นับถึงวันที่ 21 ม.ค.64 รวมเป็นเวลา 88 วันที่ Robinhood เริ่มให้บริการ Food Delivery อย่างเป็นทางการ เรียกว่าเป็นน้องใหม่ที่เข้าสู่หนึ่งในสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดในยุคโควิด-19 เพราะเมื่อการไปกินอาหารที่ร้านไม่สะดวก การสั่งมากินที่บ้านจึงเป็นทางออก
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือของ SCB ที่พัฒนา Robinhood ขึ้นมา เน้นย้ำว่า Robinhood เป็นผู้ให้บริการตัวเล็ก เพื่อร้านอาหารเล็กๆ และไรเดอร์ (คนส่งอาหาร) โดยมีท่าพิสดารคือ ไม่เก็บส่วนแบ่งรายได้ หรือ GP ทำให้ระยะ 88 วันมีร้านอาหารเล็กๆ จำนวนมากเข้ามาร่วม
สามารถสรุปรายละเอียดเบื้องต้นได้ว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดไป 5.8 แสนราย มีไรเดอร์รอรับบริการ 11,500 ราย มีร้านอาหารในระบบ 55,000 ร้าน มีเมนูให้เลือกกว่า 1.6 ล้านเมนู มียอดสั่งอาหารประมาณ 15,000 ครั้งต่อวัน ปัจจุบันยังให้บริการในเขตกรุงเทพ โดยมีจตุจักร ห้วยขวาง และคลองเตย เป็นพื้นที่ที่มีการสั่งมากที่สุด
พลังแห่ง O2O เพิ่มจำนวนร้านอาหารในระบบ และจะเพิ่มอีกในอนาคต
สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส บอกว่า การที่ Robinhood สามารถเพิ่มจำนวนร้านอาหารในระบบได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าได้รับพลังจาก O2O หรือเรียกว่าใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป การโปรโมทผ่านออนไลน์ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับออฟไลน์ สาขาของธนาคารมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้ดาวน์โหลด และยังช่วยดึงดูดให้ร้านอาหารมาใช้งานได้อย่างมาก พิสูจน์ว่าธุรกิจนี้ไม่สามารถมองข้ามระบบอนาล็อกได้ คนไทยที่เป็น Non-Native Digital ยังมีอีกมาก
“การขยายฐานผู้ใช้และร้านอาหารต้องใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์แน่นอน รวมถึงการขยายในต่างจังหวัดที่จะทำในปีนี้ด้วย”
สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ของ SCB บอกว่า นอกจากให้บริการ Food Delivery แล้ว Robinhood เข้าไปช่วยร้านอาหารให้ขายได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย ทำยังไงให้รูปสวย ต้องตกแต่งอย่างไร ต้องสร้างเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ต้องโปรโมทร้าน ไม่เช่นนั้นร้านอาหารเข้ามาในระบบ ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์
นอกจากนี้ หนึ่งในปรากฎการณ์ที่น่าสนใจของการทำตลาดคือ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา คำค้นหา แซลมอน หรือ Salmon ติดอันดับสูงสุด และหนึ่งในร้านที่ได้รับความนิยมคือ Oba San 168 ทำให้ทีมงานเข้าไปศึกษาและพบว่า กระแส แซลมอน หรือ ปลาส้ม มาแรงมาก ทำให้ทีมงานทำตลาดเรื่องปลาแซลมอนทันที ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของ SCB เอง และนั่นทำให้ยอดขายปลาแซลมอนเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ อยากให้ร้านอาหารเข้าร่วมโปรแกรมส่วนลด (LS) เนื่องจาก Robinhood ไม่มีการเก็บค่า GP ร้านอาหารสามารถนำไปใช้เป็นส่วนต่างในการลดราคาอาหารได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ร้านที่มีการทำ LS ตั้งแต่ 8-20% มียอดสั่งอาหารดีกว่า
เตรียมแผนพร้อมขยายธุรกิจในปี 64
ธนา บอกว่า การขยายธุรกิจในปีนี้จะทำให้ทุกมิติ เร่ิมจากการเจาะกลุ่มฐานลูกค้าใหม่ ช่วงที่ผ่านมาทดลองทำ Midnight Rider เพื่อจับกลุ่มคนสั่งรอบดึก ทำให้ได้ช่วงเวลาสั่งอาหารใหม่ๆ และเตรียมทำสั่งอาหารรอบเช้าด้วย เท่ากับว่า ใน 1 วัน จะมีรอบพีคเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 5 หรือ 6 ช่วงเวลา
นอกจากนี้ จะพัฒนาฟรีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การสั่งแบบ Multiple Orders, การจ่ายเงิน Multiple Payment Method นอกจาก SCB Easy, บัตรเครดิต จะต้องตัดเงินผ่านบัญชีธนาคารอื่นให้ได้ หรือบัญชี Wallet อื่นๆ, การทำ Favourite Shops เลือกร้านที่สั่งบ่อยๆ และ Dynamic Playlists สร้างเพลลิสต์ตามความชอบของแต่ละคน
ส่วนฟีเจอร์ใหม่ๆ ของร้านอาหาร จะมี 3 ส่วนหลัก คือ Easy Manage Shop & Menu การจัดการร้านและเมนูง่ายขึ้น, POS Integration ทำระบบ POS ให้ร้านค้ารวมระบบออนไลน์-ออฟไลน์ และ Multiple Device Log in เข้าใช้งานได้หลายเครื่องพร้อมกัน
“ต้องยอมรับว่า ฟีเจอร์ที่ว่ามาทั้งหมดไม่ใช่ของใหม่ เพราะคู่แข่งในตลาดทำกันหมดแล้ว เป็นภารกิจที่ Robinhood จะต้องเร่งตามให้ทัน”
เพิ่มร้านค้า เพิ่มผู้ใช้ เพิ่มไรเดอร์ และเพิ่มต่างจังหวัด
สำหรับในปี 64 Robinhood ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้าให้ได้ 150,000 ร้าน และต้องขายบน Robinhood ได้ด้วย จำนวนผู้ดาวน์โหลดใช้งาน 1 ล้านราย มีไรเดอร์ 20,000 ราย และมียอดธุรกรรมที่เกิดขึ้น 1.6 พันล้านบาท ซึ่งจากปัจจุบันที่ได้งบประมาณจาก SCB ปีละ 150 ล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ โดยอยู่ระหว่างเตรียมแผนเสนอต่อ SCB เพื่อพิจารณา
นอกจากนี้ จะขยายบริการไปต่างจังหวัด ตั้งเป้า 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, นครราชสีมา และขอนแก่น แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ 3 จังหวัดแรกได้รับผลกระทบอยู่ ทำให้เปลี่ยนเป้าหมายเป็น นครราชสีมา และ ขอนแก่น ก่อน
สีหนาท เล่าต่อไปว่า SCB ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร คิดการสร้างงานด้วยมอเตอร์ไซค์ EV ให้คนที่อยากทำงานไรเดอร์แต่ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ สามารถมาเช่าใช้มอเตอร์ไซค์ EV ได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลอง โดยต้องการรถมอเตอร์ไซค์ EV ที่ขับได้ความเร็ว 90-100km/hrs ระยะทางที่ขับได้คือ 120 กม. และคิดค่าเช่าวันละร้อยกว่าบาท ซึ่งคาดว่า เดือน มี.ค. น่าจะเริ่มทดลองให้บริการจริง จำนวน 200-400 คัน โดยระหว่างวันสามารถไปเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ได้ที่สาขาของ SCB ที่มีอยู่กว่า 500 แห่ง ใน กทม.
การต่อยอดสู่ธุรกิจในอนาคต
จุดเด่นของ Robinhood คือ การไม่เก็บค่า GP ซึ่งจะไม่มีการเก็บตลอดไป คำถามคือแล้ว Robinhood ได้อะไรจากการให้บริการ Food Delivery
ธนา บอกว่า หัวใจของ Robinhood คือ การได้ร้านค้ามาอยู่ในระบบ จากนั้นจะนำเสนอ 4 บริการเพื่อต่อยอด ได้แก่ Financial Service จาก SCB, Supply Chain Fulfilment ซึ่งน่าจะเริ่มได้ในปีนี้หลังจากที่มีร้านค้าในระบบมากเพียงพอ บริการ Business Service อื่นๆ และ บริการด้าน Market Intelligence
Robinhood ยังมีการทดลองบริการใหม่ๆ โดยร่วมมือกับตลาดสด เช่น ตลาดเสนีย์ ฟู้ดมาร์เก็ต, ตลาดถนอมมิตร, ตลาดมีนบุรี, ตลาดบางใหญ่ ทดลองให้บริการ Food Delivery จากตลาดสด และมีแผนจะส่งของสดจากตลาด รวมถึงอาจมี Food Court ในอนาคตด้วย
บทเรียนจาก 88 วันแรก ความผิดพลาดของระบบ และ ผูกกับ SCB มากเกินไป
ธนา บอกว่า แม้ Robinhood จะเป็นบริษัทในเครือของ SCB แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาผูกติดกับ SCB มากเกินไป ทำให้หากระบบ SCB Easy มีการติดขัดก็จะส่งผลต่อ Robinhood ด้วย ดังนั้นต้องเร่งเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินใหม่ๆ ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ก่อนหน้านี้ก็เป็นข่าวไปกับความผิดพลาดของระบบ มีการส่ง SMS ไปหาลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดที่น่าเกิดขึ้น รวมถึงการทำ Code ส่วนลดที่มี ไรเดอร์และร้านอาหารบางราย นำไปวนใช้ซ้ำเรื่อยๆ จนเกิดความเสียหายหลักแสนบาท แต่ทั้งหมดคือ บทเรียนจากการเป็นน้องใหม่ในตลาด
แต่จากวันนี้ มั่นใจว่า Robinhood พร้อมแล้วทั้งเรื่องระบบในการรองรับการใช้งาน ความท้าทายจึงอยู่ที่การขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น และเชื่อว่าในตลาดไม่น่าจะมีรายใหม่เข้ามาแล้ว รวมถึงไม่น่าจะมี Price War ด้วย แต่การแข่งขันก็ยังคงดุเดือดไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา