มองอนาคตกลุ่ม “สามมิตร” จากผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับท้องถิ่น สู่ Logistic Solution ในตลาดโลก

ถ้าพูดถึงแบรนด์ “สามมิตร” คนทั่วไปอาจรู้จักแค่แบรนด์หลังคารถกระบะ หรือถ้าอยู่ในวงการยานยนต์ก็อาจรู้ว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ แต่ตอนนี้ “สามมิตร” ไม่ได้เป็นแค่นั้น เพราะกำลังก้าวสู่แบรนด์ Logistic Solution

สามมิตร
จุดเด่นของสามมิตร

จากแค่ชิ้นส่วนรถบรรทุก สู่ทุกอย่างของการขนส่ง

เดิมที “สามมิตร” หรือบริษัทสามมิตรมอเตอร์สนั้นทำธุรกิจผู้ผลิตแหนบของรถยนต์รายแรกของไทยตั้งแต่ปี 2502 ก่อนขยับขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ และรถบรรทุก จนกลายเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทยในปัจจุบัน แต่การจะอยู่แค่ธุรกิจเดิมเพียงธุรกิจเดียวในยุคนี้ก็คงไม่ได้

ทำให้ “สามมิตร” ตัดสินใจรวมบริษัทต่างๆ มาอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ที่ชื่อว่า “สามมิตร กรุ๊ปโฮลดิ้ง” เพื่อทำให้ทุกธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งธุรกิจรถบรรทุก-รถพ่วง, ธุรกิจอะไหล่, ธุรกิจรับจ้างผลิต, ธุรกิจพลังงานสีเขียว, ธุรกิจรถกระบะดัดแปลง และอื่นๆ แถมสร้าง SSM Digital Platform ขึ้นมาเชื่อมต่อด้วย

สามมิตร
ยงยุทธ โพธิ์ศิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามมิตร กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด

ยงยุทธ โพธิ์ศิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามมิตร กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด เล่าให้ฟังว่า การวางโครงสร้างธุรกิจใหม่นั้นเป็นการรวม 22 บริษัทย่อยเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยยกระดับแต่ละธุรกิจ เพื่อเดินหน้าแผนผู้ให้บริการ Logistic Solution อย่างยั่งยืน

โอกาสยังเปิดกว้างทั้งไทย และในต่างประเทศ

“เราตั้งโฮลดิ้งมา 2 ปีแล้ว และเห็นสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย เพราะทุกบริษัทต่างช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวผ่านปัจจัยบวกต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ทำให้การเลือกเดินกลยุทธ์นี้น่าจะทำให้บริษัทสามารถมีรายได้ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2567 ได้”

สามมิตร
8 ธุรกิจหลักของสามมิตร

สำหรับในไทยนั้น “สามมิตร” เป็นผู้นำในตลาดรถบรรทุก-รถพ่วง รวมถึงผู้ผลิตอะไหล่รถรูปแบบดังกล่าวเช่นกัน ยิ่งหลังจากนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นอีกโอกาสในการสร้างยอดขายเติบโตในกลุ่มสินค้านี้ ประกอบกับตัวธุรกิจพลังงานทางเลือกที่ยังเป็นที่นิยมของคนไทยก็เป็นอีกโอกาสสำคัญของบริษัท

ขณะเดียวกันในต่างประเทศนั้น ในกลุ่มประเทศโดยรอบไทย หรือ CLMV ก็ยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ทำให้บริษัทจะเร่งเข้าไปทำตลาดด้วย ประกอบกับการขยายโรงงานในต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์เพิ่มอีกหนึ่งแห่งในปี 2563 จากที่มีในจีน 2 แห่ง และอินโดนิเซีย 1 แห่ง ก็เพิ่มความแข็งแกร่งในการทำตลาดต่างประเทศเช่นกัน

สามมิตร
การทำตลาดในต่างประเทศของสามมิตร

เทคโนโลยี และนวัตกรรมคืออีกอาวุธสำคัญ

“ปีนี้เราตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 7,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% แต่ส่วนที่แตกต่างจากปีก่อนมากๆ คือรายได้ที่มาจากต่างประเทศ เพราะในปี 2561 มันมีรายได้จากต่างประเทศแค่ 8% ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นการขยายโรงงานในต่างประเทศ รวมถึง 11 โรงงานที่แข็งแกร่งในไทยก็น่าจะช่วยเราเติบโตได้เยอะ”

ทั้งนี้ “สามมิตร” มีการลงทุนวิจัย และพัฒนาสินค้า รวมถึงบริการใหม่ๆ เป็นสัดส่วน 2% ของรายได้มาโดยตลอด และจุดนี้เองคืออีกอาวุธหลักของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยหลังจากนี้ เพราะทางกลุ่มได้สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมต่อรถบรรทุก พร้อมกับวิเคราะห์การขับขี่จนทำให้การขนส่งนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

สามมิตร
Logistic Solution ของสามมิตร

อย่างไรก็ตามถึงจะมีนวัตกรรมใหม่เข้ามา ตัวสัดส่วนรายได้ของ “สามมิตร” ยังมาจากธุรกิจรถบรรทุก และอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์เป็นหลัก หรือ 70% ของทั้งหมด ดังนั้นคงต้องจับตาดูต่อไปว่า “สามมิตร” จะปรับตัวเองได้เร็วแค่ไหน และพร้อมเป็น Logistic Solution เต็มรูปแบบในตลาดโลกได้หรือไม่

สรุป

ก่อนหน้านี้ “สามมิตร” เคยจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น จึงเชื่อว่าตัวเงินทุนหลังจากนี้น่าจะขับเคลื่อนธุรกิจได้อีกไกล ยิ่งมีอาวุธทางเทคโนโลยี ประกอบกับการเตรียมรุกธุรกิจรถเช่าสำหรับทัวร์จีนก็ยิ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ “สามมิตร” จะสร้างความครบท้วนในโลกธุรกิจขนส่ง

สามมิตร
ยอดขายของสามมิตร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา