รายงานชิ้นใหม่ล่าสุดจาก EIU (Economic Intelligence Unit) เผยว่า แม้ประเทศในเอเชียแปซิฟิกจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจากรัสเซีย-ยูเครนโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ที่ลามไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะราคาอาหารที่แพงขึ้น ไปจนถึงการท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดหาอาวุธด้วย
ราคาอาหารมีความอ่อนไหวต่อสภาวะสงคราม ทั้งยังส่งผลต่อผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเทศในเอเชียหลายแห่งพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ปุ๋ย จากรัสเซีย ตอนนี้ปุ๋ยกำลังขาดแคลนและสร้างความกังวลให้ผู้คน เนื่องจากมันส่งผลกระทบต่อราคาปุ๋ยและราคาอาหารพื้นฐานด้วย ทั้งรัสเซียและเบลารุสส่งออกโพแทสเซียมถือเป็น 40% ของโลก การส่งออกของรัสเซียกำลังได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร
รัสเซียส่งออกยูเรียในอัตรา 11% และส่งออกแอมโมเนียม ไนเตรท 48% ของโลก รัสเซียและยูเครนส่งออกปุ๋ยที่ทำจากไนโตรเจนและฟอสฟอรัส โปแตสเซียมในอัตรา 28% ของโลก การขนส่งถูกดิสรัปจากการคว่ำบาตร รวมทั้งภาวะสงคราม ส่งผลให้ราคาปุ๋ยถีบตัวสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ปุ๋ยและส่วนประกอบของปุ๋ยที่ถีบตัวสูงขึ้น แต่ยังรวมถึงเมล็ดพันธุ์ที่ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้าานซีอีโอ Tony Will จาก CF Industries ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ยเพื่อการเกษตรและแอมโมเนียกล่าวว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ ตอนนี้การจัดหาปุ๋ยในโลกกำลังอยู่ในภาวะคับขัน เป็นผลมาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เมื่อภูมิภาคนี้มีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเพื่อการเกษตรสูง ทำให้แม้ไม่ได้มีสงครามโดยตรง ก็ได้รับผลกระทบจากรัสเซีย-ยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รัสเซีย-ยูเครนถือเป็นแหล่งจัดหาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลก จากสงครามดังกล่าวส่งผลให้สัญญาซื้อข้าวล่วงหน้าข้าวสาลีสูงขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าข้าวโพดก็พุ่งขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี บางประเทศก็ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสูงขึ้นนี้ เนื่องจากเป็นแหล่งซัพพลายทางเลือกนั่นเอง นอกจากอาหารและพลังงานแล้ว ยังกระทบถึงนิกเกิลที่รัสเซียเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกด้วย
ประเทศที่จะได้ผลประโยชน์จากราคาโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม ดังนี้
- ผู้ส่งออกถ่านหิน: ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย
- ผู้ส่งออกน้ำมันดิบ: มาเลเซีย บรูไน
- LNG (Liquefied natural gas: ก๊าซธรรมชาติเหลว) ออสเตรเลีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี
- นิกเกิล: อินโดนีเซีย นิวแคลิโดเนีย
- ข้าวสาลี: ออสเตรเลีย อินเดีย
ประเทศที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากราคาที่ถีบตัวสูงขึ้น (ข้อมูลอัตราการนำเข้าจากรัสเซีย-ยูเครนในปี 2020)
- ปุ๋ย: อินโดนีเซีย (มากกว่า 15%) เวียดนาม (มากกว่า 10%) ไทย (มากกว่า 10%) มาเลเซีย (ราว 10%) อินเดีย (มากกว่า 6%) บังคลาเทศ (เกือบ 5%) เมียนมา (ราว 3%) ศรีลังกา (ราว 2%)
- ซีเรียล/ธัญพืชจากรัสเซีย: ปากีสถาน (ราว 40%) ศรีลังกา (มากกว่า 30%) บังคลาเทศ (มากกว่า 20%) เวียดนาม (เกือบ 10%) ไทย (ราว 5%) ฟิลิปปินส์ (ราว 5%) อินโดนีเซีย (น้อยกว่า 5%) เมียนมา (น้อยกว่า 5%) มาเลเซีย (น้อยกว่า 5%)
- ซีเรียล/ธัญพืชจากยูเครน ปากีสถาน (เกือบ 40%) อินโดนีเซีย (มากกว่า 20%) บังคลาเทศ (เกือบ 20%) ไทย (มากกว่า 10%) เมียนมา (มากกว่า 10%) ศรีลังกา (เกือบ 10%) เวียดนาม (น้อยกว่า 5%) ฟิลิปปินส์ (ราว 5%) มาเลเซีย (ราว 5%)
อาวุธจากรัสเซีย
รัสเซียคือผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นแหล่งจัดหาอาวุธหลักๆ ให้กับจีน อินเดีย และเวียดนามากว่า 20 ปีแล้ว การค่ำบาตรจากต่างประเทศที่มีต่อบริษัทค้าอาวุธของรัสเซีย ทำให้ประเทศในแถบเอเชียเข้าถึงอาวุธยากขึ้น อย่างไรก็ดี นี่ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศอื่นในด้านการผลิตมากขึ้น เช่น ผู้ผลิตในประเทศ เป็นต้น
ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาวุธจากรัสเซียปี 2000-2020 จัดอันดับตามสัดส่วนในการนำเข้าโดยรวม ดังนี้
- มองโกเลีย (ราว 100%) เวียดนาม (มากกว่า 80%) จีน (เกือบ 80%) อินเดีย (มากกว่า 60%) ลาว (มากกว่า 40%) เมียนมา (ราว 40%) มาเลเซีย (มากกว่า 20%) อินโดนีเซีย (มากกว่า 10%) บังคลาเทศ (มากกว่า 10%) เนปาล (มากกว่า10%) ปากีสถาน (น้อยกว่า 10%)
ประเทศที่สูญเสียนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย หลายประเทศในเอเชียยังเปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินรัสเซียอยู่ ไม่เหมือนยุโรป ซึ่งจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเดินทางของชาวรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากชาวรัสเซียได้รับผลกระทบ ถูกดิสรัปทางเศรษฐกิจ เงินรูเบิลเสื่อมค่า และยังมีเรื่องการถอนตัวของการให้บริการการจ่ายเงินระหว่างประเทศจากรัสเซียด้วย เช่น การตัดรัสเซียออกจากเครือข่ายการชำระเงิน SWIFT เป็นต้น
ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น ปี 2019 ไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในภูมิภาค มีชาวรัสเซียนมาเยือนถึง 1.4 ล้านคน เวียดนามเป็นอันดับสอง ตามด้วยอินโดนีเซีย ศรีลังกาและมัลดีฟท์ นี่ถือเป็น Top 5 ประเทศที่ชาวรัสเซียนเลือกมาเยือน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา