ซัมซุง กับข้อเสนอ ‘แยกบริษัทเป็นสองส่วน’ ปรับโครงสร้างเพื่อให้โตขึ้นอีก

Samsung Split

ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง อาจถึงคราวแตกบริษัทเป็นสองส่วน?

นี่ไม่ใช่การแตกบริษัทเพราะธุรกิจมีปัญหา แต่เป็นเพราะกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ Elliott Management เสนอให้ซัมซุง (ในที่นี้คือ Samsung Electronics เพียงอย่างเดียว ไม่รวมบริษัทอื่นในเครือ) แตกบริษัทออกเป็น 2 ส่วน เพื่อดึงศักยภาพของราคาหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

Elliott Management มองว่า Samsung Electronics มีธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของโลก ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลก ผู้นำด้านการผลิตจอภาพและสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับคอนซูเมอร์ บริษัทมีกำไรมาก แต่ราคาหุ้นกลับไม่สะท้อนภาพกิจการที่แท้จริง

Elliott Management ซึ่งถือหุ้นในซัมซุงด้วย มองว่าราคาหุ้นของซัมซุงตอนนี้ถูกกว่าที่ควรจะเป็นไปมากถึง 30-70% และปัญหาของซัมซุงเกิดจากโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน และบริหารต้นทุนการเงินได้ไม่ดีนัก นอกจากนี้หุ้นของซัมซุงยังไม่ถูกขายในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (ซัมซุงขายหุ้นอยู่ในตลาดเกาหลีใต้) นักลงทุนต่างชาติจึงเข้าไม่ถึงหุ้นตัวนี้

โครงสร้างบริษัทอันซับซ้อนของเครือซัมซุงทั้งหมด
โครงสร้างบริษัทอันซับซ้อนของเครือซัมซุงทั้งหมด

ทางบริษัทจึงมีข้อเสนอให้ Samsung Electronics จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยแยกบริษัทเป็น 2 ส่วนคือ

  • บริษัทแม่ Samsung Holdco ทำหน้าที่เป็น holding เพียงอย่างเดียว
  • บริษัทลูก Samsung Opco ทำธุรกิจจริงๆ

จากนั้นให้ Samsung Holdco ทำการเสนอซื้อหุ้น (tender offer) บริษัทลูก Samsung Opco จากผู้ถือหุ้นรายย่อย และให้ Samsung Holdco ควบกิจการกับ Samsung C&T บริษัทด้านก่อสร้างและค้าปลีกของซัมซุง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เพื่อให้เป็นบริษัทโฮลดิ้งเพียงบริษัทเดียวของเครือซัมซุงทั้งหมด

โครงสร้างบริษัทใหม่ที่ Elliott เสนอให้ซัมซุงทำ
โครงสร้างบริษัทใหม่ที่ Elliott เสนอให้ซัมซุงทำ

เมื่อปรับโครงสร้างเสร็จแล้ว Elliott เสนอให้ Samsung Opco เข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เข้าถึงนักลงทุนและนักวิเคราะห์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ดีขึ้นของตลาดสหรัฐ เมื่อเทียบกับตลาดเกาหลีใต้ เช่น การลดจำนวนบอร์ดที่เป็นคนเกาหลีลง และเพิ่มบอร์ดที่มีประสบการณ์หลากหลายมากขึ้น

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้จาก Elliott Management

ฝั่งของซัมซุงออกมารับว่าจะ “พิจารณาข้อเสนอนี้” ในฐานะที่ Elliott เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธในทันที

ข้อมูลจาก Elliott, New York Times, Korea Herald, SamMobile

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา