ขาลงของ Rocket Internet สตาร์ตอัพผู้ปั้นและโคลนสตาร์ตอัพ?

เมื่อพูดถึงชื่อ Rocket Internet คนที่ไม่ได้ติดตามวงการสตาร์ตอัพต่างประเทศอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้มากนัก แต่ถ้าบอกว่า Rocket Internet คือบริษัทที่ปั้นสตาร์ตอัพอย่าง Lazada, Foodpanda หรือบริการหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามาบุกตลาดบ้านเราอย่าง Traveloka, HelloFresh และ Delivery Hero (รวมถึง Easy Taxi ที่เคยเข้ามาบ้านเราช่วงสั้นๆ) เชื่อว่าทุกคนคงต้องร้องอ๋อ

rocket-internet-logo

รู้จักประวัติของ Rocket Internet สตาร์ตอัพผู้ปั้นสตาร์ตอัพ

Rocket Internet เป็นบริษัทจากเยอรมนี (สำนักงานใหญ่อยู่ที่เบอร์ลิน) ภารกิจของบริษัทคือ “ปั้นสตาร์ตอัพ” ในประเทศกำลังพัฒนา โดยอาศัยวิธี “ลอก” โมเดลของสตาร์ตอัพในโลกตะวันตก (โดยเฉพาะในสหรัฐ) แล้วโคลนโมเดลของสตาร์ตอัพเหล่านั้น กระจายไปยังประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย แอฟริกา หรืออเมริกาใต้

Rocket Internet ก่อตั้งเมื่อปี 2007 โดยสามพี่น้องตระกูล Samwer ซึ่งเคยประสบความสำเร็จกับการสร้างบริษัทยุคดอทคอมบูม และเคยขายบริษัทอีคอมเมิร์ซให้ eBay มาแล้ว

เป้าหมายของ Rocket คือทุกที่ในโลก ยกเว้นสหรัฐและจีน
เป้าหมายของ Rocket คือทุกที่ในโลก ยกเว้นสหรัฐและจีน

แนวคิดของ Rocket Internet ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นบริษัทลงทุน Venture Capital (VC) แต่เป็นบริษัทที่ลงมาทำเรื่องการดำเนินงาน (operation) ด้วย เมื่อ Rocket พบโมเดลบริษัทที่น่าสนใจ ก็จะใช้พนักงานของตัวเองลองเข้าไป “โคลน” โมเดลของบริษัทนั้นในประเทศอื่นๆ และเซ็ตธุรกิจช่วงแรกจนเริ่มเดินหน้าได้ จากนั้น Rocket ก็จะหา “ผู้ก่อตั้ง” (founder) ซึ่งมักเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่หรือเด็กจบใหม่ไฟแรง มารันธุรกิจต่อ แล้วดึงผู้บริหารของตัวเองออกมาเพื่อไปปั้นธุรกิจอื่นต่อไป

Rocket อ้างว่าจุดเด่นของตัวเองคือการใช้ know-how ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งๆ (เช่น ทำบริษัทส่งอาหาร เจอปัญหา เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา) แล้วสามารถนำมาถ่ายทอดบทเรียนให้กับบริษัทคล้ายๆ กันในประเทศอื่นได้ ช่วยเร่งความเร็วการเติบโตของสตาร์ตอัพได้มากขึ้น

ตัวอย่างบริษัท (เพียงส่วนหนึ่ง) ในเครือ Rocket
ตัวอย่างบริษัท (เพียงส่วนหนึ่ง) ในเครือ Rocket

Rocket Internet ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงแรก บริษัททำกำไรได้จากการขายสตาร์ตอัพให้ธุรกิจอื่นๆ (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือขาย Lazada ให้ Alibaba นอกจากนี้ก็เคยขาย CityDeal ให้ Groupon) รวมถึงเงินปันผลจากกำไรที่ได้ในสตาร์ตอัพของตัวเอง หลังเปิดบริษัทมา 7 ปี บริษัทก็ใหญ่ถึงระดับเข้าขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ตได้สำเร็จ ถือเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ของวงการไอทีในเยอรมนีเสียด้วย

ปัจจุบัน Rocket มีพนักงานมากถึง 30,000 ราย (นับจากสตาร์ตอัพในเครือทั้งหมด) ใน 120 ประเทศ ซึ่งน่าจะมากเป็นอันดับต้นๆ ของวงการสตาร์ตอัพสายไอที

วิดีโอแนะนำธุรกิจของ Rocket Internet

มนต์ขลังเริ่มเสื่อมคลาย

แต่ช่วงหลัง ผลประกอบการของ Rocket Internet กลับถดถอยลง บริษัทเพิ่งประกาศว่าขาดทุนในครึ่งแรกของปีนี้ถึง 617 ล้านยูโร และราคาหุ้นของ Rocket ตกลงมาถึง 53% (ปัจจุบันราคาหุ้นประมาณ 17 ยูโร เทียบกับช่วงสูงสุดที่ 57 ยูโรต่อหุ้น)

นักวิเคราะห์เริ่มวิจารณ์ผลประกอบการทางการเงินของบริษัท และนักลงทุนที่มาร่วมลงทุนกับ Rocket เริ่มถอนตัวออกไป

ปัญหาของ Rocket เกิดจากสตาร์ตอัพในสังกัดของ Rocket ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงหลัง หลายรายขาดทุนจนต้องปิดตัว หรือต้องลดมูลค่าของบริษัท (valuation) ลงจากเดิม

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ HelloFresh สตาร์ตอัพส่งของสดถึงบ้าน ถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของ Rocket ด้วย กลับประสบปัญหาขาดทุนจนต้องปิดสาขาในบางประเทศแล้ว ส่วน Home24 บริษัทส่งเฟอร์นิเจอร์ก็เจอปัญหาบั๊กซอฟต์แวร์ทำให้ส่งของผิดพลาดจำนวนมาก จนลูกค้าถอยหนี

นอกจากนี้ กองทุน Kinnevik ของสวีเดิน ที่ร่วมลงทุนกับ Rocket มาตลอด ก็ไม่ร่วมงานกันต่อหลังหมดสัญญาระยะเวลา 5 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่ากันว่า Rocket หันมาทำธุรกิจลงทุนในสตาร์ตอัพที่เติบโตแล้วแข่งกับ Kinnevik และ Rocket มีวิธีประเมินมูลค่าสตาร์ตอัพเกินจริงไปมาก

Oliver Samwer ผู้นำของ Rocket Internet ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ตอบโต้เสียงวิจารณ์ว่าตอนนี้ Rocket ไม่ได้สนใจการนำบริษัทในเครือไปขายหุ้น IPO หรือขายให้บริษัทอื่นอีกต่อไป แต่เป้าหมายของ Rocket คือสร้างบริษัทและดำเนินธุรกิจต่อไปแบบยาวๆ

คณะผู้บริหารของ Rocket พี่น้องตระกูล Samwer ในวันขายหุ้น IPO
คณะผู้บริหารของ Rocket พี่น้องตระกูล Samwer ในวันขายหุ้น IPO

อะไรคือปัญหาของ Rocket Internet?

Bloomberg วิเคราะห์ว่าปัญหาของ Rocket เกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมกัน ทั้งระบบผลตอบแทนพนักงานที่ไม่ดีพอ (ต่อให้เป็น “ผู้ก่อตั้ง” ก็ได้หุ้นในบริษัทนั้นน้อยมาก เฉลี่ยแล้วเพียงแค่ 3% จากหุ้นทั้งหมด และเงินเดือนก็ไม่ได้เยอะอะไรนัก) และการเลือกปฏิบัติของ Samwer ต่อพนักงานบางกลุ่ม ทำให้พนักงานระดับสูงหลายๆ คนทยอยลาออกไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก ทั้งการแข่งขันจากสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ ที่สนับสนุนโดย VC ในยุโรปและในสหรัฐ รวมถึงโมเดลการโคลนสตาร์ตอัพของ Rocket ที่อาจเริ่มใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะเดิมที Rocket นำโมเดลเดิมจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้ในประเทศกำลังพัฒนา แต่ตอนนี้สตาร์ตอัพในประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย กลับเป็นผู้บุกเบิกโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ แทน

ข้อมูลจาก Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา