เปิดใจ “สันติ โหลทอง” นายกสมาคมอีสปอร์ต “เราไม่ได้พูดถึงเด็กติดเกม แต่นี่คือนักกีฬามืออาชีพ”

แม้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยจะยอมรับและบรรจุ “อีสปอร์ต” ให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของเกมในประเทศก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร เพราะหลายคนยังมองว่าเกมทำให้เด็กเสียการเรียน จึงเป็นโจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องแก้ไขกันต่อไป

ขอบคุณภาพจากเพจ Thailand Game Show

อีสปอร์ต คือ กีฬาชนิดหนึ่งที่แข่งขันด้วยการเล่นเกม ส่วนใหญ่จะเป็นเกมแนว MOBA หรือ Multiplayer Online Battle Arena เกมยอดนิยมในการแข่งขัน ได้แก่ DotA, Heroes of Newerth (HoN), League of Legends (LoL), FIFA และ Point Blank เป็นต้น ซึ่งเป็นเกมที่คนทั่วไปเล่นในยุคนี้

จุดเริ่มต้นของอีสปอร์ตในประเทศไทยไม่มีช่วงเวลาชัดเจนมากนัก แต่ไม่ต่ำกว่า 10 ปีมาแล้ว แต่อีสปอร์ตเพิ่งมาได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนี้เพราะคนเล่นเกมมากขึ้น มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และคนเปิดใจให้กับการเล่นเกมมากขึ้นกว่าเดิม

อีสปอร์ตไม่ใช่แค่การแข่งขันเล่นเกมอย่างเดียว จริงๆ แล้วอีสปอร์ตยังมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด ขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬาที่สามารถเป็นอาชีพได้ คนเข้าแข่งขันก็ถือว่าเป็นนักกีฬาคนหนึ่ง มีเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สันติ โหลทอง

ต้องทำให้ภาพเด็กติดเกมหายไปให้ได้!

มีโอกาสได้พูดคุยกับ “สันติ โหลทอง” นายกสมาคมอีสปอร์ตที่ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการมาแล้ว 4 ปี สันติเป็นชายหนุ่มที่เคยเป็นเด็กติดเกม มีประสบการณ์เล่นเกมมา 40 ปี แต่เพราะใจรักในเกมที่แท้จริง เขาไม่ได้มองว่าเป็นแค่เกม แต่เป็นอาชีพๆ หนึ่งได้

จากที่เป็นคนเล่นเกมอย่างเดียว สันติเพิ่มบทบาทตัวเองด้วยการเป็นผู้สนับสนุนคนเล่นเกม เป็นคนส่งนักกีฬาอีสปอร์ตไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2000 แต่ในยุคนั้นทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้ชัยชนะกลับมา ไม่มีผู้สนับสนุน จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านเลยทำลีกการแข่งขันเป็นของตัวเอง จนมาถึงการก่อตั้งสมาคม
บทบาทของสมาคมอีสปอร์ตก็คือปั้นบุคลากรแล้วส่งไปแข่งขันในรายการต่างประเทศ โดยมีโค้ชที่คอยช่วยพลักดัน แต่สมาคมจะไม่เน้นจัดทัวร์นาเมนต์แข่งขัน จะเน้นปั้นนักกีฬาอย่างเดียวก่อน เพื่อสร้างระบบให้แข็งแกร่ง

“ตั้งแต่ที่ส่งนักกีฬาแข่งขัน มีเข้าชิงหลายรายการ นักกีฬามีความเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ข้อจำกัดของอีสปอร์ตคือภาพลักษณ์ของอีสปอร์ตไม่ค่อยดี คนมองว่าเป็นแค่นักเล่นเกม หลายคนยังไม่เปิดใจ เราต้องการทำให้ภาพเด็กติดเกมหายไป เราไม่ได้พูดถึงเด็กเล่นเกม แต่เป็นนักกีฬามืออาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้”

ขอบคุณภาพจากเพจ e-sport Thailand

ความท้าทาย ต้องสร้างความมั่นใจ

สันติเสริมอีกว่า “ไทยมีความพร้อมในอีสปอร์ตเกือบทุกๆ ด้านแล้ว ทั้งเทคโนโลยี บุคลากร วิทยาศาสตร์การกีฬา แต่ยังขาดทัศนคติที่ดีต่ออีสปอร์ต ตอนนี้กระทรวงสาธารณะสุขยังมองว่าเกมมีพิษร้ายแรงกว่าเฮโรอีนอยู่เลย ต้องทำให้ภาครัฐ และเอกชนสนับสนุนให้ได้ก่อน วางระบบรากฐานให้ดี ถึงสร้างความมั่นใจในการถ่ายทอดเป็นอาชีพที่มั่นคงได้”

เป้าหมายของสันติในเลื้องต้นตอนนี้ก็คือ ต้องการให้นักกีฬาอีสปอร์ตไทยสร้างชื่อในระดับภูมิภาค เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าอาเซียน สเต็ปต่อไปก็คือระดับเอเชีย และเป็นเจ้าระดับโลก

ขอบคุณภาพจากเพจ e-sport Thailand

ส่องภาพรวมตลาดอีสปอร์ต นักกีฬาสร้างรายได้สูงสุด 3 แสน!

สันติประเมินว่าในประเทศไทยมีเกมเมอร์ หรือคนเล่นเกมราวๆ 20 ล้านคนได้ มีตั้งแต่วันเด็กจนถึงผู้ใหญ่ แต่ถ้านับที่เป็นนักกีฬามืออาชีพจริงๆ มีอยู่ราว 5,000 คน/เกม เป็นตัวเลขที่ได้การวัดจากการลงสมัครแข่งขันเวลาจัดทัวร์นาเมนต์ เกมยอดนิยมที่ใช้ในการแข่งขันมีอยู่ราว 5-10 เกม

ตลาดอีสปอร์ตในประเทศไทยมีมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ถ้าในแง่ของศักยภาพของนักกีฬาอยู่ในอันดับ 3 รองจากฟิลิปินส์ และเวียดนาม

โมเดลของนักกีฬาอีสปอร์ตคล้ายๆ กับกีฬาฟุตบอลเลย ที่ต่างประเทศจะมีสโมสร ทีม โค้ช สปอนเซอร์ แพทย์ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย ทำให้มีการฝึกซ้อมเป็นระบบ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีสังกัดอย่างจริงๆ มีเพียงแค่ทีม และคนดูแลทีม ที่ปรึกษาต่างๆ อาจจะมีสปอนเซอร์บ้าง

ขอบคุณภาพจากเพจ Garena Thailand

“การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมีการฝึกเหมือนนักกีฬาทั่วไปเลย ไม่ใช่แค่เล่นเกมทั้งวันทั้งคืนอย่างเดียว แต่มีตารางการฝึกชัดเจน มีตารางโภชนาการในการกินอาหาร มีแพทย์ประจำสังกัด มีจักษุแพทย์ที่เช็คสายตา มีการฝึกความฟิตของร่างกายด้วย เช่น ตื่นเช้าต้องวิ่งให้ได้ตามที่กำหนด เพราะตอนแข่งต้องนั่งเล่นเกมนานๆ กล้ามเนื้อต้องแข็งแรงด้วย”

เมื่อดูในเรื่องของรายได้ นักกีฬาอีสปอร์ตในไทยมีรายได้เฉลี่ย 15,000-20,000 บาท/เดือน ถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เพราะยังเป็นตลาดใหม่ แต่ถ้าในระดับโปรที่เป็นแชมป์บ่อยๆ จะมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาท/เดือน รายได้มาจากสปอนเซอร์ที่ให้การสนับสนุนทีม หรือจากสังกัดที่อยู่

ถ้าใครที่มีผลงานดีๆ จะมีการซื้อตัวเหมือนกับนักฟุตบอล อย่างนักกีฬาคนหนึ่งที่ถูกซื้อตัวไปสังกัดที่สหรัฐอเมริกา มีรายได้เดือนละ 300,000 บาท! อีสปอร์ตยังสามารถต่อยอดไปยังอาชีพอื่นๆ ได้อีกนอกจากนักกีฬา เช่น บล็อกเกอร์ นักพากษ์ ผู้ประกาศ และโค้ช

ขอบคุณภาพจากเพจ Garena Thailand

สุดท้ายแล้ว สันติได้พูดทิ้งท้ายว่า

“กองเชียร์ไทยเลิกด่านักกีฬาได้แล้ว เขาต้องการกำลังใจ แต่ผมก็ได้บอกให้นักกีฬาเลิกหัวร้อน เพื่อจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของเกมดีขึ้น”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา