“ไม่เจ๊งไม่เปลี่ยน” ทำตลาดทีวี 3 ล้านเครื่องนิ่งสนิท แล้ว Samsung จะรักษาเบอร์หนึ่งอย่างไร

ราคา Smartphone กับโทรทัศน์เริ่มมีราคาใกล้เคียงกันมากขึ้น แต่อย่างแรกผู้บริโภคกลับเปลี่ยนทุก 2 ปี ส่วนอย่างหลังถ้าไม่เจ๊งไม่เปลี่ยน จึงกลายเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ตลาดนี้ไม่เติบโต จนผู้เล่นในตลาดต้องแข่งขันกันหนัก

3 ล้านเครื่องที่นิ่งมาหลายปี

ปัจจุบันภาพรวมตลาดโทรทัศน์นั้นเติบโตน้อยมากมายหลายปีแล้ว โดยล่าสุดปี 2560 คาดการณ์เพิ่มขึ้นแค่ 1% ในแง่จำนวน คิดเป็นราว 3 ล้านเครื่อง ส่วนมูลค่าจะเติบโต 3% คิดเป็นราว 30,000 ล้านบาท ก็เพราะทุกครัวเรือนมีโทรทัศน์กันอยู่แล้ว และแต่ละบ้านก็ไม่ได้ขยายห้อง หรือถ้ามีสมาชิกเพิ่ม โทรทัศน์เครื่องเดิมก็ยังใช้ได้ ที่สำคัญคือปัจจัยเรื่องไม่พังไม่เปลี่ยน

วรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำในตลาดโทรทัศน์ระดับโลก และในประเทศไทย การทำตลาดที่นี่ค่อนข้างมีความท้าทาย เพราะการเปลี่ยนโทรทัศน์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ของผู้บริโภค ดังนั้นการจูงใจเพียงเรื่องราคาอาจจะไม่พอ และนวัตกรรมน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า

“ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว การเปลี่ยนโทรทัศน์จะอยู่ที่ 5 ปี แต่ในไทยขั้นต่ำอยู่แค่ 7 ปี แต่ส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนจนกว่าจะเจ๊ง ดังนั้นการทำตลาดต้องสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่าถ้าเปลี่ยนแล้วดีอย่างไร ยิ่งโทรทัศน์ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้เป็นแบบจอตู้ถึง 50% ของการใช้งานทั้งหมด ดังนั้นมันยังมีโอกาสอยู่ เพียงแต่ต้องทำให้เป็นเท่านั้น”

เป็นเบอร์หนึ่งต้องขับเคลื่อนตลาด

ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นเบอร์หนึ่งของตลาดโทรทัศน์ หากเน้นแค่ราคาก็คงไม่ได้ ดังนั้นการมุ่งทำตลาดกลุ่มสินค้าระดับกลางถึงบนใน Series UHD หรือราคาประมาณ 30,000 บาท และมีหน้าจอตั้งแต่ 49 นิ้ว คือกลยุทธ์หลักของบริษัท รวมถึงการส่งนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับตลาดให้สูงขึ้น และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาดเช่นกัน

อย่างล่าสุดวางจำหน่ายโทรทัศน์ตระกูล QLED ผ่านการใช้เทคโนโลยี Quantum Dot ที่ยกระดับการแสดงภาพให้ดีกว่า และแตกต่างกับเทคโนโลยี OLED ที่คู่แข่งทำตลาดอยู่ เพราะตัวนั้นเหมาะแก่การใช้งานบนโทรศัพท์มือถือมากกว่า โดยโทรทัศน์ตระกูลนี้ราคาเริ่มต้นราวแสนบาท จนไปถึง 6.5 แสนบาท มีขนาดตั้งแต่ 55-88 นิ้ว

เมื่อพรีเมียม การขายจึงสำคัญ

ทั้งนี้ยอดขายโทรทัศน์ของ Samsung ในประเทศไทยมาจากกลุ่มสินค้าพรีเมียมถึง 70% ของทั้งหมด และปีนี้น่าจะขึ้นเป็น 80% ของรายได้ ดังนั้นการอบรมให้พนักงานมีทักษะการขายที่สูงขึ้นจึงจำเป็น เพราะเมื่อสินค้าแพง การตัดสินใจก็ยากขึ้น และการอบรมพนักงานอย่างเข้มข้นน่าจะเพิ่มยอดขายกลุ่มสินค้าราคาเกินแสนบาทเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว

สรุป

ตลาดโทรทัศน์นั้นอาจจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเยอะ โดยเฉพาะแบรนด์จีน แต่ถึงอย่างไรเมื่อดูในตลาดบนจะพบว่ามีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ทำตลาดได้อย่างยั่งยืน ยิ่งการเปลี่ยนใจของผู้บรฺิโภคชาวไทยที่เปลี่ยนโทรทัศน์ไม่เร็วเหมือนเปลี่ยนมือถือ จึงมองว่าโอกาสที่ตลาดโทรทัศน์จะยังไม่เติบโตก็คงยังมีขึ้นต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา