ในสังคมสูงวัย หุ่นยนต์คือแรงงานการผลิตใหม่ที่สำคัญ เยอรมัน-ญี่ปุ่นเตรียมพร้อม แล้วไทยล่ะ?

ในประเทศที่กำลังมีแนวโน้มไปสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างญี่ปุ่นและเยอรมนี ทำให้ภาคการผลิตต่ำ หุ่นยนต์จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดผลกระทบนี้ แต่ไทยเองในปี 2568 จะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 ของประชากร เราเตรียมตัวเรื่องนี้ไว้แค่ไหน?

Photo: flickr

หุ่นยนต์กับภาคการผลิตใหม่

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านการเงินการลงทุนอย่าง Moody’s Investors Service ออกมาบอกว่า การเพิ่มระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ในภาคการผลิตในอุตสาหกรรม จะช่วยลดผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้ เพราะปัญหาที่จะตามจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ชัดเจนคือ ไม่ลงทุน ตุนเงินออม ผลผลิตน้อย แน่นอนว่าจะทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

การเพิ่มหุ่นยนต์เข้ามาในภาคการผลิตจึงเหมือนการถ่วงเวลาให้ภาคแรงงานของประเทศที่กำลังเติบโต เพราะสังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้หมายความว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ในอีกด้านคืออัตราการเกิดก็ต่ำลงด้วย

Photo: Pixabay

เยอรมนีและญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกๆ ที่นำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม ในเยอรมนีถือเป็นประเทศที่มีตัวเลขการส่งออกใหญ่ในยุโรป คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP เพราะฉะนั้น การเพิ่มหุ่นยนต์เข้ามาในภาคการผลิตจะทำให้ตัวเลขส่งออกไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนญี่ปุ่นก็เช่นกัน ที่มีอัตราการส่งออกถึง 12% หุ่นยนต์จึงต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในภาคการผลิต

แล้วไทยเอาไงดี?

สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2568 หรืออีก 8 ปีหลังจากนี้ เราจะมีผู้สูงวัยคิดเป็น 20% หรือ 1 ใน 5 ของประชากร แน่นอนว่า ถ้าไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับเศรษฐกิจในภาพรวมดังกล่าว ก็ถือเป็นระเบิดเวลาดีๆ นี่เอง

ในวาระแห่งชาติที่เรียกว่า “ไทยแลนด์ 4.0” ได้นำพาสังคมไทยไปสู่ภาคการผลิตที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไรบ้าง? นี่เป็นคำถามของทั้งภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนและสังคมไทย

อ้างอิง – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา