เปิดตำนาน แสงทองผ้าใบ จากธุรกิจเต็นท์ให้เช่า สู่งานออกแบบผ้าใบอาคาร และอีเวนต์ครบวงจร

เวลาไปงานกาชาด เกษตรแฟร์ หรือแม้แต่งานเลี้ยงตามสถานที่ต่าง ๆ หากมองไปที่เต็นท์ผ้าใบมักจะเห็นชื่อ แสงทองผ้าใบ สกรีนติดอยู่เต็นท์ผ้าใบเหล่านั้นเสมอ

แต่รู้หรือไม่ตอนนี้ แสงทองผ้าใบ ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจเต็นท์ให้เช่า แต่ยังติดตั้งผ้าใบกันสาดของงานอีเวนต์ระดับประเทศ ทั้งออก และติดตั้งแบบผ้าใบกันแดดของสถานที่เด่น ๆ เช่น สกายวอล์คแยกสาทร-นราธิวาส

แสงทองผ้าใบ มีที่มาอย่างไร กว่าจะเติบโตจนถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรบ้าง และอนาคตการของธุรกิจจะเป็นอย่างไร Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ฐานุพงศ์ วุฒิอารีย์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท แสงทองผ้าใบ จำกัด ดังนี้

แสงทองผ้าใบ

จุดเริ่มต้นของ แสงทองผ้าใบ

ฐานุพงศ์ วุฒิอารีย์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท แสงทองผ้าใบ จำกัด และรุ่นที่ 2 ของธุรกิจ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของ แสงทองผ้าใบ เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปี ก่อน เริ่มจากทำธุรกิจเต็นท์ให้เช่า และกันสาดผ้าใบชักรอก ส่วนชื่อบริษัทมาจากรุ่นคุณพ่อที่นำชื่อภาษาจีนของตัวเอง และคุณปู่มารวมกัน

“จากเต็นท์ให้เช่า และกันสาดผ้าใบชักรอก ในอดีตเราเคยนำเข้ากันสาดอะลูมิเนียมเข้ามาจำหน่ายเหมือนกัน ซึ่งเวลานั้นถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และปัจจุบันขยายธุรกิจออกไปมาก กลุ่ม Gen X อาจคุ้นชื่อเราจากชื่อที่สกรีนบนเต็นท์ผ้าใบ แต่โครงการต่าง ๆ ที่มีกันสาด หรือผ้าใบขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นคือผลงานที่เราออกแบบ”

แสงทองผ้าใบ เป็นธุรกิจครอบครัวมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงรุ่นที่ 2 ของธุรกิจ รวมถึงอยู่ระหว่างปรับรูปแบบธุรกิจให้ล้อไปกับการเติบโตของเทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืนผ่านการมี 3 บริษัทย่อยคือ

  • บริษัท แสงทองผ้าใบ จำกัด ให้บริการเช่าเต็นท์ผ้าใบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • บริษัท สหแสงทองกันสาดอะลูมีเนียม จำกัด นำเข้า และจำหน่ายกันสาดอะลูมิเนียม
  • บริษัท แสงทองผ้าใบ กันสาด จำกัด ให้บริการออกแบบ และติดตั้งผ้าใบกันสาดสำหรับโครงการขนาดใหญ่

แสงทองผ้าใบ

พนักงาน 300 คน กับการฝ่าวิกฤติโควิด-19

ปัจจุบันทั้งองค์กรของ แสงทองผ้าใบ มีพนักงานราว 300 คน โดย 200 คน จะอยู่ในธุรกิจให้บริการเช่าเต็นท์ผ้าใบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ และการที่ต้องแบกรับต้นทุนเรื่องคนทำให้ค่อนข้างลำบากในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เนื่องจากไม่มีการจัดอีเวนต์ และโครงการต่าง ๆ ต้องชะลอการก่อสร้าง

“วิกฤติไหน ๆ ก็ไม่หนักเท่าช่วงโควิด-19 เพราะธุรกิจให้เช่าเต็นท์เป็นรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มเรา ดังนั้นถ้าไม่มีอีเวนต์จัด เขาก็ไม่รู้จะเช่าเต็นท์ไปทำไม จนตอนนั้นเราต้องรัดเข็มขัด และปรับหารายได้ส่วนอื่นเพิ่ม ซึ่งยังดีที่เราได้โรงพยาบาลรัฐ และเอกชนต่าง ๆ นำเต็นท์ของเราไปใช้ในสถานพยาบาลชั่วคราว ก็ทำให้มีเงินส่วนนี้เข้ามาบ้าง”

ในทางกลับกัน การระบาดของโรคโควิด-19 ยังทำให้รู้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ใด ๆ ดังนั้นความเก่าแก่ของ แสงทองผ้าใบ ก็แทบไม่มีผล จึงต้องสร้างการรับรู้ รวมถึงลงทุนสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างแบรนด์อีกครั้ง ควบคู่ไปกับการนำเข้านวัตกรรมผ้าใบกันสาดเพื่อเพิ่มรายได้จากโครงการต่าง ๆ เช่นกัน

แสงทองผ้าใบ

จากผู้ถูกจ้าง สู่การเป็นผู้จ้างออกาไนเซอร์

ขณะเดียวกัน แสงทองผ้าใบ ยังเปลี่ยนจากการทำตลาดแนวรับ หรือให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่รับงานจากออกาไนเซอร์เพื่อไปติดตั้งเต็นท์ หรือออกแบบโครงสร้างในงานต่าง ๆ เป็นการเริ่มรับงานด้วยตัวเอง และหันไปจ้างออกาไนเซอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดงานแทน

“จากบริการเต็นท์ให้เช่า แสงทองผ้าใบ กลายเป็น One Stop Services มากขึ้น เช่น ลูกค้าอยากจัดงานที่บ้าน เราก็พร้อมออกแบบเต็นท์ให้ และจัดหาอาหาร รวมถึงระบบแสง สี เสียง ผ่านการไปจ้างออกาไนเซอร์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจุดนี้ทำให้เราแข็งแกร่ง และมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ยิ่งปัจจุบันคู่แข่งมากขึ้นทั้งในประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเต็นท์ให้เช่า รวมถึงผ้าใบกันสาดนวัตกรรมสูงจากจีน แสงทองผ้าใบ จึงดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมไม่ได้ นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบพาร์ตเนอร์มากขึ้น เช่น การปิดสาขาพัทยา และหันไปร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในการดำเนินธุรกิจแทน

แสงทองผ้าใบ

เป้าหมายรายได้ 300 ล้านบาท ในปีนี้

ฐานุพงศ์ เสริมว่า ในปี 2023 แสงทองผ้าใบ ตั้งเป้ารายได้รวมทั้งกลุ่มที่ราว 300 ล้านบาท ซึ่งผ่านมาครึ่งปีทุกอย่างยังดำเนินการตามแผน เช่น การติดตั้งผ้าใบกันสาดในโครงการต่าง ๆ รวมถึงการให้เช่าเต็นท์ในอีเวนต์ระดับประเทศ ที่สำคัญการลงทุนในช่องทางดิจิทัลเพื่อสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ถ้าไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ว่า ผ้าใบที่ขึงอยู่บริเวณสกายวอล์กแยกสาทร-นราธิวาส แสงทองผ้าใบ คือผู้ออกแบบ และติดตั้ง รวมถึงเต็นท์ในงานระดับโลกอย่าง MotoGP ที่บุรีรัมย์ เราก็เป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นแสงทองผ้าใบยุคนี้ไม่ได้มีแค่เต็นท์ในงานกาชาด หรือเกษตรแฟร์ แต่เป็นผู้ให้บริการผ้าใบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย”

ส่วนเรื่องธุรกิจครอบครัว ฐานุพงศ์ ยืนยันว่า แสงทองผ้าใบ จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ต่อไป และพยายามพัฒนาคนในครอบครัวให้มีความสามารถเพื่อผลักดันธุรกิจให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดึงผู้บริหารมืออาชีพ เช่น นักการตลาด มาช่วยพัฒนาแบรนด์ให้เติบโตเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา