบไก่ย่าง และ ข้าวไก่เผ็ดเชสเตอร์ หรือซอสน้ำปลา ที่มาคู่กับเมนูข้าวไก่กรอบซอสน้ำปลา ทำให้รสชาติไก่ทอดกลมกล่อมยิ่งขึ้น ซอสทั้งสองตัวช่วยดึงรสชาติของไก่ทอดให้โดดเด่นขึ้น กินกับข้าวสวยร้อนๆ ยิ่งเข้ากันได้ดีมาก

ถือได้ว่า เชสเตอร์ กริลล์ เป็นร้านเชนอีกแห่งที่เอาซอส ซึ่งเป็นสูตรลับที่มีอายุกว่า 30 ปีออกมาแพ็คขายให้กับผู้บริโภคได้ซื้อกลับไปทำอาหารกินเองที่บ้านได้

โออิชิ กับซอสปรุงรสแบบญี่ปุ่น

โออิชิ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ขายน้ำจิ้มและซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น 3 สูตร คือ น้ำจิ้มสุกี้,​ ซอสเทอริยากิ และซอสโชยุ นำไปใช้จิ้มหรือปรุงอาหารได้หลากหลายตามความต้องการ โดยมีการสำรวจพบว่าเป็น 3 ซอสปรุงรสที่คนไทยนิยมมีติดไว้ในครัว นอกเหนือจากน้ำปลาและซีอิ๊ว

ถ้าพูดถึงพฤติกรรมคนไทย กินอาหารญี่ปุ่นกันมาต่อเนื่อง การที่โออิชิ ขายน้ำจิ้มสูตรพิเศษของร้าน จะสร้างความคุ้นเคยของรสชาติ ไม่ว่าจะกินที่บ้าน หรือกินที่ร้าน ก็ได้ความคุ้นเคยเช่นเดียวกัน

ล่าสุด KFC ก็ชิมลาง ลองขายซอส

KFC ชื่อนี้ใครก็นึกถึงไก่ทอด แต่ล่าสุดช่วงเดือน มิ.ย.​ที่ผ่านมา KFC ก็ทดลองขาย KFC CHILLI SAUCE ขายเฉพาะบางสาขา จำกัดทั้งจำนวนและจำกัดวันเวลาขายด้วย และยังไม่รู้ว่าจะกลับมาขายอีกหรือไม่ ถือเป็นการทดสอบตลาดได้ดี ถ้ามีการตอบรับมีความต้องการจากผู้บริโภค ในอนาคตตอาจเห็นการผลิตซอสนี้ออกมาขายอีกก็เป็นได้

เดินกลยุทธ์โตนอกร้าน

ที่ว่าทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีร้านอาหารดังๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่นำสูตรลับ สูตรเด็ด ของน้ำจิ้มและซอส ที่สืบทอดกันมายาวนาน ออกมาขายแยกต่างหาก

ว่าตามกลยุทธ์การตลาดแล้ว นี่คือ การโตนอกร้าน ของธุรกิจร้านอาหาร คือ ไม่ได้จำกัดการขายอยู่ที่ร้านเท่านั้น แต่หวังสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้บริโภค และส่ง “เมนู” ซึ่งในที่นี้คือ น้ำจิ้มหรือซอส เข้าไปถึงในบ้านของผู้บริโภค สร้างการเติบโตทางธุรกิจนอกร้านให้เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ถ้าดูจากตัวเลขมูลค่าตลาดของ “น้ำจิ้ม”​ ข้อมูลจาก ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ตลาดซอสและเครื่องปรุงรส ปี 2565 มีมูลค่า 53,486 ล้านบาท ส่วนปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 55,582 ล้านบาท และตลาดนี้ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยมีแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ อาทิ รสดี , คนอร์ , อายิโนะโมะโต๊ะ , ทิพรส และ เด็กสมบูรณ์ 

ดูจากตัวเลขมูลค่าตลาดของซอสและเครื่องปรุง ก็ต้องบอกว่ามีมูลค่ามหาศาล ดึงดูดใจให้ร้านอาหารที่มีน้ำจิ้มสูตรลับอยากกระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย และถ้าดูพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทย มีการบริโภคซอสและเครื่องปรุงรสเฉลี่ย 7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ถือเป็นปริมาณที่ไม่น้อย 

ถึงตรงนี้ไม่ต้องแปลกใจแล้วว่า ทำไมร้านอาหารหลายแห่งเลิกหวงสูตรลับน้ำจิ้มและซอส ยอมขายออกมาให้กินนอกร้าน เมื่อเวลาเปลี่ยน มุมมองเปลี่ยน การขยายธุรกิจร้านอาหารให้ออกมาโตนอกร้านได้ ก็คือการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าให้มากขึ้นนั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา