โดนปิดสวนสัตว์ไป 5 เดือน ซาฟารีเวิลด์ ขาดทุนขนาดไหน?

นับตั้งแต่โดนสั่งปิดให้บริการสวนสัตว์ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2021 และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อไร ซาฟารีเวิลด์ ต้องแบกรับต้นทุนทางธุรกิจขนาดไหน และองค์กรขาดทุนเป็นมูลค่าเท่าไร มาติดตามกัน

ซาฟารีเวิลด์

คน สัตว์ สถานที่ คือค่าใช้จ่ายสำคัญ

อ้างอิงจากรายงานผลประกอบการ บมจ. ซาฟารีเวิลด์ งวด 6 เดือนแรกของปี 2021 พบว่า บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าบริหารพนักงาน, ค่าการดูแลสัตว์ต่าง ๆ และค่าดูแลสถานที่ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วไม่ใช่มูลค่าน้อย ๆ โดยค่าใช้จ่ายในการขาย และบริการอยู่ที่ 6.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารอยู่ที่ 242 ล้านบาท

ถ้าคิดตามขนาดพื้นที่ที่ต้องดูแลกว่า 500 ไร่ในสวนสัตว์ย่านรามอินทรา แถมมีพนักงานดูแลสัตว์ และนักแสดงหลายรวมหลายร้อยคน แถมมีสัตว์ต่าง ๆ อีกหลายสายพันธ์ ก็เป็นไปได้ที่ตัวเลขการดูแลมันต้องเยอะขนาดนี้ แต่นี่คือ ซาฟารีเวิลด์ ต้องจ่ายเงินทั้ง ๆ ที่สวนสัตว์ถูกสั่งปิดให้บริการมาตั้งแต่สิ้นเดือน เม.ย. 2021

ยิ่ง บมจ. ซาฟารีเวิลด์ ไม่ได้มีแค่สวนสัตว์ เพราะยังมีอีกธุรกิจสำคัญคือ บมจ. ภูเก็ตแฟนตาซี ที่ทำธุรกิจการแสดงโชว์ที่ภูเก็ต ซึ่งปกติลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ ดังนั้นเมื่อเกิดการท่องเที่ยวเกิดไม่ได้เพราะโรค COVID-19 ระบาด จึงไม่แปลกที่ธุรกิจดังกล่าวจะดำเนินกิจการได้ลำบากเช่นเดียวกับธุรกิจแม่

รายได้หายไปกว่าครึ่งจากการปิดชั่วคราว

เมื่อมาดูที่รายได้กันบ้าง งวด 6 เดือนแรกของปี 2021 บมจ. ซาฟารีเวิลด์ รายได้รวมปิดที่ 114 ล้านบาท ลดลงจากงวด 6 เดือนแรกของปี 2020 ที่ทำได้ 260 ล้านบาท แม้บริษัทจะไม่ได้แจ้งถึงเหตุผลเกี่ยวกับการลดลงครั้งนี้ แต่ก็เดาไม่ยาก เพราะถ้าสวนสัตว์ถูกปิดให้บริการชั่วคราว การสร้างรายได้ย่อมลดลงอัตโนมัติ

หากเจาะไปที่รายละเอียดของรายได้รวมจะพบว่า การจำหน่ายบัตรเข้าชม กินสัดส่วนรายได้มากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 89 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 164 ล้านบาท รองลงมาเป็น การจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม คิดเป็นมูลค่า 8.4 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 54 ล้านบาท

ส่วนรายได้ที่น่าสนใจของ บมจ. ซาฟารีเวิลด์ คือ การจำหน่ายภาพถ่าย เพราะทำรายได้กว่า 7 แสนบาท ถือว่ามากพอตัว (ส่วนตัวผู้เขียนเมื่อไปใช้บริการแทบจะหนีจากการถูกถ่ายรูป) แต่ก็น่าเสียดายที่รายได้ดังกล่าวน้อยกว่าปีก่อนที่ทำได้กว่า 8.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้อันดับ 4 หากไม่รวมรายได้อื่น ๆ ขององค์กร

ซาฟารีเวิลด์

ขาดทุนขั้นต้นพอได้ แต่ขาดทุนจากการดำเนินงานอ่วม

เมื่อรู้ต้นทุน กับรายได้รวมคร่าว ๆ ของ บมจ. ซาฟารีเวิลด์ ไปแล้ว ลองมาดูที่การขาดทุนขั้นต้นกันบ้าง โดยงวด 6 เดือนแรกของปี 2021 ทางบริษัทขาดทุนขั้นต้น 12 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนขั้นต้น 52 ล้านบาท

ต่อด้วยผลลัพธ์จากการดำเนินงาน บมจ. ซาฟารีเวิลด์ ขาดทุนจากการดำเนินงาน 292 ล้านบาท มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 273 ล้านบาท เรียกว่าอ่วมพอสมควร เพราะรายได้ที่มีไม่สามารถทดแทนต้นทุนต่าง ๆ ในการดำเนินงานได้

ที่ขาดไม่ได้คือ ขาดทุนสุทธิ เพราะ บมจ. ซาฟารีเวิลด์ แจ้งขาดทุนสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี 2021 ที่ 470 ล้านบาท มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 397 ล้านบาท เพราะไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่ตัวองค์กรจะฟื้นตัวกลับมาได้

ซาฟารีเวิลด์

เร่งต่ออายุบัตรสมาชิกรายปีเพิ่มกระแสเงินสด

ในทางกลับกัน บมจ. ซาฟารีเวิลด์ เริ่มปรับตัวด้วยการเร่งจูงใจต่ออายุบัตรสมาชิกรายปี Safari 365 ผ่านการทำราคาพิเศษ 1 ปี 999 บาท จากราคาปกติ 2,880 บาท ส่วนถ้าต่ออายุ 2 ปี จะอยู่ที่ 1,500 บาท จากปกติ 5,760 บาท ส่วนสมาชิกใหม่ยังไม่เปิดให้สมัคร

ถือเป็นการยอมลดรายได้ที่เกิดขึ้นเพื่อจูงใจให้สมาชิกเดิมกลับมาใช้จ่ายกับองค์กรอีกครั้ง เพราะช่วงที่สวนสัตว์ถูกปิดให้บริการ บมจ. ซาฟารีเวิลด์ ได้ยืดระยะเวลาหมดอายุของบัตรสมาชิกไปอีก 6 เดือน เพื่อชดเชยสิทธิ์การใช้บริการที่เสียไปของลูกค้า นอกจากนี้ยังเปิด Animal Cafe ร้านขนมมี Roll Cake และไอศกรีม เดลิเวอรี เช่นกัน

ขณะเดียวกัน บมจ. ซาฟารีเวิลด์ ยังประกาศเปิดรับบุคลากรใหม่ ไล่ตั้งแต่นักแสดง, พนักงานดูแลสัตว์, พนักงานให้อาหารสัตว์ รวมถึงฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อกลับมาเปิดให้บริการสวนสัตว์อีกครั้งหากรัฐผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุข

ฝ่าวิกฤตมากมาย และครั้งนี้คงรอดได้อีกรอบ

สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ เปิดให้บริการครั้งแรกปี 1985 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเพื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี 1994 บริหารจัดการโดยตระกูล คิ้วคชา แต่จากบริษัทดาวรุ่ง เมื่อเจอ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997 บมจ. ซาฟารีเวิลด์ เจอผลกระทบในการทำธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดปี 2007 ถูกพักการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

แม้จะฟื้นกลับมาได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย แต่ในเวลาอันรวดเร็วเกิดการกวาดล้างทัวร์ศูนย์เหรียญ จนนักท่องเที่ยวจีนหาย แถมช่วงก่อนโรค COVID-19 ระบาด กลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียเริ่มเข้ามามากขึ้น และสร้างรายได้ให้ บมจ. ซาฟารีเวิลด์ พอสมควร

แต่สุดท้าย โรค COVID-19 ระบาด ฝันทุกอย่างก็พังทลาย เพราะนอกจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไทยยังเข้ามาใช้บริการไม่ได้ผ่านการติดมาตรการสาธารณสุข คงต้องรอว่าเมื่อไร ซาฟารีเวิลด์ ถึงจะเปิดให้บริการได้อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ สวนสัตว์เขาเขียว ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแล้ว

อ้างอิง // กลต. 1, 2

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา