FMCG ไม่ใช่ปรับแค่ Go Online “สหพัฒน์” ยกเครื่องการตลาดจากทั่วประเทศสู่แคมเปญเฉพาะพื้นที่

การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG ในไทยอาจยังไม่เข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ แต่ถ้าฝั่งผู้ผลิตไม่รีบปรับตัวก็คงอยู่ยากในอนาคต ซึ่ง สหพัฒน์” ก็เร่งเครื่องเต็มที่ แต่ทำแค่นี้คงไม่ได้ เพราะฝั่งธุรกิจดั้งเดิมก็ต้องปรับด้วย

ปูพื้นฐานฝั่งออนไลน์ทั้ง B2C และ B2B

ด้วยความคุ้นชิ้น หรืออัตราการเข้าถึงโลกออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยยังนิยมซื้อสินค้า FMCG ผ่านช่องทางดั้งเดิม เช่น Supermarket, Hypermarket รวมถึงร้าน Traditional Trade อย่างโชห่วย แต่ด้วยกระแสของโลกนั้นเดินหน้าไปโลกออนไลน์ผ่านการจับจ่ายด้วย Ecommerce มากขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตสินค้าก็จำเป็นซึ่งทางกลุ่มสหพัฒน์ได้ลงทุนเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เช่นการสร้างเว็บไซต์ sahapathomedelivey.com เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั่วไปที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่แค่นั้นอาจยังไม่พอ

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด เล่าให้ฟังว่า ด้วยตัวเว็บไซต์ยังเปิดให้บริการได้ไม่นาน แต่เริ่มมีการทำตลาดบ้างแล้ว ทำให้ปีที่ผ่านมามียอดขายราว 100 ล้านบาท ผ่านสินค้าในเครือสหพัฒน์เท่านั้น เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ผงซักฟอก และยาสีฟัน ซึ่งปีนี้น่าจะมียอดขายมากขึ้น แต่ความแตกต่างของการทำตลาดออนไลน์ในปีนี้คือการเพิ่มช่องทางจำหน่ายระหว่างธุรกิจด้วยกัน หรือ B2B จากเดิมที่คู่ค้ารายย่อยของบริษัทต้องซื้อขายผ่านรูปแบบการจดออร์เดอร์ผ่านหน่วยรถ 220 คันทั่วประเทศ และส่งของในวันรุ่งขึ้น

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด

“ตอนนี้สหพัฒน์ยังมีหน่วยรถวิ่งอยู่ทั่วประเทศ เพื่อทำการจดรายการสั่งซื้อจากร้านรายย่อย และถ้ามีของในรถก็จะขายให้เลย แต่ถ้าไม่มีสินค้าที่สั่งก็จะได้ในวันรุ่งขึ้น แต่เพื่อให้ความสะดวกแก่พวกเขา รวมถึงช่วยบริหารต้นทุนการขาย ทางสหพัฒน์ก็สร้างช่องทางขายออนไลน์แบบ B2B ขึ้นมา และหนึ่งในนั้นต้องมีการลงทุนรวมกว่า 52 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ และลงเซิร์ฟเวอร์ตัวใหม่ ให้การบริการออนไลน์เสถียร และมีความปลอดภัยมากขึ้น คาดว่าปีนี้จะมียอดขาย B2B ฝั่งออนไลน์ราว 50 ล้านบาท”

Marketing ต้องทำรายพื้นที่ ไม่ใช่หว่าน

ขณะเดียวกันเดิมทีการทำตลาดสินค้าต่างๆ ของสหพัฒน์จะตั้งแคมเปญภาพรวมขึ้นมาเพื่อใช้กับทั้งประเทศไทย แต่หลังจากนี้อาจทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับการแข่งขันของทุกสินค้า FMCG ที่บริษัทถืออยู่ก็หนักหน่วงขึ้น ดังนั้นในปีนี้บริษัทจะใช้การทำแคมเปญเป็นรายพื้นที่ โดยปรับให้เหมาะสมกับผู้บริโภค และสภาพการแข่งขันที่นั่น ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการงบการตลาดทำได้ดีขึ้น และหน่วยขายตามภูมิภาคต่างๆ ก็ทำงานง่ายขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างสินค้าอุปโภคของกลุ่มสหพัฒน์

ในทางกลับกันแคมเปญที่ทำทั่วประเทศ เช่นการชิงโชคก็ยังทำอยู่ เพราะคู่แข่งต่างลงงบประมาณกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะกับสินค้าผงซักฟอก และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และถึงการกระทำของคู่แข่งจะไม่ทำให้ยอดขายของบริษัทตก แต่การใช้งบประมาณกับการชิงโชคก็น่าจะช่วยรักษาส่วนแบ่งในตลาด FMCG ของบริษัทได้อยู่ โดยปีนี้บริษัทมีสินค้าที่หยุดการทำตลาด 2 ตัวคือ กะทิอร่อยดี กับรองเท้า Nike โดยแบรนด์หลังทางบริษัทแม่ต้องการไปทำตลาดเอง ส่วนสินค้าใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้ เช่นกะทิพร้าวหอม ของบริษัทสุรีย์ และสินค้ากีฬาแบรนด์ Under Armour

ยอดขายยังโต 10% เชื่อเศรษฐกิจเริ่มดี

สำหรับยอดขายในปีนี้ของสหพัฒน์ตั้งเป้าที่ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% จากปี 2559 เติบโตลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 13.2% โดยที่ตั้งเป้าแบบนี้เพราะตั้งการเติบโตราว 10% ต่อปี แต่ในปี 2559 ที่โตกว่าอัตราปกติ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ รวมถึงนโยบายต่างๆ ของภาครัฐนั้นเริ่มเข้าถึงประชากรมากขึ้น หากแบ่งรายได้ออกมา สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่าจะเป็นอันดับหนึ่งที่ 9,600 ล้านบาท (มีส่วนแบ่งในตลาดรวม 52%) รองลงมาเป็นผงซักฟอกราว 5,000 ล้านบาท (กินส่วนแบ่งเกือบ 1 ใน 3 ของตลาด)

สรุป

ถึงจะมีแบรนด์ที่หายไป เช่น Nike แต่ด้วยสัดส่วนรายได้ที่น้อย หรือราว 200-300 ล้านบาทของรายได้รวมเท่านั้น ประกอบกับการได้สินค้าใหม่อย่าง Under Armour เข้ามาก็น่าจะทดแทนกันได้ นอกจากนี้ยังเปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬา Beyond เพิ่มเติมในต่างจังหวัดอีก 10-20 แห่งด้วย

ส่วนเรื่องแบรนด์มาม่าที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกตัวหนึ่งนั้น จากการตั้งเป้าของสหพัฒน์ที่อยากเติบโตราว 10% เหมือนกับภาพรวมของบริษัท ก็น่าจะเป็นอีกส่วนที่น่าจะแสดงให้เห็นว่าการจับจ่ายของผู้บริโภคยังดี ผ่านสินค้าที่ยังหมุนเวียนอยู่ตลอด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา