โลจิสติกส์ จิ๊กซอว์สำคัญ “เครือสหพัฒน์” สร้างแวร์เฮ้าส์อัจฉริยะ ชิงความได้เปรียบยุคส่งด่วน

เมื่อเครือสหพัฒน์ มอง”โลจิสติกส์” เป็นหัวใจสำคัญการสร้างธุรกิจให้เติบโต และชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งอย่างมหาศาล ปักหมุดสร้างแวร์เฮ้าส์ “ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” ยึดทำเลทองอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกำลังแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2563   

ภาพจาก : shutterstock

ธุรกิจในเครือสหพัฒน์ต้องบอกว่า มีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบก็ว่าได้ หรือมองง่ายๆ มีบริษัทในเครือนับร้อยบริษัท โดยภายใต้การคุมบังเหียน เจเนอเรชั่น 2 “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ มองยาวถึงการรับยุคดิจิทัลที่กำลังถาโถมเข้ามา ด้วยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “โลจิสติกส์” ธุรกิจกลางน้ำนั่นเอง

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่เครือสหพัฒน์มองว่าจะเป็นจุดอ่อน คือ “โลจิสติกส์” ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟื่องสำคัญของซัพพลายเชน (Supply Chain) หรือห่วงโซอุปทาน เครือสหพัฒน์จึงลงทุนระดับ 3,000 ล้านบาท สร้างแวร์เฮ้าส์ “ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” ขนาดพื้นที่ 7.4 หมื่นตร.ม.บนทำเลทองอย่างบริเวนสุวรรณภูมิ

เมื่อมองถึงยุทธศาสตร์ของเครือสหพัฒน์ด้านโลจิสติกส์ เหตุผลสำคัญการลงทุนสร้างแวร์เฮ้าส์เรียกว่าใหญ่ที่สุดก็ว่าได้นั้น เพราะธุรกิจในยุคดิจิทัล การบริหารระบบขนส่ง เป็นหัวใจสำหรับการทำธุรกิจ การกระจายสินค้าจากแวร์เฮ้าส์ไปยังร้านค้า หรือกระทั่งการส่งสินค้าถึงมือลูกค้าจะต้องมีความรวดเร็ว

ภาพจาก : shutterstock

“ความเร็ว”โจทย์ใหญ่เครือสหพัฒน์ 

สเต็ปต่อไปของเครือสหพัฒน์ ต้องส่งสินค้าให้เร็ว สนองพฤติกรรมของลูกค้าต้องการสินค้ารวดเร็ว อดทนรอไม่ได้นาน ดังนั้นการบริหารจัดการต้องทำให้ทุกอย่างสั้นลง ใครส่งสินค้าได้เร็วจะชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

ระบบการโลจิสติกส์ของเครือสหพัฒน์ เดิมมีศูนย์กระจายสินค้าหลักอยู่ที่ ‘สวนอุตสาหกรรมศรีราชา’ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่จัดเก็บกว่า 3.9 หมื่นตร.ม ถือว่าเป็นแห่งใหญ่แล้ว นอกจากนี้มีศูนย์กระจายสินค้าหลายๆ แห่ง พื้นที่ราว 1,000 ตร.ม.

การมี “ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” จะช่วยให้การจัดกระจายสินค้าถึงจุดมุ่งหมายปลายทางภายใน 1 วัน นั่นคือสิ่งที่เครือสหพัฒน์ต้องไปให้ได้ ขณะที่ต่างจังหวัดใช้ระยะ 2 วัน จากเดิมใช้เวลา 3-5 วัน

“ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” จะเปรียบเหมือนฮับแวร์เฮ้าส์ของเครือสหพัฒน์ จะรวมทุกแบรนด์ทำให้การจัดการง่ายขึ้น และที่สำคัญจะกลายเป็นแวร์เฮ้าส์อัจฉริยะ โดยสหพัฒน์ได้ลงทุนนำระบบของบริษัทแมนฮัตตั้น แอสโซซิเอส ว่ากันว่าเป็นผู้นำในการให้บริการซอฟต์แวร์การบริหารจัดการคลังสินค้าระดับโลก

ต้องบอกว่าเครือสหพัฒน์มีความแข็งแกร่งทางด้านกระบวนการผลิต (Manufacturing) จากการมีโรงงานผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก อาทิ บริษัท ไลอ้อน ประเทศไทย จำกัด ผลิตสินค้าอุปโภค อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผลิตบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เป็นต้น

อาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์

ในขณะที่ธุรกิจกลางน้ำ อย่างโลจิสติกส์ ยังกระจัดกระจายและยังไม่มีฮับแวร์เฮ้าส์ที่รองรับสินค้าในเครือทั้งหมด ส่วนธุรกิจปลายน้ำ การมีลอว์สัน 108 ร้านสะดวกซื้อสไตล์ญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าไปได้สวย จากปัจจุบันมีกว่า 123 สาขา และกำลังมีหลากหลายโมเดล ทั้งการยึดทำเลปั๊มน้ำมันซัสโก้ หรือบนสถานีรถไฟฟ้า

สรุป : ผสานจุดแข็งสร้างการเติบโตยั่งยืน 

  • ธุรกิจต้นน้ำ การมีโรงงานผลิตของตัวเองจำนวนมาก เป็นจุดแข็งที่ทำให้เครือสหพัฒน์บริหารจัดการด้านต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น ควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้า ซึ่งขณะนี้หลายโรงงานเริ่มทรานฟอร์เมชั่นไปสู่โรงงานอัจฉริยะแล้ว
  • ธุรกิจกลางน้ำ การสร้าง “ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” เพื่อพัฒนาระบบการจัดการ Total Supply Chain ของเครือสหพัฒน์ให้ดีขึ้น
  • ธุรกิจปลายน้ำ การมีร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น “ลอว์สัน 108” และ “Daiso” จำหน่ายสินค้าราคา 60 บาท หรือกระทั่งเจปาร์ค ห้างสรรพสินค้า ที่ ศรีราชา เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของเครือสหพัฒน์ไม่ต่ำกว่า 20%

การสร้าง “ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” จะช่วยให้เครือสหพัฒน์ปฏิวัติแวร์เฮ้าส์ จากองค์กรที่อยู่ในเมืองไทยกว่า 77 ปี กลายเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น และเป็นการปูทางรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเครือ ทั้งจากบริษัท บริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท ไลอ้อน และบริษัท สหพัฒนพิบูล ที่เริ่มสร้างแพลตฟอร์มและรอวันเติบโต 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา