สายซีฟู้ดและแซลมอนสะเทือน: สงครามรัสเซีย-ยูเครนลุกลาม ทำราคาพุ่งอีกแล้ว

หลังจากที่รัสเซีย-ยูเครน ปะทะ ขัดแย้งกันมาได้ระยะหนึ่ง ส่งผลกระทบให้สินค้าหลากหลายราคาดีดตัวพุ่งสูงขึ้นมาก ทั้งน้ำมัน ทองคำ ผันผวนจนน่ากังวลใจ ล่าสุด ลามมาถึงแซลมอนและอาหารซีฟู้ดแล้ว ราคาพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ

Salmon-Russia-Ukraine

ขึ้นชื่อว่าสงคราม ไม่สร้างประโยชน์ให้ใครทั้งนั้นนอกจากพ่อค้าอาวุธ ตอนนี้มีรายงานจากญี่ปุ่นว่าราคาปลาแซลมอนและอาหารซีฟู้ดอีกหลากหลายชนิดที่ต้องนำเข้านั้นมีราคาแพงขึ้น การที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน บีบให้สายการบินไม่มีทางเลือก จำต้องเลือกเส้นทางบินใหม่ ทำให้ต้นทุนของอาหารเพิ่มขึ้นไปด้วย

ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดปลาโทโยซุ (Toyosu) ตลาดค้าส่งปลาของญี่ปุ่น รายงานว่า ปลาแซลมอนนอร์เวย์มีราคากิโลกรัมละ 2,100 เยนหรือ 17 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 568 บาท คนงานในตลาดเล่าว่า เขาไม่เคยพบไม่เคยเห็นราคาปลาในระดับนี้มาก่อน มันเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มนำเข้าปลาแซลมอนสดๆ มา เปรียบเทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงแรกๆ ที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน ราคาปลาอยู่ที่ 1,800 เยนต่อกิโลกรัม จากนั้นราคาปลาก็อยู่ที่ 2,000 เยนมาตอดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเรื่อยมา

เครื่องบินขนส่งจากยุโรปมาญี่ปุ่นไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้ารัสเซียขณะที่มีสงครามได้ ทำให้จำต้องใช้เส้นทางบินที่อ้อมกว่าเดิม ส่งผลให้ต้นทุนในการขนส่งราคาพุ่งขึ้นด้วย ราคาเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาปลาแซลมอนสดก็พุ่งขึ้นไปตามๆ กัน บริษัท Choushimaru ร้านอาหารซูชิในจังหวัดชิบะ ญี่ปุ่น ถึงกับต้องระงับการขาย aurora salmon หรือแซลมอนระดับพรีเมียมที่ได้รับความใส่ใจทั้งการดูแลและรสชาติ หลังจากที่สงครามเริ่มขึ้น ราคาก็แพงเพิ่มขึ้น 20% เป็น 363 เยนต่อแซลมอน 2 ชิ้น ทาง Choushimaru ขายแซลมอนในปริมาณที่จำกัดมากขึ้นและยังเสนอให้ใช้แซลมอนที่เลี้ยงในทางตอนเหนือของจังหวัด Miyagi เป็นทางเลือกแทน

Salmon
Photo by Caroline Attwood on Unsplash

ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างถูกบีบให้ต้องปรับตัวกันเป็นแถว นับตั้งแต่ช่วงต้นมีนาคม ค้าปลีกอย่าง Aeon ก็จัดซื้อปลาแซลมอนที่เลี้ยงในประเทศมากขึ้น ขณะที่ยอดสั่งซื้อแซลมอนจากนอร์เวย์ก็ลดจำนวนลงไปด้วย ไม่ใช่แค่แซลมอนเท่านั้น อาหารซีฟู้ประเภทอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ใส้ไข่ปลาจากสหรัฐฯ ก็ราคาแพงขึ้นถึง 10-15% ในช่วงเดือนมีนาคม เทียบจากปีก่อนหน้า ราคาที่ถีบตัวสูงนี้ก็คาดว่าจะมาจากการขนส่งจากรัสเซียที่ลดลงไปด้วยนั่นเอง

บริษัทในฟูกูโอกะที่ทำเมนไทโกะ (mentaiko) หรือไข่ปลาคอดนำมาปรุงรส ต้องนำเข้าจากรัสเซียถึง 80% ก็กังวลสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้ต้องพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผลกระทบจากสงครามด้วยเช่นกัน เฉพาะปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารทะเลจากรัสเซียเพียง 8.6% ของอาหารทะเลนำเข้าทั้งหมด ก็มีมูลค่ามากถึง 1.38 แสนล้านเยนหรือประมาณ 3.75 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังนำเข้าปูจากรัสเซียมากถึง 56% นำเข้าหอยเม่นจากรัสเซีย 47%

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอาหารทะเลที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะคิวชู ที่นำเข้าปูจากรัสเซียมากถึง 80% สำหรับในรัสเซียนั้นช่วงที่เป็นฤดูจับปูหนาแน่นคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ทางบริษัทก็กำลังมองหาปูจากประเทศอื่นแทนรัสเซียเช่นกัน อาทิ สินค้าจากแคนาดาแต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันกันในขณะที่ราคาอาหารในตลาดโลกต่างก็ถีบตัวสูงขึ้น

ที่มา – Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา