วงการหุ่นยนต์ญี่ปุ่นเฟ้นหาวิศวกรไอทีฝีมือดีต่างชาติ เพราะตอนนี้ขาดแคลนมาก

ในแวดวงไอทีญี่ปุ่น แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอ เพราะมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จะหาในญี่ปุ่นที่มีทักษะระดับนั้นก็ยาก แต่ปัญหาคือ สตาร์ทอัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นหลายแห่งที่ต้องการแรงงานต่างชาติทักษะสูงมีเงินทุนไม่พอสำหรับการจ้างงาน

Photo: Pixabay

ยุคนี้ในประเทศมีไม่พอ ต้องขอเพิ่มจากทั่วโลก

แม้ในวงการไอทีญี่ปุ่น โดยเฉพาะสตาร์ทอัพหุ่นยนต์จะมีวิศวกรไอทีด้านซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญไอทีต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานกับญี่ปุ่นมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิศวกรไอทีต่างชาติเชื่อมั่นในญี่ปุ่นด้วย แต่เท่าที่มีอยู่ยังไม่พอ ในหลายบริษัทยังขาดแคลนอยู่

Rapyuta Robotics สตาร์ทอัพหุ่นยนต์ที่กำลังพัฒนาโดรน กำลังมองหาวิศวกรต่างชาติที่จะเข้ามาช่วยงาน โดย Gajan Mohanarajah ซีอีโอ ระบุว่า “งานที่ต้องใช้ทักษะสูงในการพัฒนา เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหาผู้เชี่ยวชาญแบบนั้นได้ทั้งหมดในญี่ปุ่น”

Rapyuta Robotics มีสำนักงานอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์และอินเดียด้วย แต่ซีอีโอบอกว่า สำนักงานใหญ่ของเขาอยู่ที่โตเกียว และแม้ Rapyuta Robotics จะมีพนักงานต่างชาติจำนวนมากอยู่แล้ว รวมถึงตัวของซีอีโอก็มาจากศรีลังหา และก่อตั้งบริษัทนี้ในปี 2014 นอกจากนั้น วิศวกรไอทีชาวอเมริกันที่ทำงานกับเขายังบอกด้วยว่า “สภาพแวดล้อมที่เป็นสากลของที่ทำงาน ทำให้เรามีพลังสูงมากในการทำงาน”

Photo: flickr

ต่างชาติเชื่อมั่นญี่ปุ่น เพราะพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อให้คนมีงานทำ

จำนวนผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติในญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้น อ้างอิงจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปี 2016 มีจำนวนกว่า 200,000 คน คิดเป็น 18% ของชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น

การโยกย้ายเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นของชาวต่างชาติ เป็นเพราะนโยบายด้านหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นแตกต่างอย่างมากหากเทียบกับสหรัฐอเมริกา เพราะในญี่ปุ่นจะระมัดระวังมากหากการพัฒนาหุ่นยนต์นั้นจะทำให้งานมนุษย์ลดลง จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ใช้หุ่นยนต์ในโรงงานหรือคลังสินค้าอย่างที่ประเทศอื่นทำมากนัก แต่จะนำมาเสริมศักยภาพให้กับผู้ค้าปลีกหรือด้านอุตสาหกรรมมากกว่า

ญี่ปุ่นดึงดูดชาวต่างชาติที่มีทักษะพิเศษให้เข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2012 แล้ว เพื่อหวังสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ว่า บรรดาเหล่าสตาร์ทอัพตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีเงินทุนมากสำหรับการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติกำลังประสบปัญหานี้อยู่ เพราะส่วนใหญ่ที่ถูกจ้างมากก็อยู่ในบริษัทใหญ่ๆ กันทั้งนั้น

สรุป

ในวงการไอทีหุ่นยนต์ญี่ปุ่นที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการพัฒนาอยู่ตลอด ย่อมต้องการทักษะที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ปัจจุบันแม้ในหลายที่จะมีผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรไอทีฝีมือดีจากต่างชาติเข้ามาทำงานกันมาก แต่สตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ ที่เงินทุนยังไม่สูงสำหรับการจัดหา/จ้างงาน แน่นอนว่ากำลังประสบปัญหา เพราะลำพังเพียงในญี่ปุ่นเองจะหาคนที่ทักษะสูงในแวดวงนี้ก็มีข้อจำกัดสูง

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา