ในอดีตหากพูดถึงรัสเซีย “วอดก้า” และพฤติกรรมการดื่มอย่างหนักหน่วงต้องติดเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน แต่หลังจากนี้มันจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะคนรัสเซียเริ่มดื่มน้อยลง แถมหันมารักษาสุขภาพตามประธานาธิบดีด้วย
นโยบายเข้มงวดกับสิงห์นักดื่ม
ปกติแล้วการดื่มแอลกอฮอล์กับคนรัสเซียนั้นเป็นของคู่กัน เพราะเราสามารถเห็นร้านรถเข็นขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นวอดก้า, เหล้าสี หรือเบียร์ต่างๆ ตามท้องถนนทั่วไป แต่ตอนนี้มันไม่มีอย่างนั้นแล้ว เพราะภาครัฐของรัสเซียออกมาห้ามร้านเหล่านี้ขายตามท้องถนน
ทำให้การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำได้แค่ในร้านค้า, ร้านอาหาร หรือการสั่งซื้อออนไลน์ ที่สำคัญยังกำหนดเวลาจำหน่ายด้วย โดยหากเลย 23.00 น. จนถึง 8.00 น. จะไม่สามารถซื้อได้หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายในกรุงมอสโคว และเมืองอื่นๆ ก็จะมีการกำกับเวลาที่แตกต่างกันไป
ที่สำคัญการดื่มแอลกอฮอล์แล้วก็เดินไปตามท้องถนนก็ไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าทำก็จะถูกตำรวจจับทันที โดยมาตรการเข้มงวดในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเริ่มมาตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี ดมีตรี เมดเวเดฟ ระหว่างปี 2551-2555 แล้ว ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษี และมีข้อบังคับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน
เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของรัสเซีย ทาง World Health Organization (WHO) หรือองค์การอนามัยโลก ก็เข้าสำรวจพฤติกรรมการดื่มในรัสเซีย และพบว่าระหว่างปี 2547-2559 การดื่มแอลกอฮอล์ในรัสเซียลดลง 43% ซึ่งการลดลงนี้เองทำให้อายุขัยของชาวรัสเซียนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 68 ปีในผู้ชาย และ 78 ปีในผู้หญิง
เนื่องจากการดื่มแอลกฮอล์จำนวนมามีผลต่อสุขภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิต ในทางกลับกันเมื่อดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ผู้บริโภคในรัสเซียก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นตามกระแสโลก และอาจมีประธานาธิบดี วาลาดีเมียร์ ปูติน เป็นไอดอลก็เป็นได้
สรุป
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปนั้นอาจเกิดผลเสียกับสุขภาพ และรัสเซียคืออีกประเทศตัวอย่างที่ดีในการหักดิบพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักหน่วงได้ดี แต่ที่น่าสนใจคือแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ของรัสเซียนั้นต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อผู้บริโภคที่อาจเป็นลูกค้าหลักนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ
อ้างอิง // BBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา