หลังจากที่สถานการณ์ระหว่างประเทศยูเครน-รัสเซียตึงเครียดมาได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งรัสเซียเริ่มประกาศรับรองสถานะรัฐที่แยกตัวออกจากยูเครน เริ่มให้ทหารเข้าไปรักษาความสงบในพื้นที่ จนล่าสุดสั่งให้ทหารปฏิบัติการพิเศษในยูเครน วิกฤตการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมากในปัจจุบันยิ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่ราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้น แต่สถานการณ์ไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้ราคาทองพุ่งตามพร้อมๆ กับหุ้นที่ร่วงลงทั่วโลก
หลังคำสั่งปูตินให้ทหารปฏิบัติการพิเศษในยูเครน ภาวะตลาดหุ้นร่วงลงทั่วโลก
หลังปูตินมีคำสั่งให้ทหารปฏิบัติการพิเศษในยูเครน ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์มอสโกถึงกับต้องประกาศปิดทำการซื้อขายชั่วคราวทุกตลาด หลังปูตินมีคำสั่งปฏิบัติการทหารพิเศษในยูเครนในช่วง 8 โมงเช้า จากนั้นจึงกลับมาเปิดตลาดใหม่ในช่วง 10 โมง ตลาดหุ้นรัสเซียดิ่งลงอย่างหนักจากช่วงเปิดตลาดอยู่ที่ 1,689.49 จุด ร่วงลง 45.23% ขณะที่ช่วงเปิดตลาดอยู่ที่ 2,736.65 จุด
สถานการณ์หลังปูตินออกคำสั่งทหารบุกยูเครน ตามด้วยหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก ทำให้ Bank of Russia ต้องออกประกาศพร้อมใช้ทุกเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและให้สถาบนัทางการเงินและธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็มีทั้งมาตรการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศไปจนถึงการเพิ่มสภาพคล่องธนาคาร
ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นรัสเซียที่กระทบหนัก ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงตามๆ กัน ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.8% ตลาดหุ้นนิวซีแลนด์ลดลง 2.8% Nikkei 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ร่วงลง 2.2% อยู่ที่ 25,855.04 จุด ดัชนี Hang Seng ตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง 3.1% อยู่ที่ 22,925.60 จุด ตลาดหุ้น Kospi เกาหลีใต้ร่วงลงไป 2.6% อยู่ที่ 2,649.29 จุด
ตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วงลงถ้วนหน้า แต่ภาวะตลาดหุ้นในเอเชียก็ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าตลาดหุ้นในยุโรปมาก ความน่ากังวลของยุโรปคือการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียที่ถือเป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก นั่นหมายความว่าราคาน้ำมันย่อมพุ่งสูงขึ้นพร้อมๆ กับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้
หุ้นร่วงทั่วโลก แต่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น ในไทยเปลี่ยนแปลงมากถึง 17 รอบภายใน 1 วัน
ไม่ใช่แค่หุ้นร่วงทั่วโลก แต่ราคาทองคำก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนไปด้วยเหมือนกัน ส่งผลให้ราคามีความผันผวนสูงขึ้นมาก ราคาทองคำสูงขึ้นราว 3% ราคาทองคำสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 17 เดือน
นอกจากทองคำที่ราคาพุ่งสูงขึ้นก็ยังมีโลหะมีค่าอื่นๆ ที่ราคาเพิ่มขึ้นอีก เช่น แร่พาลาเดียมก็ดีดราคาสูงขึ้นตามไปด้วย (palladium) พุ่งไปกว่า 7%. อยู่ที่ 2,665.99 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ สูงที่สุดนับตั้งแต่สิงหาคมปีที่ผ่านมา ขณะที่เงินก็พุ่งสูงขึ้น 4.2% อยู่ที่ 25.56 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่แร่แพลทินัม (platinum) พุ่งสูงขึ้น 2.7% อยู่ที่ 1,121.10 เหรียญสหรัฐ ส่วนราคาทองคำสูงขึ้น 3.4% อยู่ที่ 1,971.54 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำพุ่งไปที่ 2.4%
ราคาทองคำแท่งเริ่มต้นรับซื้อที่บาทละ 29,150 บาท ขายออกที่บาทละ 29,250 บาท ทองคำรูปพรรณรับซื้อที่บาทละ 28,622.08 บาท ขายออกที่ 29,750 บาท และปิดลงช่วงเย็นครั้งที่ 17 ทองแท่งรับซื้อที่บาทละ 29,900 บาท ขายออกที่ 30,000 บาท ขณะที่ทองรูปพรรณรับซื้อที่บาทละ 29,364.92 บาท ขายออกที่บาทละ 30,500 บาท สำหรับคนที่ติดตามราคาทองคำควรติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิดเนื่องจากทองคำมีความผันผวนสูง มีแนวโน้มที่สถานการณ์คลี่คลายลง ราคาจะค่อยๆ ทยอยลงตามไปด้วย
น้ำมันแตะราคาเกือบ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
หลังปูตินประกาศให้ทหารปฏิบัติการพิเศษในยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 ต้องบอกว่ารัสเซียเป็นเจ้าแห่งพลังงานโดยแท้ ดังนั้น การก่อสงครามที่ส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้นนั้น รัสเซียย่อมได้ผลประโยชน์มากกว่าเสียแน่นอน
รัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบีย รัสเซียสามารถผลิตน้ำมันได้มากถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันและยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา เฉพาะปี 2020 สามารถผลิตก๊าซได้มากราว 22.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต รัสเซียมียุโรปเป็นตลาดหลัก เป็นตลาดรายใหญ่สำหรับส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยุโรปถือเป็นแหล่งรายได้หลักของรัสเซีย
ปี 2014 ที่มีการยึดครองไครเมีย รัสเซียก็ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐและสหภาพยุโรป สหรัฐฯ คว่ำบาตรโดยทำให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทพลังงานของรัสเซียในการเข้าถึงตลาดทุนของสหรัฐ ทั้งด้านสินค้า บริการ และเทคโนโลยีก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ปี 2020 ที่ผ่านมารัสเซียก็เพิ่งไปมีส่วนร่วมในการให้ความร่วมมือกับกลุ่ม OPEC ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก จนในที่สุดก็ทำให้รัสเซียสามารถเพิ่มโควตาในการผลิตน้ำมันเพิ่มได้ ล่าสุดกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา รัสเซียสามารถผลิตน้ำมันเพิ่มจาก 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ โดยจะเริ่มผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ในเดือนพฤษภาคม 2022 นอกจากนี้ รัสเซียยังสามารถผลิตน้ำมันเพิ่มได้อีก 100,000 บาร์เรลต่อเดือนโดยเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่แล้ว บริษัทที่ผลิตน้ำมันในรัสเซียก็คือบริษัทภายในประเทศเอง ปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทที่ผลิตน้ำมันดิบในรัสเซียกว่า 81% มาจากบริษัท Rosneft, Lukoil, Surgutneftegas, Gazprom และ Tatneft
ในปี 2020 รัสเซียส่งออกน้ำมันเกือบ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตลาดส่งออกหลักของรัสเซียแบ่งได้ดังนี้ ประเทศที่อยู่ในโซนยุโรป 48% โดยเฉพาะเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ประเทศในแถบเอเชีย โอเชียเนียราว 42% มีจีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลารุสและประเทศอื่นๆ มีเพียง 1% เท่านั้นที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา
ท่าทีไบเดนยังเป็นเช่นเดิม พร้อมเดินหน้ากดดันรัสเซียร่วมกับประเทศพันธมิตร
ไบเดนออกแถลงการณ์ประณามวลาดิมีร์ ปูติน หลังประกาศจะใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ไบเดนยังคงใช้กลไกพหุภาคีเช่นเดิม ด้วยการประกาศว่าพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราจะออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก รัสเซียจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียทั้งการเสียชีวิตและการทำลายล้างหลังสั่งโจมตี นอกจากนี้ ไบเดน ยัเตรียมหารือกับกลุ่มผู้นำ G7 และสมาชิก NATO เพิ่ม
สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงพลังงานระบุว่าความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนที่กำลังรุนแรงขึ้นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์พลังงานในไทย ไม่กระทบกับการจัดหาน้ำมันและ LNG ของไทย เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางเป็นหลัก นำเข้าจากรัสเซียเพียง 3% และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ 18%
สรุป
ความเสียหายที่ยูเครนได้รับนี้หนักหนานัก มีทั้งผู้เสียชีวิตนับพันคน ชาวยูเครนและคนที่อาศัยอยู่ในยูเครนต้องถูกบีบบังคับให้อพยพหนีออกจากยูเครน เกิดความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกทั้งตลาดหุ้น น้ำมัน ราคาทองคำผันผวน ไปจนถึงราคาคริปโตก็ดิ่งตามไปด้วย จังหวะที่ปูตินเลือกใช้โจมตียูเครนในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น น้ำมันขาดแคลน
ขณะเดียวกัน พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาเช่นยุโรปส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่พึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างมากแถมยังเป็นประเทศที่ให้รัสเซียกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาล ทางออกที่จะช่วยยูเครนเพื่อบีบรัสเซียให้ได้รับความลำบากจากการคว่ำบาตรก็ดูจะบางเบาลงตามไปด้วย เมื่อหลายประเทศยังพึ่งพารัสเซียอยู่ ผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันนั้นอาจมหาศาลเกินกว่าที่จะไปช่วยเหลือให้ยูเครนรอดพ้นจากรัสเซียได้
ท้ายที่สุดแล้วยูเครนจะรอดจากเงื้อมมือของรัสเซียที่แม้ปูตินจะอ้างไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่ได้ต้องการจะยึดครองประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็มีท่าทีไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่ยึดครองไครเมีย หากสหรัฐอเมริกาและเหล่าประเทศในยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรทำโทษรัสเซียไม่ได้ผลอีก ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะลงรอยแบบเดิมอย่างที่รัสเซียเคยทำมา
ที่มา – MOEX, Bank of Russia, Reuters, สมาคมค้าทองคำ, Axios, EIA
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา