กลุ่มสามารถ พลิกฟื้นธุรกิจเน้น SAMART Digital ใหม่ทั้งหมด ยกเลิกธุรกิจมือถือ i-mobile

กลุ่มสามารถ กลับมาพลิกฟื้นธุรกิจ SAMART Digital อีกครั้ง หลังจากปรับเปลี่ยนธุรกิจ ตัด i-mobile เดิมออก อัดงบลงทุนในระบบ Digital Network เต็มตัว ด้านธุรกิจอื่นๆ ทั้ง ICT Solution, U-TRANS และ OTO เติบโตเพิ่มขึ้น จากการรับรู้รายได้จากงานฝั่งราชการและรัฐบาลเป็นหลัก คาดปิดเป้ารายได้ในปี 2019 กว่า 20,000 ล้านบาท

ยกเลิก i-mobile เน้นธุรกิจดิจิทัล

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น บอกว่า ภาพรวมของกลุ่มสามารถปีที่ผ่านมา มีรายได้ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ประมาณ 30% เนื่องมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ SAMART Digital ใหม่ทั้งหมด ที่ได้ยกเลิกธุรกิจด้านมือถือ i-mobile ทั้งหมด และอยู่ในช่วงการวางโครงสร้าง Digital Network ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

ปีนี้จะเน้นการให้บริการ Digital Trucked Radio เป็นหลัก โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งมีกว่า 90% และที่เหลือเป็นเอกชน ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการเรื่องของความปลอดภัยในการสื่อสาร และต้องการสื่อสารระหว่างกลุ่มเป็นหลัก โดยร่วมมือกับ CAT ในการวางโครงข่าย โดยคาดว่าปีนี้ จะมีลูกค้าทั้งหมดกว่า 1 ล้านราย

“กลุ่มลูกค้าที่ใช้ Digital Trucked Radio เป็นกลุ่มที่มี ARPU เฉลี่ยเดือนละ 800 บาท ส่วนแบ่งที่เข้าบริษัทมีประมาณ 500 บาทต่อหมายเลข ยังไม่รวมถึงบริการให้เช่าเครื่องกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่าบริการดังกล่าว กลับมาทำให้กลุ่ม SAMART Digital มีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าที่วางไว้กว่า 4,000 ล้านบาท”

ปรับธุรกิจเน้นงานที่ Recurring income

วัฒน์ชัย เน้นย้ำว่า จะไม่เข้าไปทำธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจมือถือ i-mobile ที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สุดท้ายสมาร์ทโฟนเหลือแต่แบรนด์ใหญ่ๆ เท่านั้น แบรนด์เล็กตายหมด ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ เราขาดทุนจากการซื้อมาขายไปของสมาร์ทโฟน

ขณะที่ธุรกิจ Digital Trucked Radio เป็นธุรกิจที่การแข่งขันต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีช้า มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์รายได้จากธุรกิจ Digital Trucked Radio ประมาณเดือนละ 50 ล้านบาท รายได้ที่เป็น Recurring income ถือว่าทำให้รับรู้รายได้อย่างมั่นคง

กวาดงานราชการ หน่วยงานรัฐเกือบ 10,000 ล้านบาท

งานด้าน ICT Solution กลุ่มสามารถถือว่าคว้างานหน่วยงานรัฐ และราชการมาครองไว้เยอะมาก โดยปีนี้ คาดการณ์การรับรู้รายได้จากการประมูลงานกว่า 14,000 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท ลูกค้าหลักๆ ของกลุ่มสามารถ เป็น การไฟฟ้าส่วนนภูมิภาค, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, กรมสรรพาสามิต เป็นต้น กว่า 40% เป็นรายได้ Recurring income

ส่วนธุรกิจ U-TRANS ถือว่าเติบโตไปได้ดี โดยเฉพาะการนำ บริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นบริษัทในกัมพูชา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพื่อขยายธุรกิจทั้งในส่วนของ Air Traffic Control ไปยังประเทศเพื่อนบ้านและการรับงานด้านการวางสายเคเบิลลงใต้ดิน (Underground Cable) ซึ่งมีมูลค่าโครงการมากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ล่าสุด บริษัท เทด้า คว้างานก่อสร้างสถานีต้นทางคลองด่านของ กฟน. ในนาม The Consortium of TEDA-ITE-STC” มูลค่า 1,635 พันล้านบาท (โดยเป็นสัดส่วนของเทด้า มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท)

กลุ่มธุรกิจการให้บริการ Contact Center อย่าง บมจ. วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) ที่เน้นงานไปทางลูกค้ากลุ่มธนาคาร และกลุ่มธุรกิจประกัน นำเรื่องของ AI เข้ามาบริการในทุกช่องทาง เช่นการนำ Chatbot มาให้บริการสอบถามข้อมูลผ่านช่องทาง Line Connect, facebook และ website ที่ช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า

ตั้งเป้ารายได้ปี 2019 ไว้ 20,000 ล้านบาท

ภาพรวมในปีนี้ของกลุ่มสามารถ มองว่าการพลิกฟื้นของกลุ่มธุรกิจ SAMART Digital ที่กลับมามีรายได้ตามเป้าที่ 4,000 ล้านบาท รวมถึงรายได้ที่เติบโตขึ้นจากธุรกิจอื่นๆ จะสามารถพาบริษัทมีรายได้รวม 20,000 ล้านบาท ส่วนเรื่องของการเมือง ที่จะมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบอะไร เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการที่เน้นงานบริการ งานบริหารจัดการ ดูแลซ่อมบำรุงเป็นหลัก ซึ่งจำเป็นต้องใช้งานตามปกติอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา