จับตาสมิติเวช ลุยตลาดเฉพาะทาง จับคนญี่ปุ่น คนจีน โรงพยาบาลเด็ก

กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช ถือเป็นแบรนด์โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย และอยู่ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ช่วงหลัง โรงพยาบาลสมิติเวชมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ หันไปจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางมากขึ้น ได้แก่ เปิดโรงพยาบาลสำหรับคนญี่ปุ่น คนจีน และโรงพยาบาลเด็ก

เบื้องหลังของยุทธศาสตร์นี้คืออะไร Brand Inside มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลสมิติเวช และ BNH พร้อมกับ นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ถึงทิศทางของการปรับตัวและการบริหารงานโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน ในงานเปิดตัว Samitivej Mobile Health ที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2561

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

โรงพยาบาลเด็ก อะไรยากๆ ที่นี่ทำได้

ถาม: ในช่วงที่ผ่านมาสมิติเวชเปิดสาขาเยอะมาก อย่าง สมิติเวชไชน่าทาวน์ (เยาวราช) มีชลบุรี มีญี่ปุ่น อะไรทำให้สมิติเวชเริ่มหันจับตลาดโรงพยาบาลเฉพาะทาง อย่างเช่น โรงพยาบาลเด็ก (Children’s Hospital) แล้วแบรนด์เหล่านี้เป็นจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อกับกลุ่ม BDMS ทั้งหมดอย่างไร?

นพ.ชัยรัตน์: พูดง่ายๆ สำหรับโรงพยาบาลเด็ก ที่เลือกมาทำเพราะมันเป็นจุดแข็งของเรา ที่สอดคล้องกับโอกาสและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

ปีหนึ่งๆ มีเด็กที่เสียชีวิตจากการผ่าตัดโรคหัวใจ เสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเยอะมาก บังเอิญว่าเราได้ปรมาจารย์ทั้งหลายจากศิริราช และหลายๆ แห่ง รวมถึงคนของเราเอง ซึ่งมีแพทย์ทั้งจากสมิติเวชสุขุมวิทและศรีนครินทร์ รวมกันร้อยกว่าคน มีคนระดับศาสตราจารย์เต็มไปหมด ถือเป็นจุดแข็งของเรา ซึ่งตรงกับวิกฤตเด็กที่เกิดขึ้นในประเทศ ตรงกับโอกาสที่เกิดขึ้น เลยนำมาผนวกรวมกัน

ในเอเชียถ้าเราไม่นับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชถือว่าเราเป็นผู้นำ อะไรที่ยากๆ ที่ใครทำไม่ได้ ที่นี่ทำได้

ภาพจาก โรงพยาบาลสมิติเวช

ถาม: ในระดับนานาชาติ เรามีความร่วมมือกับที่ไหนบ้างครับ?

นพ. อดินันท์: เราดูที่ความสนใจในแง่ของความชำนาญที่เรามีก่อน แล้วเราจะไปร่วมมือกับศูนย์ด้านนั้น อย่างเช่น ภาพรวมใหญ่ๆ ของเครือ BDMS ก็มี Oregon Health & Science ที่มี Doernbecher Children’s Hospital อยู่ ซึ่งมีชื่อเสียง ก็ตรงความสนใจพอดี เลยได้ร่วมมือกัน

นอกจากที่นั่นแล้ว เราก็ยังมีกับทาง Takatsuki General Hospital ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความชำนาญในการดูแลเด็กอยู่ ในความร่วมมือเหล่านี้ ก็ทำให้เราสามารถเข้าถึงบางตลาดได้ด้วยในตัว

สมิติเวชไชน่าทาวน์ จับตลาดจีน

ถาม: พอมาดูที่คนไข้ อย่างที่ศรีนครินทร์เน้นกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง ส่วนสุขุมวิทก็ชัดเจนว่าเป็นญี่ปุ่นเลย แล้วไชน่าทาวน์ อะไรคือเหตุผลที่เราต้องไปเปิดตรงนั้น?

นพ.ชัยรัตน์: ถ้าตอบตรงๆ คือเป็นนโยบายของเครือ BDMS แต่อีกด้านคือเรื่องของโอกาสทางธุรกิจ

คุณคิดว่าโอกาสของประเทศจีนมีเยอะขึ้นไหมล่ะ? ในทุกประเทศมีชุมชนคนจีนอยู่ ถ้าเราสามารถไปอยู่กับเขาและเป็นส่วนหนึ่งของคนจีนได้ ไม่ว่าจะเป็นจีนเก่า-จีนใหม่ ถ้าเราสามารถไปสร้างประโยชน์ให้กับเขา เหมือนเป็นลูกหลานเขา แล้วก็ตอบสนองเขา ขอให้เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไชน่าทาวน์ นี่คือแนวคิดของเรา เดี๋ยวคนจีนก็มาเอง นักท่องเที่ยวจีนก็จะมาหาเราด้วย

แต่การเจริญเติบโตนี้ต้องเป็นเพราะชุมชนเขายอมรับเราด้วย ถ้าเมื่อไรที่ชุมชนไม่ยอมรับ คุณไม่มีทางเจริญได้

ปกติคนในชุมชนจะมีคนไข้ขาประจำในแต่ละโรงพยาบาลแล้ว เรื่องแรกที่เราทำสำหรับสมิติเวช ไชน่าทาวน์ จึงเป็นแผนกฉุกเฉิน เพราะเรามีคนไข้บางส่วนจากย่านเยาวราชมาที่สาขาสุขุมวิทด้วย แต่การมาที่สุขุมวิทโดยเฉพาะป่วยฉุกเฉินเป็นเรื่องยาก เดินทางไกล พอเขาเห็นว่าเป็นสมิติเวช ไชน่าทาวน์ แถมอยู่ใกล้บ้าน ก็ลองใช้ดู พอลองใช้ดูแล้วรู้สึกว่าใช่ ดีมากเลย วันหลังเขาก็มาที่เรา ไว้ใจเรา จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่สำคัญ

ตอนนี้คนไข้จากประเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคนรายได้สูง เริ่มออกมาจากต่างประเทศ และเขาเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ง่ายมาก สมิติเวชจัดการกับเรื่องแบบนี้อย่างไรบ้าง?

นพ. อดินันท์: สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร จีนเป็นตลาดที่กว้าง แต่ก็มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไปตามที่เขามองหาอยู่ เรื่องที่เขาเข้ามาบ้านเราเยอะที่สุด คือการทำ IVF (In Vitro Fertilization) สำหรับผู้มีบุตรยาก ถ้าเราสามารถตอบสนองเขาได้ เราก็สามารถทำตลาดเยอะมาก หากินได้ไม่หมดเลย

Samitivej Chinatown
ภาพจาก โรงพยาบาลสมิติเวช

Japanese Hospital by Samitivej ตึกใหม่รับตลาดญี่ปุ่น

ถาม: สาขาสุขุมวิท ทำไมเราถึงต้องสร้างเป็นแผนกเฉพาะ และกลายเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนญี่ปุ่นไปเลย?

นพ.ชัยรัตน์: ประการแรกคือ ตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการอย่างมาก อย่างเขตเศรษฐกิจ EEC มีทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามาเยอะมาก แต่คนญี่ปุ่นที่เข้ามามากที่สุด ประการที่สองคือแบรนด์สมิติเวชเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ถ้าไปโตเกียว โอซาก้า แล้วไปถามคนที่โน่นถึงสมิติเวช ทุกคนรู้จักหมด แต่ต้องเป็นคนญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่น เวลาจะไปลงทุนในต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาต้องดูคือมาแล้วต้องมีกำไร อยู่ได้ อย่างที่สองคือลูกเขาต้องมีโรงเรียนญี่ปุ่นให้เรียน ตัวเขาและครอบครัวต้องมีสถานรักษาที่เขาไว้ใจ

สมิติเวช สุขุมวิท และ ศรีราชา เป็นสองโรงพยาบาลแรกนอกประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการรับรองคุณภาพเหมือนโรงพยาบาลญี่ปุ่น โดยเราเชิญเขามาตรวจ

Japanese Hospital by Samitivej สาขาศรีราชา (ภาพจากวิดีโอของโรงพยาบาล)

จะเห็นว่าเมื่อตลาดมีความต้องการ เราก็ต้องเข้าไปตอบสนองความต้องการของตลาด แต่จะเข้าไปตอบสนองซี้ซั้วไม่ได้ ต้องเข้าไปตอบสนองสิ่งที่เราเก่งอยู่แล้ว

คนญี่ปุ่นมีปัญหาสุขภาพอะไร? โรคกระเพาะ โรคลำไส้ เราเก่งเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้ เรายังรวมตัวกับโรงพยาบาลซาโน่ และโรงพยาบาลทาคาซากิ ในเรื่องเด็ก

พอเห็นโอกาส เราเลยลงทุน เปิดเป็นตึก 7 ชั้น เป็นแบรนด์ใหม่เลยว่า Japanese Hospital by Samitivej

ตัวนี้จะไปเชื่อมกับสาขาศรีราชา ที่นั่นเป็นชั้น 12 เพียงชั้นเดียว แต่ที่นี่คือ 7 ชั้น ทั้งตึก ซึ่งอาจมีคนไข้ต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย โรงพยาบาลทั้งสองแห่งจะเชื่อมโยงกัน เวลาเขามีอะไรที่แถบ EEC ก็จะไปที่ศรีราชา ส่วนโรคยากเขาก็ส่งมาที่สุขุมวิท เป็น One Hospital, Two Campuses

คนไข้ตะวันออกกลางไม่ลด เน้นสร้างความไว้ใจ

ถาม: นโยบายของรัฐบาลในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ลดการสนับสนุนประชากรที่ออกไปรักษาตัวทางการแพทย์ในต่างประเทศ สำหรับสมิติเวช ศรีนครินทร์ ซึ่งเน้นคนไข้จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เราจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร?

นพ. อดินันท์: เราเพิ่งพบกับตัวแทนของสถานทูตในประเทศตะวันออกกลาง เขายังยืนยันว่านโยบายของเขาคือการลดการออกมารักษาของประชากรของเขาในต่างประเทศโดยไม่จำเป็น หมายความว่าเป็นการรักษาโรคที่ไม่มีความรุนแรง

โรคที่ยังคงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ การรักษาพิเศษ เขายังต้องส่งมาให้เราดูแล แต่พอโรคเริ่มดีขึ้น ต้องการการรักษาแบบพื้นฐานเท่านั้น เราก็ส่งกลับไป

การที่เราดำเนินการเช่นนี้ ทำให้เขารู้สึกว่าเรารักษาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้ ทั้งในแง่ของงบประมาณขิงประเทศ กลายเป็นว่าเขาส่งมาให้เราเยอะขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ว่าแทนที่เราจะเก็บเคสเอาไว้นานๆ เรารักษาจำเป็นแล้วกลับไปรักษาต่อที่บ้าน

น.พ.ชัยรัตน์: เราก็เลยได้เรื่องของความไว้วางใจ เราส่งทีมไปช่วยเขาก็มี แล้วก็สิ่งที่เขาทำไม่ได้จริงๆ เขาก็จะส่งมาหาเรา ที่น่าสนใจคือตัวเลขผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางของเราเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

เรามีแต่ขึ้น เพราะว่าเราเลือกทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ และสอง เราช่วยเขา เขาก็กลับมาไว้ใจเรา

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

ขอขอบคุณโรงพยาบาลสมิติเวช คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ที่ได้อนุญาตให้สัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา