ผู้บริโภค-SME รับผลกระทบเต็มๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในไทยทยอยปรับขึ้นตาม ขณะที่รายได้ของครัวเรือนยังคงเปราะบาง กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ยิ่งกระทบความเป็นอยู่ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย
  • ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับตัวรับสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยเลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ลด/ชะลอกิจกรรมสังสรรค์ และเลือกซื้อสินค้าทดแทนที่มีราคาถูกลง ผู้บริโภคกลุ่มที่รายได้มากจะมีความยืดหยุ่นและมีช่องทางในการปรับตัวได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย 
  • ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของผู้บริโภคไปบ้างแล้ว เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 (ก.พ.-เม.ย.65) และล่าสุดทาง ครม. ได้เห็นชอบ 10 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพรอบใหม่ ที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น คาดว่าจะช่วยพยุงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะข้างหน้าได้บ้าง
  • ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจร้านอาหาร น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่น้อยกว่าผู้ประกอบรายใหญ่ 
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น ผู้ประกอบการ SMEs อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การพัฒนาสินค้าแบรนด์รอง การลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า (Resize) แทนการปรับขึ้นราคา ขณะที่ระยะยาว อาจศึกษาและเพิ่มการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและสต็อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
russia ukraine
ภาพจาก Shutterstock

ประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวให้มีแนวโน้มสะดุดลง แม้ว่ารัสเซียและยูเครนจะไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย (สัดส่วนการส่งออก 0.43 % และนำเข้า 0.75%) แต่เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายสำคัญของโลก นอกจากนี้ ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่มีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยล่าสุดแตะระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล รวมไปถึงราคาแร่โลหะและวัตถุดิบต่างๆ (เช่น เหล็ก นิกเกิล ทองแดง แพลเลเดียม) ราคาปุ๋ย และราคาธัญพืช (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์และผลิตอาหาร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของหลายธุรกิจในไทยปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่อไปได้ และอาจมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า

ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ราคาเนื้อหมู ราคาน้ำมันพืช ราคาทางด่วน ราคาไข่ไก่ ราคาไฟฟ้า เป็นต้น สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 5.23% (YoY) สูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งกระทบต่อรายจ่ายของผู้บริโภคโดยตรง 

K Research

รายได้ไม่เพิ่ม รายจ่ายสูงขึ้น กระทบกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ขณะเดียวกัน รายได้ครัวเรือนของไทยยังคงเปราะบาง สะท้อนจากผลการสำรวจประเด็นรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ที่พบว่า 33.8% ของครัวเรือนที่สำรวจมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งครัวเรือนส่วนมากต้องการรายได้เพิ่มเฉลี่ย 10-20% เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ขณะที่ครัวเรือนราว 67.5% ไม่มีเงินออม (ครัวเรือนที่รายได้พอดีกับค่าใช้จ่ายและครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย) ยิ่งจะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย4 พบว่า สถานการณ์ที่รายจ่ายไม่สมดุลกับรายได้กระทบต่อผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น ซึ่งราว 36% ของกลุ่มดังกล่าวมองว่ามีค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564

เลือกใช้จ่ายที่จำเป็น ลดกิจกรรมสังสรรค์ กลุ่มผู้มีรายได้มากปรับตัวได้ดี

การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยจะเลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ลดหรือชะลอการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย รวมไปถึงลดหรือชะลอกิจกรรมสังสรรค์ รวมทั้งยังหันไปซื้อสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ในราคาที่ถูกลง เช่น สินค้ามือสอง สินค้าแบรนด์รอง (House brand) เป็นต้น

เมื่อพิจารณาแนวทางการปรับตัวตามกลุ่มรายได้ พบว่า ผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้สูงมีความยืดหยุ่นและมีช่องทางในการปรับตัวได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย สะท้อนจากกลุ่มที่มีรายได้สูงสามารถปรับตัวโดยการซื้อสินค้าครั้งละมากๆ เพื่อประหยัดต้นทุนและป้องกันความเสี่ยงที่ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย นอกจากนี้ กลุ่มที่มีรายได้น้อยมีพฤติกรรมการปรับตัวที่หันไปเลือกใช้รูปแบบการเดินทางที่มีราคาถูกลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าขนส่งโดยสารสาธารณะ ยิ่งอาจจะซ้ำเติมและกระทบผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของผู้บริโภคไปบ้างแล้ว เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 (ก.พ.-เม.ย.65) และล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 10 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 65, การช่วยลดค่า FT 22 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในช่วง พ.ค-ส.ค. 65, การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อแก๊สหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน, การลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เป็นต้น ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยพยุงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะข้างหน้าได้บ้าง

K Research

กลุ่มผลิตอาหาร-เครื่องดื่ม ก่อสร้าง ร้านอาหาร เจอต้นทุนสูงขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มที่น่าจะได้รับกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิต (ราคาวัตถุดิบและค่าขนส่ง) คือ ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาที่น้อยกว่าผู้ประกอบรายใหญ่

หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ สะท้อนจากที่มีผู้ผลิตสินค้าแบรนด์หลักหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มส่งสัญญาณขอปรับขึ้นราคาสินค้า เช่น กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs อาจปรับขึ้นราคาตามได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินค้าบางกลุ่มที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังสามารถบริหารจัดการและแบกรับต้นทุนได้ การปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs อาจทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง และอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดได้ในอนาคต

sme
ภาพจาก Shutterstock

สรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น นอกเหนือจากการทำจัดทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปท่ามกลางค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าแบรนด์รองเพื่อเป็นตัวเลือกในการบริโภค การลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า (Resize) แทนการปรับขึ้นราคา รวมทั้งควรเร่งบริหารจัดการต้นทุน ไม่ว่าจะเป็น การรวมกลุ่มในการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง ตลอดจนการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ หรือเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบทดแทนที่มีราคาต่ำกว่า แต่ยังคงต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเป็นหลัก รวมถึงอาจศึกษาการทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบล่วงหน้าระยะยาวเพื่อลดความเสี่ยงในการปรับเพิ่มขึ้นของราคาในอนาคต

ขณะที่ ในระยะยาวผู้ประกอบการอาจศึกษาและเพิ่มการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและสต็อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะใช้เครื่องมือที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก เช่น Microsoft access สำหรับการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า, ระบบ Point of Sale (POS) สำหรับการบริหารจัดการสต็อกสินค้าในธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร และระบบ Building Information Modeling (BIM) สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดการรับงานในธุรกิจก่อสร้างให้มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นต้น  

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา