กลุ่มสามารถ เตรียมส่ง บมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ SAV ผู้ให้บริการด้านวิทยุการบินครบวงจร เข้า IPO ในปี 2023 หวังเติบโตได้ไกลเหมือน AOT หลังบริษัทมีรายได้หลักผ่านการเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาระยะเวลารวม 49 ปี เพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศที่นั่น
สามารถ เตรียมนำ SAV เข้า IPO
วัฒนชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ. สามารถ คอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่มสามารถ เล่าให้ฟังว่า จากการฟื้นตัวของธุรกิจการบินในปัจจุบัน ประกอบกับความเชี่ยวชาญในการทำตลาดธุรกิจบริหารจัดการจราจรทางอากาศเป็นเวลานาน
ทำให้บริษัทเตรียมนำ บมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ SAV เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งหลังเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาระยะเวลารวม 49 ปี หรือถึงปี 2051 เพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศที่นั่น
ในปี 2023 กัมพูชา มีสนามบิน 6 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินนานาชาติพนมเปญ, สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ, สนามบินนานาชาติสีหนุ, สนามบินพระตะบอง, สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง โดยรายได้หลักของธุรกิจมาจากบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ 3 ประเภท คือ
- รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing &Take-off : Domestic)
- เที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International)
- รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight)
หวังกลับมาสร้างรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปี 2022 ทาง SAV มีรายได้รวม 1,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 724 ล้านบาทในปี 2021 และ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 199.5 ล้านบาท ซึ่งหลังจากผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศกัมพูชา และประเทศในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโตอีกครั้ง
“เมื่อ SAV เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์จะเป็น การ Unlock Value เนื่องจาก SAV เป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพสูง อยู่ในอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตสูง และต่อเนื่อง ธุรกิจมีความมั่นคงสูง มีความสามารถในการทำกำไรสูง และเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินในเอเชียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง”
ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ปี 2020 รายได้ SAV ลดลงไปจนเหลือ 724 ล้านบาท ส่วนปี 2021 ทำได้ 459 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ทำให้ปี 2022 กลับมาเติบโต 165% และในปี 2024 มีโอกาสกลับไปที่ 2,000 ล้านบาทได้อีกครั้ง และใน 6-7 ปีข้างหน้าอาจไปที่ 3,000 ล้านบาท
เคลียร์ภาระหนี้ สร้างโอกาสลงทุนในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มสามารถต้องการให้ SAV ประสบความสำเร็จเหมือน AOT หรือ บมจ. ท่าอากาศยาน ไทย เนื่องจากในธุรกิจนี้มีความเป็น Monopoly และแตกต่างกับธุรกิจสายการบินที่มีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ธุรกิจบริหารท่าอากาศยานไม่มีความเสี่ยงดังกล่าว
SAV มีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 224,000,000 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 35.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น
- หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ
- หุ้นสามัญเดิมและจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ โดยมูลค่าที่ตราไว้ เท่ากับ 0.50 บาทต่อหุ้น
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ของ SAV เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เพราะสัญญาสัมปทานการให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจรกับประเทศกัมพูชาผ่าน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) สามารถขยายได้อีก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา