Property Tech กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันแล้ว เพราะผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มหันมาเน้นเรื่องนี้กันมากขึ้น และล่าสุดก็มีการตั้งกองทุนสนับสนุนอย่างเป็นจริงเป็นจังแล้วด้วย
SIRI VENTURE กับการขับเคลื่อนนวัตกรรม
ก่อนหน้านี้มีการนำเสนอข่าว อนันดา เปิดตัว Ananda UrbanTech ประกาศความเป็น Tech Company ในวงการอสังหาริมทรัพย์ คราวนี้ก็มาถึงฝั่ง บมจ.แสนสิริ กันบ้าง แต่คงไม่ใช่แค่ปรับตัวสู่ Tech Company เพราะเป็นการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ในชื่อ SIRI VENTURE เพื่อเดินหน้าสนับสนุนวงการ Startup ไทยให้พัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ช่วยยกระดับวงการอสังหาฯ รวมถึงเข้าไปลงทุนในบริษัทนวัตกรรมที่น่าสนใจเพื่อเพิ่มผลกำไรอีกทาง
สำหรับการจัดตั้ง SIRI VENTURE นั้น เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบมจ.แสนสิริ และธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านการถือหุ้น 90% และ 10% ตามลำดับ แต่ที่สำคัญคือการดึงผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Property Tech เบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย “ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล” มานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ VC นี้ด้วย เพราะนักพัฒนาซอฟต์แวร์คนนี้คลุกคลีกับการสร้างนวัตกรรมให้กับอสังหาฯ มาตั้งแต่ปี 2552 โดยโครงการแรกที่ทำคือการทำหน้าจอ Multi-Touch ที่ช่วยเพิ่มมิติในการขายโครงการต่างๆ ของแสนสิรินั่นเอง
เดินหน้า Open Platform ตอบโจทย์ทั้งอุตสาหกรรม
“มีโอกาสร่วมงานกับแสนสิริตั้งแต่ปี 2552 จนถึงตอนนี้ตัวระบบการขายผ่านหน้าจออัจฉริยะก็สร้างยอดให้แสนสิริกว่า 55,000 ยูนิต จาก 154 โครงการ ซึ่งมันก็เป็นอีกข้อพิสูจน์ที่นวัตกรรมสามารยกระดับเรื่องนี้ได้ และถ้ากลุ่มอสังหาฯ ยังไม่ Transform ตัวเองสู่ดิจิทัล ก็มีโอกาสถูก Disrupt สูง แต่การจะเดินหน้านวัตกรรมนั้น ทุกเรื่องไม่ต้องทำเองหมดก็ได้ การวางตัวเองเป็น Open Platform และหาพาร์ทเนอร์ดีๆ น่าจะเหมาะสม และเดินได้เร็วกว่า ที่สำคัญอสังหาฯ รายอื่น หรือคนที่มีบ้านเดี่ยว ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ได้ด้วย” ชาคริต กล่าว
ส่วนการลงทุนของ SIRI VENTURE จะเน้นตั้งแต่กลุ่มที่กำลังทำวิจัยระดับนวัตกรรมมากๆ เช่นผ้าม่านที่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยตนเอง, กลุ่ม Startup ที่อยู่ในขั้น Seed และ Series A เพื่อเข้าไปพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอย่างจริงจัง รวมถึงการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสิงคโปร์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเปิดช่องทางให้ Startup ไทยสามารถเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศได้ด้วย โดยเบื้องต้นได้เตรียมงบประมาณไว้ 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลงทุน และจัดตั้งโครงการ Accelerator ด้วย
30-50 รายเชื่อมต่อ ระยะยาววางงบไว้ 500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการลงทุนครั้งนี้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 น่าจะมี Startup หรือกลุ่มผู้สนใจเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบ 30-50 ราย โดยการตอบโจทย์นี้ไล่ตั้งแต่การทำข้อมูลที่ดิน, ดีไซน์ กับการก่อสร้าง จนไปถึงวิธีการปิดการขาย และการยกระดับความเป็นอยู่ของลูกบ้านด้วยนวัตกรรมใหม่ ทำให้ในปีถัดๆ ไปอาจวางงบประมาณสนับสนุนไว้ที่ 500 ล้านบาท เพื่อลงทุนได้อย่างเต็มที่ และเป็นส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์สามารถสะพัดเงินผ่านการสร้างงานได้หลักแสนล้านบาท/ปี
“รถยนต์ และโทรศัพท์ก็มีระบบปฏิบัติการ หรือ Operating System (OS) อยู่แล้ว เพราะนวัตกรรมมันเข้ามามีบทบาทต่อสองผลิตภัณฑ์นี้ ก็เลยอยากตั้งคำถามว่า แล้วทำไมบ้านจะมี OS บางไม่ได้ เพราะถ้าเราเอาอุปกรณ์อัจฉริยะไปติดอยู่ในบ้าน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ เช่นน้ำรั่ว หรือการเปิดปิดไฟได้เองด้วยเซ็นเซอร์ และทั้งหมดนี้สามารถปรับปรุงผ่านการ Update ได้ตอลดเวลาก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่าหรือไม่ ที่สำคัญถ้าไทยไม่ทำเรื่องพวกนี้เอง ต่างประเทศก็เอาตลาดนี้ไปกินแน่นอน” ชาคริต กล่าวเสริม
สรุป
Property Tech ไม่ใช่การนำนวัตกรรมมาช่วยการก่อสร้าง หรือการปิดการขายของผู้พัฒนาอสังหาฯ ดีขึ้น แต่ต้องลงลึกไปถึงระบบการวิเคราะห์ข้อมูล และการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยด้วย เพราะตอนนี้ผู้บริโภคหลายรายยังเฝ้ารอนวัตกรรมเหล่านี้อยู่ หลังจากการจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ต้องอยู่ในที่พักอาศัยระดับ Hi-End เท่านั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา