เอสแอนด์พี บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทยลงมา 1 ระดับสู่ “มีเสถียรภาพ” หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง
S&P Global Ratings ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทยจาก “มุมมองเป็นบวก” ลดลงมาเป็น “มีเสถียรภาพ” โดยสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งต่อเลื่อนออกไปอีก รวมไปถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
สำหรับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศนั้น S&P ให้ความน่าเชื่อถือระยะยาวที่ BBB+ และความน่าเชื่อถือระยะสั้นที่ A-2
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา S&P Global Ratings ได้ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือของไทยเพิ่มขึ้น โดยให้มุมมองหลักๆ คือ ไทยนั้นมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าตอบสนองความคิดเห็นของประชาชน ส่งผลทำให้เป็นการสนับสนุนเสถียรภาพทางการเมือง และวิเคราะห์ว่าอาจปรับความน่าเชื่อถือของไทยขึ้นอีกภายใน 2 ปี ถ้าหากเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น
ขณะที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออีกแห่งอย่าง Fitch ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทยไปแล้วในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุดเหลือแค่ Moody’s เท่านั้นที่ยังไม่ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ไม่เพียงแค่นั้น S&P ได้ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจของไทยอาจมีสิทธิ์ในการปรับลดความน่าเชื่อถือลงได้อีก จากปัญหาเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้
มุมมองของธนาคารกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ล่าสุดออกมา คาดการณ์ผลกระทบนี้ว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงทำให้นักลงทุนประเมินการลงทุนในไทยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออก ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามากขึ้น แต่ธนาคารกสิกรไทยมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศ Emerging Markets เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งกว่า
Note: เพิ่มมุมมองจากบทวิเคราะห์ของธนาคารกสิกรไทย
ที่มา – Bangkok Post, TNN24
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา