Tokyo Olympic 2020 คือโอกาสสำคัญของผู้ผลิตถุงยางอนามัย Okamoto และ Sakami

“ถุงยางอนามัย” กลายเป็นอีกเรื่องที่ถูกพูดถึงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเสมอ เพราะเล่นแจกฟรีให้เหล่าผู้เข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก ยักษ์ใหญ่ถุงยางญี่ปุ่น Okamoto และ Sakami มองว่าเป็นอีกโอกาสสำคัญเพื่อสร้างแบรนด์

ถุงยางอนามัย // ภาพ shutterstock

เปิดโลกถุงยางอนามัยให้กับต่างชาติ

การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่ผลิตถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจมานานแล้ว เพราะช่วงนั้นข้าวยากหมากแพง แถมกว่าจะมีขายยาคุมกำเนิดทั่วประเทศก็ต้องรอถึงปี 2542 เลยทีเดียว แต่ด้วยถุงยางอนามัยถ้ามีแค่คุณสมบัติป้องกันการตั้งครรภ์แค่อย่างเดียวก็คงลำบากในยุคนี้

เหตุนี้เองทำให้แบรนด์ถุงยางอนามัยยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Okamoto และ Sakami เริ่มคิดค้นถุงยางรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องความบาง เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้อยากสวมใส่เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์มากขึ้น และยิ่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2563 กำลังจะเกิดขึ้น ก็ยิ่งเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาด

Tomonori Hayashi ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Okamoto เล่าให้ฟังว่า บริษัทเริ่มทำตลาดถุงยางที่บางเพียง 0.01 มม. มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ และทำให้เป็นที่นิยมทั้งคนในประเทศ รวมถึงต่างชาติ จนบางครั้งมีนักท่องเที่ยวซื้อกลับไปใช้ หรือเป็นของฝากอีกด้วย

ถุงยางอนามัย Sakami 0.01 มม.

สร้างแบรนด์ยั่งยืนด้วยคุณภาพสินค้า

“ช่วงปี 2543 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการอยู่เป็นโสดก็กลายเป็นเรื่องของคนทั่วไป ทำให้ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศก็ทรุดเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อจูงใจ และสามารถทำยอดขายในสภาพตลาดที่ยังหดตัวเช่นนี้ได้”

เช่นกันกับ Hiroshi Yamashita ผู้จัดการอาวุโสของ Sagami ที่มองว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิกคือโอกาสสำคัญในการทำตลาด ยิ่งหากเข้าไปอยู่ในหอพักนักกีฬาได้ก็ยิ่งดี เพราะทำให้แบรนด์จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยบริษัทเตรียมเปิดโรงงานที่มาเลเซีย เพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคตแล้ว

ดังนั้นนอกจากการแข่งขันกีฬา หรือการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก “ถุงยางอนามัย” ก็เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นต้องรอดูกันว่าแบรนด์ใดจะสามารถเข้าไปอยู่ในหอพักนักกีฬา และสามารถสร้างแบรนด์ยั่งยืนแข่งกับเจ้าตลาดอย่าง Durex ของอังกฤษได้อย่างสูสีมากขึ้น

สรุป

ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องที่เหมือนจะพูดไม่ได้ในประเทศไทย นั่นทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการป้องกันเกี่ยวกับเพศสัมพันธุ์ ดังนั้นการสื่อสารที่มากขึ้น และการยอมรับเรื่องนี้จึงจำเป็น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อดึงให้ผู้บริโภคมาสวมถุงยางอนามัย โดยเฉพาะเรื่องความบางเพียง 0.01 มม.

อ้างอิง // Channel News Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา