ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ประเทศไทยมี ‘เชนร้านอาหารสุขภาพ’ เพียง 3-4 แบรนด์เท่านั้น แต่วันนี้เชนร้านอาหารสุขภาพกลับมีจำนวนมากถึง 30 แบรนด์แล้วและยังคงมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอยู่ตลอดเวลา ตลาดอาหารสุขภาพจึงกลายเป็นตลาดที่มีทางเลือกมากมายและแบรนด์ต้องประชันขันแข่งกันเข้าไปในใจผู้บริโภค
‘Salad Factory’ ถือเป็นหนึ่งในร้านอาหารสุขภาพเจ้าแรกๆ ของเมืองไทยที่ตอนนี้สามารถปูพรมขยายสาขาในกรุงเทพและปริมณฑลจนมีมากกว่า 40 สาขาแล้ว
‘ปิยะ ดั่นคุ้ม’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ เล่าว่า ปัจจุบันภาพรวมของตลาดร้านอาหารสุขภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2023 ตลาดมีมูลค่าสูงถึง 4,500 ล้านบาท และในปี 2024 คาดการณ์ว่าจะเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งมาจาก ‘อาหารสุขภาพ’ ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์อีกแล้ว แต่กลายเป็นนอร์มใหม่ของสังคม เพราะประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากถึง 14% ของจำนวนประชากรแล้ว ยังไม่รวมกลุ่มวัยกลางคนที่รักสุขภาพ และกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเจน Z ที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น
จึงทำให้ Salad Factory เห็นโอกาสและอยากจะปรับโมเดลและสินค้าให้เข้ากับคนทุกเจน
ในปี 2024 มูฟใหม่ของ Salad Factory คือ การขยับขยายสู่ต่างจังหวัดและบุกเจาะเข้าสู่โรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพและปริมณฑล โดยครึ่งปีแรก Salad Factory ได้เปิด ‘สาขาต่างจังหวัด’ 2 สาขาในพื้นที่นครสวรรค์และนครปฐม หลังจากปลายปีที่แล้วลุยเปิดสาขาต่างจังหวัดสาขาแรกอย่างพัทยาไป
ส่วนในครึ่งปีหลังเป็นช่วงเวลาที่ Salad Factory หันมาโฟกัสกับสาขาในกรุงเทพและปริมณฑลมากขึ้น โดยพื้นที่ที่ Salad Factory เลือกโฟกัส คือ ‘กลุ่มโรงพยาบาล’
ผู้บริหารของ Salad Factory เล่าว่า Salad Factory เริ่มเปิดสาขาในโรงพยาบาลครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในปี 2021 โดยการเปิดสาขาในโรงพยาบาลมักจะเน้นเป็นสาขาแบบ Campact Size ที่มีเมนูราว 70-80% ของสาขาโมเดล Full Service
หลังจากนั้นเล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และเห็นโอกาสทางธุรกิจของสาขาในโรงพยาบาลที่ถือเป็นเซกเมนต์สำคัญ มีลูกค้าทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลตลอดทั้งวัน
ปีนี้จึงเลือกขยายไปเปิดสาขาในโรงพยาบาลเพิ่มอีก
- ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
- ในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาโรงพยาบาล Med Park
- ในเดือนสิงหาคมนี้ ได้เปิดสาขาโรงพยาบาลพระราม 9
- และในปลายปีนี้ เตรียมเปิดสาขาโรงพยาบาลวิภาวดีอีกสาขา
เท่ากับในปีนี้ Salad Factory เปิดสาขาในโรงพยาบาลเพิ่มถึง 4 สาขาภายในปีเดียว รวมกับสาขาในโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว Salad Factory จะมีสาขาในโรงพยาบาล 5 แห่ง
แม้จะยังไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนสาขาที่จะมีมากถึง 48 แห่งในช่วงปลายปีนี้ แต่ 4 โรงพยาบาลภายในปีเดียวก็สะท้อนมูฟเม้นท์ของ Salad Factory ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ผู้บริหารยังยืนยันว่า แม้จะหาพื้นที่ไม่ง่าย เพราะพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโรงพยาบาลมีไม่มาก แต่ Salad Factory ก็จะเดินหน้าเปิดสาขาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 20% ของการขยายสาขาใหม่ปีละ 9 สาขาตามที่ตั้งใจไว้ โดยพิจารณาจากจังหวะและเวลาเป็นหลัก
โดยปัจจุบัน Salad Factory มีโมเดลร้านทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่
- Full Service ร้านขนาดใหญ่ 60 ที่นั่งขึ้นไป
- Compact Store ร้านขนาดกลาง มีเมนู 70-80% ของร้าน Full Service
- Fresh and Easy ร้านขนาดเล็ก 20 ที่นั่ง
นอกจากนั้น เพราะอยากเจาะลูกค้าหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ด้วย Salad Factory จึงเลือกปรับแนวทางการสื่อสาร โมเดล และสินค้าให้เข้ากับคนทุกกลุ่ม เน้นความสนุก มีชีวิตชีวา พร้อมรักษาจุดแข็งดั้งเดิมที่แบรนด์ทำได้ดีมาตลอดอย่าง
- รักษาคุณภาพ รักษาลูกค้าเก่า : เน้นทำอาหารคุณภาพ ราคารับประทานได้ทุกวัน รับฟังฟีดแบคของลูกค้าเสมอ ที่ผ่านมาแม้ไม่เน้นโปรโมชันมาก แต่คุณภาพสินค้าที่ได้รับจะดึงดูดลูกค้ากลับมารับประทานซ้ำอีก จนทำให้ Salad Factory เป็นแบรนด์ที่มีลูกค้ามาใช้บริการซ้ำมากที่สุดแบรนด์หนึ่ง
- ดึงดูดลูกค้าใหม่ แก้เพนพ้อยท์แบรนด์ : ผู้บริหาร Salad Factory ยอมรับว่าลูกค้าหลายคนเมื่อเห็นคำว่าสลัดก็ถอยหนี เพราะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ มักจะต้องเลือกร้านอาหารที่อยู่ตรงกลาง ได้รับการพยักหน้าจากตอบตกลงเพื่อนๆ ทุกคน แบรนด์จึงพยายามสื่อสารเมนูใหม่ๆ ออกไปว่ามีมากกว่าสลัด และเน้นราคาจริงใจกับผู้บริโภค
ล่าสุด Salad Factory จึงได้จับมือกับ S-Pure ของเบทาโกร ทำเมนู ‘อกไก่’ ใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้เลือกเพิ่ม เพราะ ‘ไก่’ คือหนึ่งในสามโปรตีนยอดนิยมของ Salad Factory อยู่แล้ว คิดเป็นกว่า 20% ของโปรตีนทั้งหมดในร้าน
โดยผู้บริหารของ Salad Factory เชื่อว่า เมนูไก่ใหม่ๆ และการคอลแลปกับ S-Pure จะเพิ่มยอดขายให้กับเมนูไก่ได้เป็นอย่างดี หลังจากเปิดตัวเมนูในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาก็เห็นว่าเมนูไก่สามารถดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาทดลองเมนูนี้เพิ่มขึ้น
ด้าน ‘โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์’ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เองก็เล่าว่า ตลาดอาหารสุขภาพเติบโต 8-12% ต่อปี ทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ขายปลีกของ S-Pure เติบโตมากกว่า 20% เช่นเดียวกัน และมองไปในอนาคตเชื่อว่าเทรนด์รักและดูแลสุขภาพนี้จะยังคงได้รับความนิยมไปอีกอย่างน้อย 5 ปี
สุดท้าย ‘ปิยะ’ ยืนยันว่าเป้าหมายของ Salad Factory ในปีนี้ คือ ยอดขาย 750 ล้านบาท เติบโตจากยอดขาย 593 ล้านบาทในปีก่อนราว 18% แม้ว่าธุรกิจจะมีความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อก็ตาม
ข่าวเกี่ยวข้อง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา