สหฟาร์มเตรียมบุกตลาดตะวันออกกลาง เพิ่มปลาดุกแล่เป็นสินค้าใหม่ ตั้งเป้าโต 10% ปีนี้

สหฟาร์มยืนยัน ต่างประเทศเชื่อมั่นเพราะมีระบบฟาร์มที่ดี สินค้าทำด้วยมือ ปีนี้เตรียมบุกตลาดตะวันออกกลาง มองตลาดมุสลิมสำคัญและโตได้อีก

จารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกไก่ เล่าให้ฟังว่าในปี 2023 ที่ผ่านมา สหฟาร์มทำยอดขายอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่งออกได้มากกว่า 170,000 ตัน นับเป็นผู้ส่งออกไก่แช่แข็งอันดับ 1 ของไทย

ส่วนในปีนี้ ตั้งเป้าการเติบโตของบริษัทไว้ที่ 10% จากปีที่แล้ว และคาดว่าจะส่งออกไก่ได้ประมาณ 200,000 ตัน

แต่ละวันสหฟาร์มมีไก่เข้าเชือดประมาณ 700,000 ตัวต่อวัน นับเป็นราว 300 ล้านตัวต่อปี ส่วนภาพรวมธุรกิจการผลิตและส่งออกไก่ของไทยเป็นไปได้ด้วยดีและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าต่างประเทศ เห็นจากที่ไทยผลิตไก่มากเป็นอันดับที่ 7 แต่ส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนคู่แข่งรายใหญ่ของสหฟาร์มยังเป็นสหรัฐอเมริกาและบราซิลที่ผลิตไก่มากเป็นอันดับ 1 และ 2

สำหรับผลประกอบการของสหฟาร์มยังมาจากไก่ 99% ของรายได้ทั้งหมดที่ขายทั้งในและนอกประเทศ โดยเน้นขายตลาด B2B ในประเทศเป็นหลักเกือย 100% ส่วนการขายฝั่ง B2C และยอดขายทางออนไลน์ยังถือว่ามีสัดส่วนน้อย แต่มีแผนจะขยายในอนาคต

ในปีนี้ เป้าหมายยังคงเป็นการขยายตลาดการส่งออกไก่ มองตลาดมุสลิมเป็นตลาดสำคัญและมีศักยภาพในการเติบโต ปีนี้จะเน้นไปที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะได้ติดต่อบริษัทมาเนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนเนื้อไก่ในปีที่ผ่านมา

3 สินค้าไฮไลท์

ปีนี้ สหฟาร์มเตรียมจะวางขายสินค้าใหม่อย่างปลาดุกแล่ ที่จริง ๆ มีบ่อเลี้ยงมาหลายปีแล้วกว่า 200 บ่อ เลี้ยงในลักษณะธรรมชาติ ให้อาหารที่ไม่มียาปฏิชีวนะ จะมีการพัฒนาโรงงานใหม่เพื่อตอบโจทย์มาตรฐานการผลิต ตั้งเป้าว่าจะส่งออกภายใน 3 ปี ทั้งการขายแบบ B2B และ B2C

ส่วนสินค้าที่เพิ่งเปิดตัวในปีที่แล้วเป็นเนื้อไก่ปรุงสุกสำหรับผู้แพ้ง่ายในเครือสหฟาร์มอินเตอร์ โดยจะไม่ใส่ส่วนประกอบที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดอาการแพ้ เช่น นม ไข่ ปลา ถั่ว ธัญพืช ถั่วเหลือง นม ถั่วเหลือง ในกระบวนการผลิตจะแยกกับส่วนการผลิตของสินค้าปกติ

นอกจากนี้ ในปีที่แล้วยังออกสินค้าสำหรับสุขภาพแบรนด์พอลดีย์ มาจากฟาร์มไก่อารมณ์ดี ที่มีนวัตกรรมการเลี้ยงไก่ไม่เหมือนไก่ทั่วไปเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (Animal Welfare) เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ ได้ใช้สัญชาติญาณเต็มที่ ได้จิกต้นสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เปิดเพลงให้ฟังทุกวัน วันละ 3 เวลา โดยจะเลี้ยงไก่ 8-10 ตัวต่อตารางเมตร ทำให้มีพื้นที่เคลื่อนไหว

แบรนด์พอลดีย์จะแพ็คสินค้าปริมาณราว 300 กรัมต่อถุงเพื่อตอบโจทย์การค้าปลีกสำหรับครอบครัวที่ไม่ใหญ่มากสำหรับ 1 มื้อโดยเน้นขายในประเทศไทยเป็นหลัก

กลยุทธ์และจุดแข็งของสหฟาร์ม

สำหรับจุดแข็งของสหฟาร์มที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น จารุวรรณ โชติเทวัญ อธิบายว่าอยู่ที่การรักษา Animal Welfare ที่ดี

ฟาร์มไก่ของสหฟาร์มมีหุบเขาล้อมรอบเสมือนกำแพง มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และช่องลมที่ต้องไม่ใช่ช่องที่นกอพยพบินผ่านเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคมาติดไก่ มีระบบป้องกันไม่ให้โรคจากภายในออกสู่ภายนอก และไม่ให้โรคจากภายนอกเข้าสู่ภายในฟาร์ม ทำให้ไก่มี Animal Welfare ที่ดี

ระดับ Animal Welfare ที่ดีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดที่ส่งออกโดยเฉพาะในยุโรปให้ความไว้วางใจ นอกจากนี้ ประเด็นความยั่งยืนเองก็เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญ โดยสหฟาร์มมีการดำเนินธุรกิจเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์

อีกเรื่องหนึ่งคือการดำเนินธุรกิจแบบ Labour Intensive ที่เน้นการจ้างพนักงานจำนวนมากแทนที่จะใช้เครื่องจักร โดยจะฝึกพนักงานให้มีความชำนาณในการตัดแต่งและในขั้นตอนการผลิตอื่น ๆ ทำให้สินค้าทุกชิ้นทำด้วยมือ (Handcraft)

ส่วนเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศที่จะปรับเพิ่มขึ้น สหฟาร์มมองว่ามีผลกระทบทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่จะพยายามไปลดต้นทุนในส่วนอื่นแทน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่อพนักงาน 1 คนให้มากขึ้น หลัก ๆ อยู่ที่ต้นทุนอาการไก่ที่คิดเป็น 70% ของต้นทุน ส่วนจะปรับราคาขายขึ้นหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกเพราะต้องไปแข่งขันกับอีกหลายประเทศ

ที่มา – สหฟาร์ม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา