เราอยู่ในยุคที่รถเข็นหมา ขายดีกว่ารถเข็นเด็ก: เกาหลีใต้คนเกิดน้อยลง สินค้าสัตว์เลี้ยงขายดีขึ้น

ยุคนี้ รถเข็นน้องหมา ขายดีกว่ารถเข็นเด็กแล้ว

รายงานจาก Independent ระบุว่า ยอดขายรถเข็นน้องหมาแซงหน้ายอดขายรถเข็นเด็กได้ครั้งแรกของเกาหลีใต้ อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศในเอเชียตะวันออกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 0.78 ในปี 2022 ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลกและยังต่ำกว่าอัตราการทดแทนอีก

Pet stroller

(Replacement rate อัตราการทดแทน หมายถึง อัตราการเจริญพันธุ์ที่ทำให้ประชากรมีจำนวนคงที่ กล่าวคือ ถ้ามีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ 2:1 หมายความว่า ประชากรเกิดใหม่จะขึ้นมาทดแทนประชากรที่เสียชีวิตไป แต่เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ต่ำอยู่ที่ 0.78 ทำให้เมื่อเสียประชากรไปแล้ว จึงมีจำนวนประชากรที่ลดลงต่อเนื่องเพราะไม่ได้มีประชากรเกิดขึ้นมาทดแทน)

แนวโน้มของอัตราประชากรดังกล่าวสะท้อนผ่านยอดขายรถเข็นเด็ก เรื่องนี้ Independent รายงานโดยอ้างยอดขายจาก Gmarket แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ โดยอ้างจากการรายงานของ The Korea Times

The Korea Times รายงานไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายรถเข็นรถสำหรับสัตว์เลี้ยงแซงหน้ายอดขายรถเข็นสำหรับเด็กได้เป็นครั้งแรก

ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Gmarket ของเกาหลีใต้นั้นพบว่า เมื่อช่วงไตรมาสแรก ปี 2023 นั้น มียอดขายรถเข็นเด็กอยู่ที่ 43% ขณะที่ยอดขายรถเข็นสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมา น้องแมว อยู่ที่ 57%

เมื่อดูสถิติย้อนหลังพบว่า ในปี 2021 มียอดขายรถเข็นเด็กอยู่ที่ 67% ส่วนปี 2020 อยู่ที่ 64% และค่อยๆ ลดลงมาที่ 43% ในปี 2023 ขณะที่ยอดขายรถเข็นสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นจาก 33% ในปี 2021 เป็น 36% ในปี 2022 และพุ่งเป็น 57% ในปี 2023 ถือว่ายอดขายเติบโตสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่อัตราการเกิดของประชากรต่อการเกิดของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ 1 คนอยู่ที่ 0.78 ในปี 2022 ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก

Population

ย้อนกลับมาที่ไทยบ้าง อัตราการเกิด และอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำไม่แพ้ชาติไหน

ย้อนดูอัตราการเกิดของประชากรของไทยในรอบ 10 ปี ดังนี้

ปี 2023 จำนวน 517,934 คน อัตรา 3.15%
ปี 2022 จำนวน 502,107 คน อัตรา -7.79%
ปี 2021 จำนวน 544,570 คน อัตรา -7.28%
ปี 2020 จำนวน 587,368 คน อัตรา -4.98%
ปี 2019 จำนวน 618,205 คน อัตรา -7.22%
ปี 2018 จำนวน 666,366 คน อัตรา -5.21%
ปี 2017 จำนวน 703,003 คน อัตรา -0.14%
ปี 2016 จำนวน 704,058 คน อัตรา -4.38%
ปี 2015 จำนวน 736,352 คน อัตรา -5.15%
ปี 2014 จำนวน 776,370 คน อัตรา 0%

Total fertility rate

อัตราการเจริญพันธุ์ของไทย ก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

จากปี 1965 อัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 6.29
ปี 1975 อัตราลดลงอยู่ที่ 4.89
ปี 1985 อยู่ที่ 2.7
ปี 1989 อยู่ที่ 2.4
ปี 1991 อยู่ที่ 2.2
ปี 1995 อยู่ที่ 2.02
ปี 2005 อยู่ที่ 1.47
ปี 2015 อยู่ที่ 1.6

เกาหลีใต้และไทยมีอัตราการเกิดและอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงต่อเนื่องเหมือนกัน มียอดขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นถล่มทลายไม่ต่างกัน เนื่องจากคนแต่งงานน้อยลง แม้แต่งงานหรือไม่ได้แต่งงานแต่ก็เป็นครอบครัวที่ไม่มีลูกเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงและเลี้ยงพวกเขาไม่ต่างจากการเลี้ยงลูกแท้ๆ ของตัวเอง

ปัญหาก็คือ ถ้าจำนวนประชากรไม่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ต่อไป ประชากรแรงงานก็หดตัวลงต่อเนื่อง จะทำให้ผลิตภาพของประเทศไทยไม่อาจขยายไปได้ไกลกว่านี้ ทางออกที่น่าสนใจที่นอกเหนือจากต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มก็คือการนำเข้าแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลิตภาพในไทยมากขึ้น ตลอดจนสร้างแรงงานทดแทนที่มาจากหุ่นยนต์ หรือหันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นด้วย

ที่มา – Independent, The Korea Times (1), (2), กรมการปกครอง, กรมอนามัย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา