“แสนสิริ” ปูพรม Agile ตั้งแต่โปรแกรมฝึกงาน สร้างแผน Dream Place to Work ภายใน 3 ปี

แสนสิริเดินหน้าดันการทำงานแบบ Agile สู่โปรแกรมฝึกงาน หวังครองใจคนทำงานรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลตั้งแต่เป็นนักศึกษา สู่แผน Dream Place to Work ภายใน 3 ปี

ทรานส์ฟอร์มสู่ Agile เพื่อการทำงานคล่องตัว

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาแสนสิริได้ประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการปรับบริหารการทำงานภายใต้แนวคิด Agile โดยได้ทำการศึกษาข้อมูล และได้เริ่มปูพื้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้มือดีอย่าง The Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจช่วยวางแผนให้ จนได้ประกาศใช้อย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

นิยามง่ายๆ ของ Agile ก็คือเป็นการทำงานรูปแบบใหม่แบบ Cross Functional ขอให้ลืมการทำงานแบบลำดับขั้นชนชั้นไปได้เลย เพราะ Agile จะรวมคนเก่งๆ ในแต่ละแผนกมาพัฒนาโปรเจคต์ให้เร็วขึ้น หรือเรียกว่าทีม Squad ช่วยให้การทำงานคล่องตัว โชว์ศักยภาพเต็มที่ มีอำนาจการตัดสินใจ

ในทีม Squad จะมีเจ้าของโปรเจ็คต์ มีเมมเบอร์ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างนักออกแบบ พัฒนาโครงการ ดาต้า เจ้าของโปรเจ็คต์จะควบคุมการทำงานตามแผน หรือตามงบประมาณ สมาชิกก็ทำงานตามฟังก์ชั่น ตั้งอยู่บนแนวคิดเดียวกันคือ Customer Centric มองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก

จะแตกต่างจากการทำงานในรูปแบบเดิมที่เรียกว่า Waterfall มีการทำงานเป็นสาย มีหัวหน้าคอยดูแลเป็นชั้นๆ ทำให้มีขั้นตอนในการทำงานยุ่งยาก ต้องวนลูปในการรอหัวหน้าอนุมัติงานต่างๆ 

แบรนด์ใหญ่ระดับโลกได้เริ่มใช้ Agile กันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทด้านไอทีอย่าง Google, BMW, Microsoft และ ING

แสนสิริจึงถือเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์แบรนด์แรกในไทยที่นำ Agile มาปรับใช้เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น และเหมาะกับการทำงานของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันแสนสิริมีพนักงานรวม 4,000 คน เป็นกลุ่มมิลเลนเนียมถึง 70% ส่วนอีก 30% เป็น Gen X และ Baby Boomers

ในตอนแรกแสนสิริเริ่มการทำงานแบบ Agile กับโครงการ High Rise(โครงการแนวสูง) ก่อน แล้วเพิ่งเปิดสำหรับโครงการ Low Rise (แนวราบ) เมื่อเดือนกรกฎาคม ใช้กับ 4 แผนก ได้แก่ HR, IT, Data และ Digital Marketing

ปิยะวดี วรรธนาคม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และบริหารสำนักงาน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

เป็นการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ของแสนสิริ ได้โจทย์มาจากผู้บริหารตลอดว่าจะทำยังไงให้พนักงานมีสกิลใหม่ๆ ได้ปูพื้นมาตั้งแต่ปี 2016-2017 ศึกษาว่าจะทำยังไงไม่ให้ถูก Disrupt จากเทคโนโลยี จึงเกิดการทำงานแบบ Agile ที่เข้ามาตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ และเด็กรุ่นใหม่ด้วย เพราะเด็กยุคนี้ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ต้องการผลงาน ได้โชว์ศักยภาพเต็มที่

การทำงานแบบ Agile ทำให้พัฒนาโปรเจคต์เร็วขึ้น เพราะธรรมชาติของธุรกิจอสังหาฯ เป็นการพัฒนาโปรเจคต์ยาวรับรู้รายได้จากการโอน การพัฒนาได้เร็วขึ้นก็เท่ากับว่าทำให้หมุนรอบทำรายได้เร็วขึ้น รับรู้รายได้จากการโอนได้เร็วขึ้น

ในเรื่องการทำงาน Agile ให้อำนาจแต่ละคนมีอำนาจการตัดสินใจได้ไม่ต้องวิ่งหาหัวหน้าแต่ละฝ่ายแบบขั้นตอนให้เสียเวลา ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของ แฮปปี้กับการทำแบบนี้ ตรงกับพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ต่อยอดสู่โปรแกรมฝึกงาน บ่มเพาะนักศึกษาก่อนสู่ตลาดแรงงานของจริง

หลังจากได้เริ่มใช้ Agile มาตั้งแต่ต้นปี แสนสิริก็ได้เริ่มกับหลายแผนกมากขึ้น จนมาถึงโปรแกรมฝึกงานก็ได้เรียนรู้แบบ Agile ไม่ใช่วนลูปเดินเอกสาร ถ่ายเอกสาร ชงกาแฟเหมือนเด็กฝึกงานในอดีตแล้ว แต่เป็นการบ่มเพาะการทำงานเสมือนจริง

แสนสิริได้เริ่มโครงการ “Sansiri Internship Program” เป็นเวลา 9 ปีแล้ว มีนักศึกษาที่เคยฝึกงานกว่า 1,000 คน เปิดรับนิสิต นักศึกษาชั้นปี 3 จากทุกสาขาทุกสถาบันไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยดังๆ เท่านั้นเปิดกว้างรับหมด

ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาขอฝึกงานด้วยเยอะ ในอดีตก็เป็นการเดินเอกสาร แต่มาคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่เลยปฏิวัติหลักสูตรใหม่ เรียกว่าแสนสิริพาสสปอร์ตมีระบุว่าตลอดโครงการฝึกงานต้องเรียนรู้เรื่องอะไร ฝึกเหมือนพนักงานเพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพชัด

เหตุผลที่แสนสิริต้องดัน Agile เข้าสู่โปรแกรมฝึกงานด้วย เพราะต้องการปูพื้นการเป็นองค์กรในดวงใจของเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเข้าทำงานด้วยตั้งแต่เป็นนักศึกษา ปิยะวดีบอกว่ามีผลสำรวจบอกว่าแสนสิริเป็นองค์กรที่คนในวงการอสังหาฯ อยากร่วมงานมากที่สุด

แต่มีแผนที่อยากเป็นองค์กรที่นักศึกษาอยากฝึกงานอันดับหนึ่งด้วยเช่นกัน…

อีกสิ่งหนึ่งคือการสร้างแบรนด์ แน่นอนว่านักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานที่แสนสิริ แม้จะไม่ได้ร่วมงานต่อเพราะด้วยเงื่อนไขตำแหน่งงานไม่พอ แต่นักศึกษาสามารถแชร์ประสบการณ์ต่อได้ว่าฝึกงานที่นี่เป็นอย่างไร ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรอีกทาง

“Agile เป็นการผลักดันให้แต่ละคนรับผิดชอบผลงาน พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เปิดมุมมองกว้างขึ้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำงานกับคนหลายแผนก เป็นการเตรียมการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ไม่ได้มีแต่ทฤษฎี ยุคนี้อยากได้คนมีประสบการณ์ทั้งนั้น เหมือนมาม่าใส่น้ำร้อนพร้อมทาน เด็กใหม่ๆ เปิดรับไอเดียแล้วไปต่อยอดได้ไว

มองหา Data Scientist มาเติมองค์กรให้แน่น

ในแต่ละปีแสนสิริจะมีนักศึกษาฝึกงาน 100-120 คน โดยมาจากการส่งมาของมหาวิทยาลัย และมีมหาลัยที่เซ็น MOU ในโครงการฝึกงานก็คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์จำนวน 15 คน และสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ด้านการบริหารอาคารไม่ต่ำกว่า 7 คน

ในการฝึกงานแต่ละคนจะมีพี่เลี้ยง มีเทรนเนอร์ หรือโค้ชเพื่อสอนงาน เป็นสัดส่วน 1:2 คนเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

เกณฑ์การเลือกนั้นจะให้สถานบันเป็นคนเลือกมาให้ ต้องตรงกับสาขา และสายอาชีพ แต่ถ้าไม่ตรงสาขาแต่อยากรู้สายงานอื่นๆ ก็ทำได้ ไม่มีการเลือกสถาบัน แต่จะให้สิทธิ์สถาบันที่เซ็น MOU ก่อน

โดยสายงานที่เข้าฝึกงานมากที่สุดคือ พัฒนาโครงการ รองลงมาคือ วิศวกรรม การตลาด ออกแบบภายใน สถาปัตย์ บัญชี HR และกฎหมาย

ซึ่งทางแสนสิริสนใจสายงาน “Data Scientist” มากที่สุด เพราะหาบุคลากรยากอีกทั้งการแข่งขันยุคนี้จำเป็นต้องใช้ดาต้าสูงขึ้นด้วย

ตอนนี้กำลังหาคนมาดูเรื่องดาต้า เป็นโลกของการแข่งขันที่ดาต้า เอาดาต้ามาพัฒนา หรือวิเคราะห์ได้หมด เริ่มทำจริงจังตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เริ่มจาก 3 คน เป็น 10 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องหาน้องฝึกงานเพื่อมาเติมเต็มมากขึ้น ดาต้าเป็นศาสตร์ใหม่ที่จะเน้นมากขึ้น ถึงขนาดที่ทางนิด้ายังไม่เปิดสอน แต่นำนักศึกษาที่กำลังสมัครเรียนมาดูงานเพื่อจูงใจว่าเรียนแล้วเป็นอย่างไร

สุดท้ายแล้วโปรแกรมการฝึกงาน หรือ HR ยุคใหม่มีส่วนช่วยดึงดูดคนเจนใหม่ๆ ให้อยากทำงานด้วยเพราะคนรุ่นใหม่อยากร่วมงานกับบริษัทที่มีวิธีการทำงานน่าสนใจ

ปิยะวดีปิดท้ายว่า… คนที่แสนสิริต้องการนั้น จะต้องเพิ่มทักษะการประสานงาน ยุคนี้ทำงานเก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทักษะการนำเสนอ วิเคราะห์มาควบคู่กันหมด การมีทรัพยากรมนุษย์แข็งแกร่ง ทำให้แข่งขันในตลาดได้ และต้องมีคัลเจอร์ตรงกับแสนสิริด้วย

สรุป

การบริหารคนยุคนี้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการแข่งขันทางธุรกิจด้วย ต้องป้องกันการถูก Disrupt ของเทคโนโลยีด้วยศักยภาพของมนุษย์ การที่แสนสิริปรับการทำงานเป้นแบบ Agile ถือเป็นความท้าทายตั้งแต่ระดับผู้บริหารที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา