Robo Advisor ก้าวที่กล้าและใจถึง ของแบงก์ชาติสิงคโปร์

หนึ่งในเทคโนโลยี FinTech ที่มาแรงในยุคนี้ และถูกคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะมา Disrupt ธุรกิจการเงินโดยเฉพาะสายการลงทุนเดิมมากที่สุดนั้นคือ Robo Advisor หรือที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคลออนไลน์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ถือเป็นกระแสที่เติบโตรวดเร็วมาก

มาถึงในเอเชีย Robo Advisor กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกันโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเงินและฟินเทคอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง ต่างออกมาสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ภาพจาก Pixabay.com

เรามาดูคำนิยามของ Robo Advisor กันก่อน แม้จะมีผู้ประกอบการหลายรายเรียกตัวเองว่าเป็นที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลออนไลน์ แต่ส่วนตัวอยากจะตั้งคำจำกัดความของ Robo Advisor ไว้ดังนี้คือ

  1. ต้องเข้าถึงง่ายผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเว็บไซท์หรือแอปพลิเคชั่น
  2. ต้องใช้เงินน้อย ตัวอย่างของ Robo Advisor เต็มรูปแบบในต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นด้วยเงินหลักพันบาทเท่านั้น เพื่อตอบโจทย์คนที่ยังมีเงินไม่มากนัก
  3. ต้องลงทุนให้แบบอัตโนมัติ โดยผู้ใช้งานเพียงแค่ฝากเงินเข้าไปประจำทุกเดือนและเลือกโมเดลการลงทุนตามความเสี่ยงและเป้าหมาย ระบบจะนำเงินไปลงทุนให้เอง โดยจัดสรรพอร์ทลงทุน (Asset Allocation) ตามแนวโน้มในขณะนั้น
ภาพจาก Pixabay.com

ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้มี Robo Advisor เต็มรูปแบบเกิดขึ้นแล้วหลายบริษัท ที่โด่งดังก็เช่น 8 Securities ของฮ่องกง ที่ดำเนินธุรกิจโดยการเป็นบริษัทหลักทรัพย์ด้วยตัวเอง แต่สิงคโปร์เองก็ไม่ยอมน้อยหน้า ออกกฎเกณฑ์ใหม่โดยหน่วยงานกำกับด้านการเงินอย่าง MAS (ทำหน้าที่เหมือนแบงก์ชาติ) ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อกลางปี

เนื้อหาใจความสำคัญก็คือ ผ่อนปรนกฎเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบการฟินเทคสาย Wealth Management ให้สามารถประกอบธุรกิจจัดการลงทุน (Fund Management) ที่มีกลุ่มลูกค้าคือ ผู้ลงทุนรายย่อยได้ โดยยกเว้นข้อจำกัดอย่างเช่น เรื่องของประสบการณ์ในธุรกิจจัดการลงทุนที่จะต้องมีถึง 5 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถให้บริการกับรายย่อยได้

กฎเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาจะยกเว้นเรื่องนี้ โดยจะต้องมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ในสายงานเป็นผู้บริหารด้วย รวมถึงปรับลดขนาดเงินกองทุนภายใต้การบริหารจัดการลงจากเดิมอย่างน้อยจะต้องมีถึง 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ขึ้นไป ต้องเรียกว่าทางการสิงคโปร์ “ใจถึง” มากๆ

ภาพจาก Pixabay.com

ประเด็นที่น่าสนใจคือ MAS อนุญาตให้ FinTech สามารถเชื่อมต่อระบบซื้อขายหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ได้โดยตรง หากเป็นวิธีการดั้งเดิม ผู้ประกอบการฟินเทคจะต้องเชื่อมต่อระบบซื้อขายผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์ต่อหนึ่งก่อน แต่ยังต้องทำงานร่วมกับผู้ดูแลทรัพย์สินหรือ Custodian ในการรับโอนและถอนเงินจากลูกค้าเช่นเดิม

ฟินเทคยังจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ MAS เสมือนเป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และยังต้องจำกัดสินทรัพย์ในการลงทุน จะต้องไม่ลงทุนในตราสารที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น อนุพันธ์ โดยมุ่งเน้นให้ลงทุนผ่านกองทุน ETF ซึ่งมีความหลากหลายสูง รวมถึงการซื้อขายจะต้องผ่าน “หุ่นยนต์” หรือตัดสินใจโดยระบบเท่านั้น ห้ามมาจากการตัดสินใจของมนุษย์

ต้องถือว่าแบงก์ชาติสิงคโปร์ กล้าที่จะนำความคิดดั้งเดิมแบบอนุรักษ์นิยมพับเก็บไว้ก่อนและหันมาสนับสนุนฟินเทคในการพัฒนา Robo Advisor แบบสุดตัวจริงๆ แม้จะยังกำกับบางส่วนแต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟินเทคสาย Wealth Management จากทั่วโลกพุ่งตรงไปตั้งฐานยังเกาะเล็กๆ แห่งนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT