3M ตั้งเป้าผลิตหน้ากากฯ 2 พันล้านชิ้นต่อปี โควิด-19 ทำยอดขายทะลุเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน้ากากอนามัยได้กลายเป็นสิ่งของสามัญประจำบ้านที่ทุกๆ บ้านต้องมีเก็บไว้ นอกเหนือจากยารักษาโรค แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาหน้ากากอนามัยขาดแคลนจนหาซื้อไม่ได้ ส่วนที่หาซื้อได้ก็มีราคาแพงมากกว่าเดิมหลายเท่า

Thailand Face Masks Coronavirus ไวรัสโคโรนา
ผู้คนสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพจาก Shutterstock

3M เป็นหนึ่งในผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทำความสะอาดรายใหญ่ของโลก ได้คาดการณ์ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนจะทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงขึ้น

Andrew Rehder ผู้จัดการโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 3M ในเมือง Aberdeen เรียกประชุมผู้บริหารทั้งหมด เพื่อวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย เดินเครื่องจักรที่เคยเป็นเครื่องสำรอง สั่งให้พนักงาน 650 คนทำงานล่วงเวลา และ Rehder คาดการณ์กว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ไปอีกมากกว่า 2 สัปดาห์แน่ๆ แต่ไม่รู้จะนานเท่าไหร่

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกที่ 3M เคยเจอ เพราะก่อนหน้านี้โรค SARS ที่ระบาดเมื่อปี 2002-2003 การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุใหม่ 2009 Ebola รวมถึงภัยธรรมชาติชนิดต่างๆ ทั้งไฟป่า พายุเฮอริเคน ซึ่งล้วนเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้หน้ากากอนามัยทั้งสิ้น ทำให้ 3M รู้ว่ากำลังการผลิตที่มียังไม่เพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เมื่อถึงคราวของโรคโควิด-19 3M จึงค่อนข้างมีความพร้อม

หน้ากากอนามัยแบบต่างๆ ของ 3M ภาพจาก 3m.com

ความต้องการของหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องน่ากังวลเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการแพทย์หากไม่มีหน้ากากอนามัย บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ และพยาบาลจะมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดยตรง

จีนเป็นฐานการผลิตหน้ากากอนามัยสำคัญของโลก

เมื่อโรคโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีน รัฐบาลจีนจึงออกคำสั่งระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลน ซึ่งในขณะนั้นเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกประเทศจีนแล้ว บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนจึงต้องใช้หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันซ้ำหลายครั้ง หรือแม้แต่ต้องผลิตหน้ากากอนามัยจากวัสดุที่หาได้ใกล้ตัวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ขณะที่ราคาหน้ากากอนามัยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นนับ 10 เท่า จากที่เคยหาซื้อได้ชิ้นละ 0.6-0.8 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19.73-26.31 บาท

ภายในโรงงาน 3M ในเมือง Aberdeen ภาพจาก 3m.com

ในปัจจุบันกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของ 3M เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านชิ้นต่อเดือน และในอนาคตวางแผนว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เป็น 2,000 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 166 ล้านชิ้นต่อเดือน ส่งผลให้พนักงาน 3M มากกว่า 96,000 คนยังต้องทำงานหนักในโรงงาน และโกดัง เพื่อทำการผลิตหน้ากากอนามัย สวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจและโรคระบาดที่บริษัทอื่นๆ เริ่มทยอยปลดพนักงานกันแล้ว

อย่างไรก็ตามการทำงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งต้องมีความเข้มงวดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งโรงงาน 3M ใน Aberdeen มีการทำเครื่องหมายสีเหลืองไว้ที่พื้นเพื่อเตือนพนักงานให้รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

วิธีผลิตหน้ากากอนามัยแบบ 3M

Charles Avery ผู้อำนวยการที่ดูแลอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลของ 3M เล่าว่า ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัยจะต้องมากจนขาดแคลนแน่ๆ เพราะดูจากความรุนแรงที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งๆ ที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากด้วยซ้ำ

พนักงานในโรงงาน 3M ต้องทำงานอย่างหนัก แต่งานบางอย่างใช้หุ่นยนต์ทำแทนเพื่อความรวดเร็ว ภาพจาก 3m.com

การผลิตหน้ากากอนามัยของ 3M มีความได้เปรียบอย่างหนึ่งคือ 3M ไม่ได้ตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศที่มีค่าแรงถูก แต่ใช้วิธีตั้งโรงงานใกล้กับแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัย และแต่ละโรงงาน ทำหน้าที่ผลิตหน้ากากอนามัยให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่นั้น

เช่น โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศจีน ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อขายในประเทศจีน ส่วนโรงงานในประเทศเกาหลี ก็ผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับขายในประเทศเกาหลี และประเทศอื่นๆ โดยรอบอีกเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งวิธีที่ 3M ใช้ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกห้ามส่งออก หรือต้องเสียภาษีในการนำเข้าสินค้า

เมื่อได้รับคำสั่งให้เพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยในโรงงานที่ Aberdeen จึงจำเป็นที่จะต้องจ้างพนักงานเพิ่มให้เพียงพอกับปริมาณเครื่องจักรที่เดินเครื่องเต็มกำลัง 3M ใช้วิธีการรับสมัครพนักงานผ่านงาน Job Fair แบบออนไลน์ หลังจากนั้นพนักงานที่ผ่านการคัดเลือกให้ทำงานต้องทำการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงาน ซึ่งตอนนี้โรงงานที่ Aberdeen มีพนักงานแล้วกว่า 700 ราย

3M ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อการผลิตหน้ากากอนามัย ภาพจาก 3m.com

การผลิตหน้ากากอนามัยสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้ชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้ภายในโรงงานเดียวกัน รวมถึงกรรมวิธีในการผลิตก็ใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพนักงานมีหน้าที่เพียงการบรรจุหน้ากากอนามัยที่ผลิตเสร็จแล้วใส่กล่องเท่านั้น ทำให้พนักงานแต่ละคนสามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ง่าย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพนักงานในโรงงานคนใดที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19

Tamer Abdouni พ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่นำเข้าหน้ากากอนามัยไปขายในประเทศเลบานอน เล่าว่า ในช่วงเวลาปกติเขาสามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้เพียงชิ้นละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 41.16 บาท แล้วนำไปขายต่อและบวกกำไรเพิ่มอีกเล็กน้อย แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน้ากากอนามัยที่เขาหาได้มีราคาสูงถึง 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 238.74 บาท ทำให้เขาไม่กล้าซื้อไปขายต่อ เพราะจะกลายเป็นว่าเขาหากำไรในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้

สหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนัก หน้ากากอนามัยที่หาได้ก็มีราคาแพงกว่าปกตินับ 10 เท่า ภาพจาก pixabay.com

ส่วนในสหรัฐอเมริการาคาหน้ากากอนามัยก็สูงขึ้นมากเช่นกัน Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐ New York เล่าว่าโดยปกติหน่วยงานรัฐเคยซื้อหน้ากากอนามัยในราคาเพียง 0.85 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28 บาท แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องซื้อในราคา 7 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 230.50 บาท ต่อชิ้น อย่างไรก็ตาม 3M ยืนยันว่าไม่ได้ขึ้นราคาหน้ากากอนามัยหน้าโรงงานแต่อย่างใด แต่ราคาขายปลีกที่เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ 3M ควบคุมไม่ได้ เพราะได้ขายหน้ากากอนามัยไปให้ผู้จัดจำหน่ายแล้ว

ความต้องการหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นทำให้ยอดขายของ 3M อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.97 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมาและประกาศว่ารัฐบาลได้ลงนามทำความตกลงตามกฎหมายกับ 3M กฎหมาย “การผลิตเพื่อป้องกัน” ทรัมป์เรียกว่า P Act (Defense Production Act) มีคำสั่งให้ 3M ผลิตหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการ

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา