ย้อนประวัติ S&P จากร้านไอศกรีมเล็ก ๆ สู่ธุรกิจร้านอาหารอายุ 50 ปี รายได้กว่า 6,290 ล้านบาท

หากย้อนกลับไปในวันที่ 14 ต.ค. 2516 นอกจากจะมีเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยยังเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในร้านอาหารยักษ์ใหญ่ของไทยนั่นคือร้าน S&P หรือ บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ที่ ภัทรา ศิลาอ่อน ผู้ร่วมก่อตั้งร้านนี้เล่าติดตลกว่า “เปิดได้แค่วันเดียวก็ปิดเลย”

สาขาแรกของ S&P ตั้งอยู่ ซ. ประสานมิตร หรือ ซ. สุขุมวิท 23 ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้เริ่มที่ร้านอาหาร เพราะเป็น ธุรกิจขายไอศกรีมก่อน เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีร้านไอศกรีมมากนัก แต่จะขายแค่ไอศกรีมแค่อย่างเดียวก็คงคล้ายกับคู่แข่งในเวลานั้น S&P จึงจำหน่ายไอศกรีม คู่กับเมนูอาหารจานเดียวเพื่อสร้างความแตกต่าง

แต่ในเวลานั้นใครจะไปคิดว่าจากร้านไอศกรีมเล็ก ๆ จะกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารของไทยที่ขยายสาขาไปทั่วประเทศ รวมถึงในต่างประเทศ และมีรายได้รวมในปี 2566 ที่ 6,290 ล้านบาท ทั้งเพิ่งครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี ไปไม่นาน Brand Inside จึงอยากชวนทำความรู้จักร้าน S&P ในมากขึ้นผ่านบทความนี้ไปด้วยกัน

S and P

เริ่มต้นด้วยไอศกรีม กับอาหารจานเดียว

“ตอนปี 2516 ธุรกิจร้านไอศกรีมยังมีไม่มากนัก คู่แข่งสำคัญคงมีเพียงศาลาโฟร์โมสต์ จึงยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากหากเริ่มต้นร้านไอศกรีม แต่ขายไประยะหนึ่งการมีแค่ไอศกรีมอย่างเดียวก็คงไม่แตกต่าง จึงเติมเมนูอาหารจานเดียวเข้ามาเพิ่ม ซึ่งก็ตอบโจทย์ลูกค้าในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี” ภัทรา ศิลาอ่อน ประธานกรรมการ S&P กล่าว

ส่วนระหว่างที่เปิดร้าน ภัทรา เสริมว่า เวลานั้นลูกคนโตอายุ 5 ขวบ, คนกลาง 3 ขวบ และคนเล็ก 1 ขวบ และทุกคนเรียนที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ทำให้เด็ก ๆ มีส่วนในการรับรู้การเริ่มต้นธุรกิจไม่มากก็น้อย และมีส่วนร่วมกับการเติบโตของทางร้านอย่างต่อเนื่อง

แต่หลังจากเปิดร้านมา 4 ปี ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือการมีช่างเบเกอรี่มีฝีมือมาเข้าร่วมกับทางร้าน เมื่อประกอบกับความสนใจของน้องสะใภ้ (พันทิพา ไรวา) ที่ชื่นชอบเรื่องเบเกอรี่เช่นกัน ทำให้ S&P เริ่มขยายไลน์สินค้าสู่กลุ่มเบเกอรี่ และในปีที่ 7 ยังขยายสาขาไปที่สยามสแควร์ในรูปแบบร้านเบเกอรี่ช้อป ช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ไปอีกขั้น

ร้าน S&P

เข้าสู่ยุคเบเกอรี่ และเค้กลายการ์ตูน

ความโดดเด่นของ S&P ยกระดับไปอีกขั้นหลังทางร้านได้รับพิมพ์เค้กลายการ์ตูนต่าง ๆ จาก ปราไพ ปราสาททองโอสถ เพื่อนสนิท และน้องสาวของ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของบางกอกแอร์เวย์ส และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยเธอนำพิมพ์เค้กลายโดนัลด์ดั๊ก และมิกกี้เมาส์จากสหรัฐอเมริกามาให้

“ยอมรับว่าในยุคนั้นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มงวด และเรานำพิมพ์เค้กเหล่านั้นมาทำเป็นเค้กลายการ์ตูนเพื่อจำหน่าย และสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ S&P จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่เบเกอรี่แบบอื่น ๆ เช่น เค้กลายดอกกุหลาบ และเค้กลายพวงมาลัย”

การมาถึงของไลน์สินค้าเบเกอรี่ ทำให้ S&P เติบโตไปอีกขั้นด้วยการเปิดโรงงานเบเกอรี่ในซอยแพทย์ปัญญา และขยายสาขาสู่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว รวมถึงไปยังพื้นที่ธุรกิจสำคัญอย่างสีลม และทองหล่อ ทั้งผ่านไป 16 ปี ตัว S&P ยังขยายสาขาออกไปได้ถึง 16 แห่ง

เค้ก S&P

ตอบโจทย์ลูกค้าญี่ปุ่น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“เวลานั้นร้านอาหารญี่ปุ่นยังค่อนข้างจับต้องได้ยาก ถ้าจะไปรับประทานก็ต้องไปที่โรงแรมหรู และมีราคาสูง ดังนั้นการนำเสนอร้านอาหารญี่ปุ่นฝีมือเชฟไทยในราคาที่เอื้อมถึงได้น่าจะเป็นโอกาสของเรา” ภัทรา กล่าว และถัดจากการทยอยเปิดสาขาไม่นานก็มีเมนูอาหารญี่ปุ่นในร้าน S&P จำหน่ายด้วย

การเดินหน้าแผนดังกล่าวทำให้ S&P สามารถดึงดูดลูกค้าคนไทย และคนญี่ปุ่นเข้ามาใช้บริการในร้านได้มากขึ้น แต่เพื่อเติบโตไปได้มากกว่านั้น S&P จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2532 เพื่อนำเงินทุนมาขยายโรงงานเบเกอรี่ และอาหาร รวมถึงขยายสู่ธุรกิจด้าน Retail & Food Service เต็มรูปแบบ

เกษสุดา ไรวา กรรมการ S&P เสริมว่า “สิ่งที่ทำให้ S&P อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้คือการทำด้วยใจ และความรัก วัฒนธรรมองค์กรของเราเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น” โดยเวลาเดียวกันนั้นได้ขยายร้านอาหารไทย PATARA ไปที่ต่างประเทศ รวมถึงเริ่มบริการดิลิเวอรีเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

S&P

มุ่งสู่ธุรกิจร้านกาแฟ Blue Cup

อีกหนึ่งหมุดหมายทางธุรกิจสำคัญของ S&P คือการรุกตลาดร้านกาแฟด้วย Blue Cup ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก วิฑูร ศิลาอ่อน ลูกชายคนโตของ ภัทรา ศิลาอ่อน ที่เริ่มเห็นราคากาแฟพรีเมียมเข้ามาในไทยมากขึ้น “เวลานั้นก็ยังรู้สึกแพง แต่ถ้ามีโอกาสก็ต้องลอง” ภัทรา กล่าว

ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2567 S&P มีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้น 455 สาขา และมีแผนขยายธุรกิจสู่ประเทศกัมพูชาในเร็ว ๆ นี้ แผนธุรกิจในปี 2568 ยังคงมุ่งเน้นการขยายสาขาและพัฒนาคุณภาพในทุกด้าน ทั้งการบริการ คุณภาพอาหาร การขยายโรงงานเบเกอรี่ และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

ส่วนสิ้นปี 2566 บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท มีรายได้รวม 6,290 ล้านบาท กำไรสุทธิ 485 ล้านบาท ส่วนสิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 9 เดือนแรกที่ 4,512 ล้านบาท กำไรสุทธิ 300 ล้านบาท มีสาขารวมทุกธุรกิจที่ 455 สาขา และอยู่ระหว่างขยายสาขาไปสู่ประเทศกัมพูชาในปี 2568

S&P

รุ่นต่อไปกำลังเข้ามาบริหาร

ปัจจุบันการบริหารธุรกิจของ S&P อยู่ในรุ่นที่ 2 ประกอบด้วย วิทูร ศิลาอ่อน ลูกชายคนโตของ ภัทรา ศิลาอ่อน อยู่ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กำธร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน และการผลิต ลูกชายคนกลางของ ภัทรา ศิลาอ่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี ธีรกรณ์ ไรวา หลานชายของ ภัทรา ศิลาอ่อน เข้ามาดูแลธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมดที่ประกอบด้วย Maisen, UMENOHANA และ Motoi และรุ่นถัดไปของตระกูลคนอื่นยังมีส่วนร่วมในการเดินหน้าธุรกิจ เช่น ร้าน Patio และร้าน Nais เช่นกัน

“50 ปี S&P ยังคงยึดมั่นในเอกลักษณ์ 4 ประการที่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้ามาโดยตลอด ได้แก่ บริการที่เรียบร้อย อาหารรสชาติอร่อย ความสะอาดของร้าน และบรรยากาศที่ดี พร้อมกับการให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์ การสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีในราคาที่เหมาะสม และการปลูกฝังคุณธรรมให้กับพนักงานทุกคน”

Brand Inside มองว่า จากร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ในซอยประสานมิตร สู่อาณาจักรอาหาร และเบเกอรี่ระดับชาติที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ความสำเร็จของ S&P ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่อบอุ่นเสมือนครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

S&P S&P

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา