กรณีศึกษา สตาร์ตอัพท่องเที่ยว Room 77 ล้มเหลวอย่างไรให้ได้เงินกลับมา

Room 77

เว็บไซต์จองโรงแรม-ที่พัก เกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะเว็บหน้าใหม่ที่เข้ามาท้าทายเว็บไซต์ชื่อดังรายใหญ่ ซึ่งย่อมต้องมีผู้แพ้ที่บาดเจ็บล้มตายกันไป

Room 77 เว็บไซต์ค้นหาห้องพักดาวรุ่งจากสหรัฐอเมริกา มีนักลงทุนชื่อดังมากมายจากซิลิคอนวัลเลย์ (มีทั้งผู้ก่อตั้ง Expedia, Zillow, Glassdoor, Hotel Tonight) มาร่วมลงทุนด้วย และได้รับการหนุนหลังจากผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น สายการบิน United Airlines, โรงแรมเครือ Hyatt/Radisson/Kimpton

ดูฟอร์มแล้ว เส้นทางของ Room 77 น่าจะไปได้สวย บริษัทเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2010 แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดและต้องประกาศปิดตัวในที่สุด

room 77 app

เว็บไซต์ท่องเที่ยว Skift ได้ข้อมูลหลุดมาจากกลุ่มผู้ถือหุ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ดีของสตาร์ตอัพที่ล้มเหลว

  • โดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มนักลงทุนที่ถือหุ้นแบบ preferred share (มีสิทธิได้เงินคืนก่อน) จะได้เงินกลับคืนมาเพียง 0.53 ดอลลาร์ ต่อเงิน 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนไป
  • ผู้ถือหุ้นทั่วไป (common share) ซึ่งรวมถึงพนักงานที่ได้ค่าตอบแทนเป็นหุ้น จะไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย
  • กลุ่มบอร์ดบริหารพยายามหาทางรอดให้บริษัท แต่ก็ไม่สามารถหาโมเดลการทำเงินที่เหมาะสม จนสามารถรักษาบริษัทให้อยู่รอดได้
  • ที่ผ่านมา บริษัทระดมเงินทุนได้ทั้งหมด 43.8 ล้านดอลลาร์ และซื้อกิจการบริษัทขนาดเล็กหลายรายเพื่อเอาเทคโนโลยี-ลูกค้า ก่อนจะปิดฉากด้วยการขายเทคโนโลยีการค้นหาให้กับบริษัท Lola (ทำแอพบริษัทจองตั๋ว) เพื่อหารายได้กลับคืนมาบางส่วน
  • บริษัทเริ่มไปไม่รอดในการจองห้องพัก และเปลี่ยนมาเป็นการขายไลเซนส์เทคโนโลยีในปี 2014 โดยขายเทคโนโลยีให้กูเกิลมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์ (กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Google Hotel Finder) และกูเกิลรับพนักงานบางส่วนเข้าทำงานด้วย ผู้ซื้อรายอื่นคือ Expedia, TrustYou
  • ปัญหาของ Room 77 คือมีเทคโนโลยีน่าสนใจ แต่อยู่ในตลาดที่การแข่งขันรุนแรง ต้องเจอกับคู่แข่งรุ่นใหญ่ที่กระเป๋าหนักอย่าง Expedia และ Priceline ซึ่งมีกำลังเงินทำตลาดเรียกลูกค้าได้มากกว่ากันมาก

กรณีศึกษาของ Room 77 น่าสนใจในแง่การปิดบริษัทอย่างไรให้ได้เงินบางส่วนกลับคืนมาจ่ายให้ผู้ถือหุ้น ซึ่ง Room 77 หาทางออกด้วยการขายเทคโนโลยีออกไปให้กับบริษัทอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งก็ทำให้อย่างน้อยมีเงิน “บางส่วน” คืนกลับมา ถึงแม้ว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ จะไม่ได้เงินเลยสักนิดก็ตาม

ที่มา – Skift

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา