แทบทุกคนย่อมรู้จัก Microsoft หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกกันเป็นอย่างดี
แต่รู้หรือไม่ว่าภายใต้ยุคของ Satya Nadella ซีอีโอคนปัจจุบัน เขาสามารถทำให้ Microsoft กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง เช่น การนำพา Microsoft พุ่งขึ้นไปสู่บริษัทที่มีมูลค่ากิจการมากที่สุดในโลก แซงหน้า Apple
ในปี 2019 นี้ ถือเป็นการครบรอบ 5 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของ Microsoft เราลองไปสำรวจกันดูว่า เขาทำอย่างไรถึงพา Microsoft กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
ทิ้งเป้าหมายเก่า เปลี่ยนผ่าน Microsoft สู่ยุคใหม่ ด้วยวัฒนธรรมใหม่
ในยุคแรกของ Microsoft ถ้าถามว่าอะไรคือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบริษัท เชื่อว่าคงไม่มีคำพูดใดที่ดีไปกว่าถ้อยคำที่มุ่งมั่นของซีอีโอคนแรกและหนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง Bill Gates ซึ่งเคยบอกไว้ว่า เป้าหมายของ Microsoft คือ “a computer on every desk and in every home” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า เป้าหมายของ Microsoft คือความต้องการเป็น “คอมพิวเตอร์บนทุกโต๊ะทำงานและในทุกบ้าน”
และแน่นอน เป้าหมายของ Gates ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก เพราะ Microsoft ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ของมนุษยชาติไปแล้ว
แต่เมื่อเป้าหมายเดิมทำได้สำเร็จ คำถามคือแล้วจะเอาอย่างไรต่อ อะไรคือความท้าทายใหม่ของ Microsoft?
- คำตอบนี้มาพร้อมกับการขึ้นนั่งแท่นซีอีโอ Microsoft ของ Satya Nadella ในช่วงต้นปี 2014 โดยเขาบอกเลยว่า เป้าหมายเดิมของ Microsoft ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว ถ้า Microsoft ยังอยากไปต่อ ก็จำเป็นต้องหาเป้าหมายใหม่
หลังประกาศกร้าวไว้เช่นนั้น ผ่านไปประมาณ 5 เดือนครึ่ง Nadella ส่งอีเมลหาพนักงานทุกคนในบริษัท เพื่อบอกถึงเป้าหมายใหม่ของ Microsoft ว่า “เหตุผลที่ Microsoft ดำรงอยู่ก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกคนและทุกองค์กรบนโลกนี้ ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่”
อธิบายง่ายๆ ก็คือ หลังจากนี้ต่อไป Microsoft จะไม่เป็นบริษัทที่มุ่งมั่นผลิตสินค้า (product company) อย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นเรื่องคน (people company) นั่นคือการเพิ่มขีดความสามารถ (empower) ให้กับผู้คนทั่วโลก
- นี่คือการละทิ้งเป้าหมายเก่า วางเป้าหมายใหม่-ด้วยวัฒนธรรมใหม่ จาก “สินค้า” สู่ “คน”
เบื้องหลังของการสร้างวัฒนธรรมใหม่ คือปรัชญาเรื่อง Growth Mindset
การวางเป้าหมายใหม่ให้กับ Microsoft และรวมถึงความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของ Nadella ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เบื้องหลังความคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ในปี 2007
หลังจากวางเป้าหมายใหม่ให้กับ Microsoft ปรัชญาของ Nadella เริ่มเด่นชัดขึ้น และสิ่งนั้นคือเรื่อง Growth Mindset
Growth Mindset แปลแบบไทยๆ จะได้ว่า “กรอบความคิดเพื่อการเติบโต” แต่ถ้าอธิบายให้เข้าใจ มันคือกรอบความคิดที่เชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาทักษะและความสามารถของตัวเองให้ดีกว่านี้ได้ด้วยการทำงานหนัก รวมถึงสนใจใคร่รู้ในสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
- ปรัญชา Growth Mindset ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของ Microsoft จากหน้ามือเป็นหลังมือ เรียกได้ว่าเป็นการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินทางความคิด
ในยุคก่อนหน้านี้ ด้วยวิธีคิดเก่าเรื่องการพัฒนาสินค้า พูดง่ายๆ คือเอาสินค้าเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นหาก Microsoft ต้องการจะผลิตสินค้าอะไรสักอย่าง จึงไม่พ้นการลงทุนผลิตสินค้าโดยไม่สนว่าตลาดต้องการมันหรือไม่ แต่ด้วยปรัชญาใหม่ วัฒนธรรมทางความคิดแบบใหม่ที่ Nadella ปลุกปั้นขึ้นมา แน่นอนว่าโจทย์คำถามของเรื่องทั้งหมดนี้ก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะยุคใหม่ของ Microsoft จะไม่เน้นที่สินค้าเป็นหลัก แต่ให้ถามว่าลูกค้า/ผู้บริโภคต้องการอะไร
Chris Capossela ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของ Microsoft บอกว่า ในยุคของ Nadella ทุกสิ่งที่พนักงาน Microsoft จะลงมือทำนั้น มีฐานความคิดมาจากปรัชญา Growth Mindset ทั้งหมด สิ่งนี้ได้ทำให้วัฒนธรรมของ Microsoft เปลี่ยนจาก know-it-alls หรือ “รู้ทุกสิ่ง” ไปสู่วัฒนธรรมใหม่คือ learn-it-alls หรือ “เรียนรู้จากทุกอย่าง”
- และที่สำคัญคือคำว่า เรียนรู้จากทุกอย่าง ก็ย่อมหมายถึง เรียนรู้จากความผิดพลาดด้วยนั่นเอง
ตามประวัติศาสตร์ของบริษัท Microsoft มีซีอีโอทั้งหมด 3 คนได้แก่ Bill Gates, Steve Ballmer และคนปัจจุบันคือ Satya Nadella ก็ต้องบอกว่าจนถึงวันนี้ Microsoft ภายใต้ยุคของเขาที่ได้วางเป้าหมายบริษัทใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรอย่างลึกซึ้งจนทำให้บริษัทกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นอกจากนั้นขณะนี้ Microsoft ก็มีพนักงานรวมทั้งหมดว่า 130,000 คนทั่วโลก
- ทั้งหมดนี้ย่อมได้พิสูจน์แล้วว่า Satya Nadella คือบุคคลผู้ทำการเปลี่ยนผ่าน Microsoft ในช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
ข้อมูล – Quartz, Microsoft [1], [2], CNBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา