ทำไมสมิติเวชต้องเปิดบริการพบแพทย์ออนไลน์ 24 ชม. ทั้งจ่ายยา-เจาะเลือดถึงบ้าน-เคลมประกันได้

ในไทยมีแอพพลิเคชั่นขอคำปรึกษากับแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์มากมาย ส่วนใหญ่เป็น Platform ที่เปิดให้หมอและคนที่อยากปรึกษาหมอมาคุยกันได้ แต่ตอนนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ลงมาแข่งขันในตลาดนี้แล้ว

ทำไมโรงพยาบาลต้องเพิ่มบริการ VDO Call ปรึกษาหมอออนไลน์

ปัจจุบันในประเทศไทยมีสตาร์ทอัพหลายเจ้าสร้าง Platform ให้หมอและคนที่อยากปรึกษาหมอ สามารถนัดเวลาเพื่อขอคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น See Doctor Nowhonestdocs, Raksameetdoc24hr ฯลฯ บางเจ้าให้บริการเฉพาะทางเช่น Ooca เน้นเรื่องจิตวิทยา

การขอคำปรึกษาแพทย์ออนไลน์ มีข้อดี สามารถนัดแพทย์ในวันเวลาที่สะดวก  เลือกหมอที่อยากปรึกษาได้จากหลายโรงพยาบาล ฯลฯ ส่วนจุดอ่อนของ Platform กลุ่มนี้คือ ค่าใช้บริการก็สูง บางเว็บไม่สามารถจ่ายยาได้ คนบางกลุ่มยังไม่เชื่อมั่นในการปรึกษาหมอผ่านช่องทางออนไลน์ และไม่สามารถให้บริการฉุกเฉินทางการแพทย์ได้

ปัจจัยหลักที่ผู้เล่นตลาดสุขภาพ หรือเทรนด์ Healthcare มีมากขึ้น เพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และคนต้องการเลือกหมอได้มากขึ้น ที่สำคัญคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้หลายโรงพยาบาลเปิดบอร์ดตอบคำถามสุขภาพบนเว็บไซต์ ล่าสุดโรงพยาบาลสมิติเวชต่อยอดบริการเดิมบนออฟไลน์ให้มาอยู่บนระบบออนไลน์ ทั้งขยายฐานลูกค้าเดิมที่อยากหาหมอจากที่บ้าน และเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้โรงพยาบาลด้วย

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

สมิติเวชเปิดบริการ Samitivej Virtual Hospital หาหมอออนไลน์ 24 ชม.

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช บอกว่า สมิติเวชเปิดตัว Samitivej Virtual Hospital บริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชม. (VDO Call) เริ่มวันที่ 1 เม.ย. 2562 โดยปัจจุบันเริ่มให้บริการในช่วงเวลา 8.00-20.00 น.เท่านั้น

เมื่อต้องการพบแพทย์สามารถใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น Samitivej Plus ทั้งนี้หากแพทย์สั่งให้เจาะเลือดจะมีบริการ Test @Home หรือบริการเจาะเลือดที่บ้านเพื่อส่งห้องปฏิบัติการ หรือหากแพทย์สั่งยาจะมีบริการ Medicine Delivery ส่งยาถึงบ้านตามมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล

Samitivej Chinatown

เบื้องหลังบริการใหม่ สมิติเวชจับมือ 6 พาร์ทเนอร์ ขยายธุรกิจ Healthcare

เมื่อโรงพยาบาลสมิติเวชหันมาให้บริการช่องทางออนไลน์ จึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรหลายด้านทั้งเทคโนโลยี การเงิน อสังหาริมทรัพย์ เช่น

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อขยายฐานลูกค้าของ SCB Wealth โดยมีบริการที่ปรึกษาสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ และบริการเช็คสุขภาพนอกสถานที่จากทีมสมิติเวช
  • บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ให้ผู้ถือกรมธรรม์ประกันของบริษัทสามารถใช้บริการหมอออนไลน์ และเคลมค่าใช้จ่ายได้ตามปกติ (เหมือนการไปพบหมอที่โรงพยาบาลตามปกติ)
  • ริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS มาสร้าง Online Payment Platform บนโซเชียลต่างๆ ในบริการ Virtual Hospital
  • LINE ประเทศไทย ทำ API เชื่อมกับสมิติเวช ให้ลูกค้าใช้ Virtual Hospital ง่ายขึ้นและยังเป็นตัวกลางที่จัดส่งยาให้ลูกค้าที่ใช้บริการ Virtual Hospital ด้วย
  • บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ร่วมกับสมิติเวชทำระบบดูแลเฝ้าระวังการใช้ชีวิตในบ้าน ชื่อ “DoCare Protect” ซึ่งจะลดความเสี่ยงการล้มในห้องน้ำ การนอนหลับที่ได้ดีขึ้น ฯลฯ
  • แสนสิริ โตคิว คอร์เปอเรชั่น สร้าง “Wellness Residence” หรือโครงการคอนโดมิเนียมด้านสุขภาพครบวงจร มีทั้งบริการทางการแพทย์ ให้คำแนะนำ เชิงป้องกัน และตรวจสุขภาพทางไกลทั้ง บริการเจาะเลือดถึงโครงการ และบริการ Medicine Delivery ส่งยาให้กับลูกบ้าน

สรุป

จากจุดแข็งของโรงพยาบาลด้านการรักษาโรค พัฒนาสู่การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหญ่ขึ้น แต่บริการใหม่ๆ ต้องมีพื้นฐานจากเรื่องในชีวิตประจำวัน โรงพยาบาลเลยต้องจับมือกับพันธมิตรทุกธุรกิจเพื่อทำให้ลูกค้าใช้บริการง่ายที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา