เปิด RS Vision 2019 ทรานส์ฟอร์มจากสื่อสู่คอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ

เปิดแผนธุรกิจ RS ในปี 2019 เป็นปีที่ทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจ MPC หรือคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัว มีสัดส่วนรายได้ 60% ขายของโดยใช้ธุรกิจสื่อเป็นรอง ปั้นรายได้แตะ 5,000 ล้านบาท

จากธุรกิจสื่อ สู่คอมเมิร์ซเต็มตัว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้นับว่าเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมสื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างมาก ตะลุมบอนทั้งสื่อทีวี ออนไลน์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องปรับตัวกันยกใหญ่เพื่อคงความอยู่รอดต่อไปได้

RS เป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดที่หลายคนคุ้นเคยมากจากธุรกิจเพลง แล้วก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล แต่ความผันผวนของวงการสื่อโฆษณาในประเทศไทยทำให้ RS มีการปรับโครงสร้างองค์กรอยู่ตลอด จนก้าวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพ และความงามในชื่อบริษัท “Lifestar” เพราะมองเห็นเทรนด์การเติบโตของธุรกิจนี้ที่มีมากขึ้นทุกปี

หลังจากที่ลุยธุรกิจ Lifestar ได้ 2-3 ปีก็พบว่ามีรายได้ที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ RS มีการปรับโครงสร้างองค์กรเปิดเป็นกลุ่มธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (Multi-Platform Commerce หรือ MPC) เรียกง่ายๆ ว่าธุรกิจคอมเมิร์ซ รวมช่องทางการขายสินค้าไว้ทั้งหมด

ธุรกิจ MPC ของ RS มีการเติบโตขนาดไหน ถึงขนาดที่ว่าในปี 2019 เฮียฮ้อได้เอ่ยปากบอกเลยว่าเป็นปีแรกที่ดำเนินธุรกิจ MPC แบบเต็มรูปแบบแล้วธุรกิจสื่อเพลงอีเวนท์เป็นธุรกิจรอง

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการทำธุรกิจที่ไม่ง่าย RS มีการปรับตัวปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับธุรกิจในปัจจุบันโดยตลอด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร ใช้เวลาปรับโครงสร้าง 3 ปีกว่า พบว่าทำได้ค่อนข้างดี และลงตัวที่สุด ซึ่งธุรกิจ MPC เป็นธุรกิจหลักมาตลอด 6-7 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปีหน้าจะลุยเต็มที่ ในเดือนกุมภาพันธ์จะใช้งบปี 18 ยื่นตลาดหลักทรัพย์ย้ายหมวดไปคอมเมิร์ซ

เฮียฮ้อเผยแนวคิดในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ RS ไว้ด้วยว่า เป็นการใช้กลยุทธ์เชิงรุกอย่างรอบคอบ ซึ่งธุรกิจในกลุ่มของ RS ไม่ได้รับผลกระบทบจากปัจจัยอื่นๆ ทั้งสงครามการค้า นักท่องเที่ยวจีน หรือราคาน้ำมัน เป็นการทำธุรกิจบนโครงสร้างที่แข็งแกร่ง

คอมเมิร์ซมาร์จิ้นสูง ใช้สื่อในเครือสนับสนุน

ทำให้ตอนนี้ RS มีธุรกิจในเครือแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันได้แก่

  1. พาณิชย์ (MPC) มีโฮมช้อปปิ้ง SHOP1781, ช้อปออนไลน์, ขายตรง และค้าปลีก
  2. สื่อ ได้แก่ ทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ทีวีดาวเทียม และวิทยุ
  3. เพลง ได้แก่ อาร์สยาม บริหารศิลปิน และลิขสิทธิ์
  4. อีเวนท์ คอนเสิร์ต และโครงการพิเศษ

ปัจจุบันในธุรกิจ MPC มีสินค้ากว่า 100 รายการ โดยแบ่งสัดส่วนสินค้าเป็น

  • สินค้าสุขภาพและความงาม 80% ได้แก่ กลุ่มดูแลผิวแบรนด์มาจีค กลุ่มดูแลผมแบรนด์รีไวฟ์ และกลุ่มอาหารเสริมแบรนด์ S.O.M.
  • สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน และไลฟ์สไตล์ 15%
  • เครื่องประดับและอื่นๆ 5%

แพลตฟอร์มจัดจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุดยังคงเป็นทีวีช่อง 8, ช่อง 2, ช่องสบายดี เลข 141, ช่องเพลินทีวี และวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ ตามด้วยสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ www.shop1781.com

เฮียฮ้อให้เหตุผลที่บุกธุรกิจ MPC หนักมากขึ้นเพระาว่ามีการเติบโตมาโดยตลอด และเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงที่สุด ประกอบกับทาง RS มีสื่อในมือเองทำให้ต้นทุนไม่สูง ใช้สื่อในมือมาสนับสนุนการขายสินค้า

แนวคิดของเฮียฮ้อมองว่าเป็นการเทิร์นคนดูช่องทีวีให้มาเป็นลูกค้าให้ได้ โดยที่ช่อง 8 คนดูเฉลี่ยทั้งวัน 13 ล้านคน เป็นตัวเลขจากนีลเส็น ตอนนี้ได้มาเป็นลูกค้าของธุรกิจ MPC ของ RS แล้ว 1.1 ล้านคน แอคทีฟ 70% (ซื้อมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี) และมีการเพิ่มขึ้นทุกเดือนเฉลี่ย 28,000-35,000 คน ตั้งเป้าปีหน้าจะมีฐานลูกค้า 1.5 ล้านคน ลูกค้าแต่ละคนมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000 บาท

Diversify สร้างความหลากหลายให้ธุรกิจเดิม

ส่วนกลยุทธ์สำคัญของ RS ในปีหน้าจะมีทั้งรูปแบบแนวตั้งจากธุรกิจปัจจุบัน นำโดยธุรกิจ MPC ที่ยังเติบโตได้อีกหลายปี และรูปแบบแนวราย Diversify ในการสร้างความหลากหลายให้ธุรกิจ

ปีหน้าจะเปิดกว้างหาพันธมิตรเพื่อต่อจิ๊กซอว์ขยายฐานธุรกิจเพิ่มเติม เสริมโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้น มีแผนเตรียมทำ M&A ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือโมเดล JV ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของ RS ที่ที่การซื้อกิจการ หรือร่วมทุน

มีการตั้งเป้ารายได้รวม 5,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้เป็น MPC 60% สื่อ 30% และเพลง อีเวนท์ 10%

สรุป

RS เป็นสื่อที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว มองเห็นธุรกิจสุขภาพความงามมีการเติบโตสูงจึงลงมารุกธุรกิจนี้ จนต่อยอดมาเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน สามารถเปลี่ยนแกนจากธุรกิจสื่อเป็นคอมเมิร์ซได้เรียบร้อย เป็นอีกหนึ่งการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์สื่อในปัจจุบันของไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา