จากสมุนไพรอินเดียนแดง สู่เครื่องดื่มยาหม่อง ย้อนประวัติ Root Beer และการเติบโตของ A&W

ปฏิเสธไม่ได้ว่า A&W เป็นเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่แม้จะไม่ได้สามารถตีตลาดในบ้านเราได้เหมือน McDonald’s, KFC หรือ Burger Kings แต่จุดเด่นของเมนู A&W ที่หลายคนชื่นชอบก็คงจะหนีไม่พ้นวาฟเฟิลและ Root Beer อันเป็นเอกลักษณ์และยังหาแบรนด์ไหนทำใกล้เคียงไม่ได้
Brand Inside ขอพาไปย้อนรอยที่มาที่ไปของเครื่องดื่ม “ยาหม่อง” Root Beer ที่กลายมาเป็นจุดกำเนิดของ A&W กัน แฟรนชายส์ฟาสต์ฟู้ดแรกของสหรัฐ ส่งท้าย A&W ปิดกิจการในไทย
root beer
1) จุดเริ่มต้นจากน้ำสมุนไพรชาวอินเดียนแดง
เครื่องดื่ม Root Beer จริงๆ แล้วมีมาก่อน A&W นานมาก จุดเริ่มต้นจริงๆ จากยาและเครื่องดื่มของชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือ ที่มีส่วนผสมหลักคือ ดอกแดนดิไลออน เปลือกไม้เบิร์ชดำ ราก sassafras และ sarsaparilla เป็นส่วนประกอบหลักของรสชาติ ก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินทางอพยพมายังอเมริกาเหนือ และนำเครื่องดื่มดังกล่าวมาต่อยอด
2) คนต่อยอดและขาย Root Beer คนแรกคือเภสัชกร
ส่วนจุดเริ่มต้นของ Root Beer จริงๆ มาจากการปรับปรุงสูตรของ Charles Elmer Hires เภสัชกรชาวอเมริกัน เริ่มทำ Root Beer ของตัวเองและเริ่มจำหน่ายในร้านยาของตัวเอง ในช่วงที่สหรัฐมีกฎหมายห้ามขายในหลายๆ รัฐ ทำให้ Root Beer เริ่มที่เป็นรู้จัก ก่อนจะก่อตั้ง Hires Root Beer Co. ของตัวเองขึ้นมา
แต่ Hires กลับไม่สามารถจดสิทธิบัตรชื่อ Root Beer ได้ เพราะสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายที่ห้ามไม่ให้นำคำที่ปรากฎในพจนานุกรมมาจดเป็นสิทธิบัตรได้ จึงเริ่มมีคู่แข่งหลายรายผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้ออกมาแข่ง ทั้งในรูปของหัวเชื้อและขวดน้ำอัดลม
Charles Elmer Hires
3) สูตร Root Beer จากห้องทดลอง สู่ A&W สู่เชนฟาสต์ฟู้ดรายแรกของสหรัฐ
ส่วน Root Beer ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้อย่างของ A&W มีต้นกำเนิดจากห้องทดลองที่นักเคมีได้คิดค้นสูตร Root Beer จากส่วนผสมหลายอย่าง อาทิ สมุนไพร เครื่องเทศ เปลือกไม้ และเบอร์รี่ต่างๆ รวม 14 อย่าง ก่อนจะไปเข้าตาของ Roy Allen ที่ซื้อสูตรดังกล่าว และนำไปขายในขบวนพาเหรดปี 1919 เพื่อสดุดีทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง
ทำให้ Allen ตัดสินมาเปิดเป็นร้าน Root Beer ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน ก่อนจะได้ร่วมมือกับ Frank Wright อดีตพนักงานในร้านสาขาแรกที่กลายเป็นหุ้นส่วน ทั้งคู่เปิดสาขา 2 ที่เมือง Stockton และขยายสาขาเล็กๆ ไปทั่วเมือง Sacramento อักษรย่อนามสกุลของทั้งคู่จึงกลายเป็น A&W Root Beer (Allen & Wright) ในปี 1925 แถมยังมีแผนขายแฟรนไชส์ด้วย กลายเป็นร้านอาหารแฟรนไชส์รายแรกของสหรัฐ
Roy Allen กับ Frank Wright ผู้ก่อตั้งร้าน A&W Root Beer
4) เติบโตคู่ไปกับ Marriott
หลังจาก A&W Root Beer ได้รับความสนใจจนเริ่มมีสาขาในแคลิฟอร์เนียมากขึ้น และปี 1927 การข้ามไปอีกฝั่งของสหรัฐอเมริกาก็เกิดขึ้น เพราะ J. Willard Marriott และภรรยาของเขาเห็นโอกาสที่จะนำ A&W Root Beer ไปเปิดที่ Washington D.C. แถมยังปรับปรุงตัวร้านให้จำหน่ายเมนูอาหารคาวปรุงสุกอีกด้วย
อย่างไรก็ตามทางกลุ่ม Marriott ก็ได้เปลี่ยนชื่อร้านจาก A&W Root Beer เป็น Hot Shoppes เพื่อให้เข้ากับเมนูอาหารในร้าน และเมื่อผสาน Root Beer กับเมนูอาหารใหม่ๆ ก็ทำให้ตัวร้าน Hot Shoppes นั้นขยายสาขาไปจำนวนมาก จนกระทั่งปี 1957 Marriott ก็กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม และกลายเป็นผู้นำในธุรกิจนี้
หน้าร้านตั้งเดิมของ A&W
5) ส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรม Drive-In
A&W Root Beer ได้เติบโตตามการขยายแฟรนไชส์ของกลุ่ม Marriott ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวร้าน A&W Root Beer ก็เปิดใหม่มากมาย โดยเฉพาะจากกฎหมายทหารผ่านศึก GI Bill ที่ให้สิทธิประโยชน์ของทหารผ่านศึกมาแลกเปลี่ยนเพื่อนำเงินมาทำธุรกิจ และร้าน A&W Root Beer ก็เป็นร้านอันดับต้นๆ ที่ได้รับความสนใจซื้อแฟรนไชส์
หลังจากทยอยขยายสาขาไปทั่วประเทศ A&W Root Beer ก็มีส่วนสร้างวัฒนธรรม Drive-In หรือการขับรถมาสั่งอาหารโดยไม่ต้องลงจากรถ ในช่วงปี 1950-1970 ที่ใครๆ ก็เห่อซื้อรถยนต์มาขับ และจะทำกิจกรรมก็ต้องทำในรถไปซะทุกอย่าง ทำให้ A&W Root Beer เริ่มให้บริการเสิร์ฟ Root Beer พร้อมแก้วมัคถึงกระจกรถยนต์
6) ฝ่าวิกฤติมากมายจนอยู่ได้ยั่งยืน
เมื่อกาลเวลาผ่านไป A&W Root Beer ก็เปลี่ยนชื่อเป็น A&W Restaurant และจำหน่ายอาหารคาวหวาน โดยมี Root Beer สูตรที่หาดื่มที่ไหนไม่ได้เป็นตัวนำ รวมถึงทางร้านก็มีการขยายสาขาไปทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีสาขาทั้งมาเลเซีย, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ถือเป็นร้านอาหารจากสหรัฐอเมริกาที่เปิดสาขานอกประเทศเป็นรายแรกๆ
ในทางกลับกันมันไม่ได้มีแค่เรื่องดีๆ เพราะ A&W Restaurant ต้องฝ่าวิกฤติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ, สงครามต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนมือของเจ้าของ ที่ก่อนหน้านี้มีทั้ง United Fruit Company และ Yum! Brands เป็นเจ้าของ ก่อนล่าสุดเหล่าเจ้าของแฟรนไชส์ของร้านก็ช่วยกันซื้อกิจการคืนกลับมาเมื่อปี 2011 
A&W
7) A&W กับอายุ 39 ปีในไทย
A&W Restaurant เปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวปี 1983 (พ.ศ. 2526) ก่อนจะขยายสาขาไป 26 สาขาในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุของการทำการตลาดหรือพิษเศรษฐกิจก็ตาม A&W กำลังจะปิดกิจการในไทย
แฟนๆ Root Beer ของ A&W น่าจะต้องลุ้นว่าหลังจากนี้จะมีใครซื้อแฟรนไชส์กลับเข้ามาทำตลาดในไทยอีกครั้งใหม่หรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
อุดมสิน ศรีสุชินวงศ์ | นักข่าว นักเขียน สนใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยี