[วิเคราะห์] Robinhood แอปเล็กๆ ที่อาจเปลี่ยนวงการ Food Delivery

การเปิดตัวเบาๆ ของ Robinhood โดย อาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB กลับไม่เบาและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจร้านอาหาร ด้วยประโยคเด็ดคือ ไม่เก็บค่าธรรมเนียม (GP) ไม่หาเงินเข้ากระเป๋า SCB และเตรียมเผาเงินปีละร้อยกว่าล้านบาท เป็นสิ่งที่พอรับได้

แล้วแบบนี้ในทางธุรกิจ Robinhood จะอยู่รอดได้อย่างไร จะสู้กับ Grab, LINE Man, GET หรือ Food Panda ในท่าไหน เมื่อแต่ละรายลงสนามไปก่อน มีเงินทุนพร้อมอัดโปรโมชั่นหนักๆ ลองมาวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน

Robinhood ไม่มีค่าธรรมเนียม เคลียร์เงินใน 1 ชั่วโมง

Robinhood เป็นไอเดียธุรกิจที่ อาทิตย์ CEO ของ SCB ปิ๊งขึ้นมาในช่วงเดือนเมษายน ระหว่างโควิดระบาด ซึ่งถ้านับถึงวันที่ประกาศสู่สาธารณชน ยังไม่ถึง 3 เดือน แต่ภายใน SCB ระดมทีมกว่า 80 คนพัฒนาแอปตัวนี้ขึ้น ภายใต้ชื่อ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด มี ธนา เธียรอัจฉริยะ เป็นประธานกรรมการบริหาร และ สีหนาท ล่ำซำ เป็น กรรมการผู้จัดการ

ชื่อ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีที่มาง่ายๆ คือ สีม่วง (Purple) ซึ่งเป็นสีของ SCB อยู่แล้ว แต่ชื่อ Robinhood เป็นชื่อที่ CEO ของ SCB สั่งการมาเลยว่า ต้องใช้ชื่อนี้เท่านั้น โดยสัดส่วนการถือหุ้น SCB 10X ถือหุ้น เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ทั้ง 100% 

Robinhood เป็นการคิดแบบสตาร์ทอัพแท้ๆ นั่นคือ เริ่มจาก Pain Point คือ การสั่งอาหารแบบ Delivery ที่ผู้ให้บริการ Delivery ในปัจจุบัน เก็บค่าธรรมเนียม หรือ GP 30-35% ทำให้ร้านอาหารบางแห่งแทบไม่มีกำไร หรือทำให้ผู้บริโภคที่สั่งอาหารถูกชาร์จค่าบริการ ซึ่ง Robinhood จะเข้ามาแก้ไขจุดนี้ และเชื่อว่าจะช่วยดึงร้านค้าให้อยากมาร่วม และดึงให้คนมาใช้บริการมากๆ จากนั้นเรื่องรายได้และกำไรค่อยว่ากัน

อีกส่วนที่เป็น Pain Point สำคัญคือ การเคลียร์เงินสั่งอาหาร ซึ่ง ร้านอาหารหลายแห่งต้องใช้เงินที่ได้เพื่อซื้อวัตถุดิบ หมุนเงินใช้จ่ายในร้าน Robinhood จึงทำระบบให้เคลียร์เงินจากการสั่งอาหารให้เรียบร้อยใน 1 ชั่วโมง ดังนั้น การใช้บริการจะต้องจ่ายเงินผ่านระบบเท่านั้น (ไม่รับเงินสด) และเงินจะเคลียร์ให้กับร้านอาหารและคนส่งใน 1 ชั่วโมง

เปิดบริการเล็กๆ ปลาย ก.ค. แต่เปิดบริการใหญ่ ส.ค.

ธนา เล่าให้ฟังว่า แม้ CEO จะบอกว่า ก.ค. จะเปิดให้บริการ แต่คิดว่าน่าจะเป็นในวงจำกัดเพื่อทดสอบความเรียบร้อยก่อน และน่าจะเปิดให้บริการจริงๆ ช่วง ส.ค. ซึ่งจะจำกัดเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในอนาคต

พร้อมกับย้ำว่า Robinhood เป็นแอปเล็กๆ ที่จะเป็นทางเลือกให้กับร้านอาหารและผู้บริโภค เพราะคงไม่มีเงินมากมายไปแข่งกับผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดแน่นอน ซึ่งแต่ละรายสามารถระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์มาทุ่มตลาด

“ถ้าผู้ให้บริการรายอื่นใช้โปรโมชั่นค่าส่ง 10 บาท Robinhood คงไม่ลงไปแข่งด้วยและสนับสนุนให้ใช้บริการของคู่แข่งได้เลย ทำให้ผู้บริโภคได้ค่าส่งถูกๆ ถือเป็นเรื่องดี”

ส่วนคนส่งอาหาร Robinhood จับมือกับ Skootar ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ ซึ่ง Skootar มีคนขับในสังกัดประมาณ 10,000 ราย ยังไม่มีบริการส่งอาหารมาก่อน จึงถือเป็นการร่วมกันเติบโต และมีแผนจะขยายไปทั่วประเทศเหมือนกันด้วย แต่ Robinhood ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับ Skootar รายเดียวเท่านั้น

ต่อยอดธุรกิจธนาคาร ด้วยบริการที่ไม่ใช่เรื่องการเงิน

สีหนาท บอกว่า ทั่วโลกซูเปอร์แอปทั้งหลายเริ่มจากบริการอื่นๆ เช่น Delivery, Marketplace สุดท้ายจะวนมาสู่บริการทางการเงิน จึงเป็นคำถามว่าแล้ว SCB ที่เป็นธนาคารให้บริการทางการเงินอยู่แล้ว โดน Disrupt เรื่องนี้มาตลอด แล้วทำไมธนาคารจะก้าวข้ามไปทำบริการอื่นๆ ไม่ได้

Robinhood จึงเป็นการขยายขอบเขตการให้บริการผ่านบริษัทลูก แต่จะเป็นลักษณะของ CSR คือ รายได้จะไม่เข้ากระเป๋าของ SCB เลย และจะคอยช่วยเหลือ ให้ทุนปีละกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในช่วง 3-5 ปีจ่ายได้สบายมาก

นอกจากนี้ ร้านอาหารที่จะใช้ Robinhood ต้องใช้ Payment ของ SCB ซึ่งจากฐานลูกค้าเดิมที่ทำ QR แม่มณีมีอยู่หลายร้านค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลอยู่แล้ว สามารถเข้าร่วมได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าจะมีประมาณ 20,000 ร้าน ส่วนผู้บริโภคสามารถจ่ายผ่าน SCB Easy และ บัตรเครดิตทุกธนาคาร ส่วนเฟสต่อไปปลายปีจะจ่ายผ่าน QR และ Mobile Banking เจ้าอื่นๆ ได้หมด

สร้างความสัมพันธ์ ประสบการณ์ ให้กับสาขา

ธนา มองว่า Robinhood คือ ธุรกิจที่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับร้านอาหาร ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดเรื่องการ Reskill และปรับการทำงานของสาขา SCB ใหม่ เพื่อให้รองรับกับบริการ Robinhood พนักงานต้องสามารถแนะนำให้ร้านค้าสมัครมาเข้าร่วมได้ จึงเกิดเป็นการเทรนนิ่งพนักงานกว่า 800 คนทั่วประเทศขึ้น

ในการฝึกอบรมพนักงาน ใช้เวลาหลังเลิกงานประมาณ 10 วัน โดยไม่บอกแค่ว่าเป็นบริการ Food Delivery พนักงานต้องสามารถออกไปคุยกับร้านอาหาร ช่วยในการถ่ายรูปเมนูอาหารให้สวยงาม ซึ่งมีการอบรมการถ่ายรูปด้วยมือถือ ทั้งเรื่อง แสงและเงา กฎ 3 ส่วน 9 ส่วน การใช้พร็อพเพื่อถ่ายรูป และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ

นี่คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจร้านอาหารกับสาขาของ SCB จากเดิมธนาคารคือ Transaction แต่ตอนนี้ธนาคารคือ Engagement และต้องมีประสบการณ์ที่ดี สาขาเองก็มีประโยชน์มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดธุรกิจร้านอาหารเหล่านี้จะคิดถึง SCB ก่อน และมีโอกาสต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ ในอนาคตได้

Data คืออนาคต แต่สำคัญกว่าคือ Privacy

สิ่งที่ SCB เน้นย้ำในการทำ Robinhood คือ เรื่องประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ทั้งร้านอาหาร คนส่งและคนสั่ง เร่งพลังในการพัฒนาบริการในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่อยู่ในตลาดมาก่อนและแข็งแกร่งมากเรื่องเงินทุน บอกเลยว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งบอกว่าไม่เน้นเรื่องรายได้ หลายคนจึงโฟกัสไปที่เรื่องของข้อมูลหรือ Data ที่เกิดจากการใช้งาน ทั้งจากร้านอาหาร คนส่งและคนสั่ง ยิ่งตอนนี้ SCB Easy มีระบบวิเคราะห์สถานะทางการเงิน ประเมิณเรื่องของบัญชี เงินออม ขอบัตรเครดิต ขอสินเชื่อผ่านแอปได้ทันที ถ้าสามารถผสานข้อมูลกับ Robinhood ได้ คือโอกาสของ SCB

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้บริหารของ Robinhood ยืนยันตรงกันว่า แม้จะมี Data เข้ามาแต่สิ่งสำคัญกว่าคือ Privacy ความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้ ที่ SCB และ Robinhood ให้ความสำคัญมากที่สุด และอีกประการคือ ปกติทุกธนาคารมีข้อมูลเยอะอยู่แล้ว จาก Mobile Banking ซึ่งก็ยังนำมาใช้เพียงน้อยนิดเท่านั้น

จากแอปเล็กๆ สู่ Super App

ธนา ย้ำหลายรอบว่า Robinhood คือ แอปเล็กๆ เป็นทางเลือก ไม่ได้เน้นแข่ง ไม่ได้เน้นทำกำไร

แต่ใครจะรู้ว่า แอปเล็กๆ นี้อาจพัฒนาไปเป็น Super App ในอนาคต โดยมีจุดเร่ิมต้นจาก Food Delivery ถ้าพลังของการเป็นแอปคนไทย ไม่เก็บค่าธรรมเนียม เคลียร์เงินเร็ว ทำให้มีผู้ใช้จำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ การต่อยอดบริการใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปก็ทำได้ไม่ยากนัก

รัฐบาลทำไม่ได้แน่นอน เอกชนอื่นๆ ก็ทำได้ยาก แต่ธนาคาร สามารถทำได้เพราะมีทั้งพลังเงิน และพลังคน ซึ่งสำหรับ SCB อาจจะเริ่มต้นช้าไปบ้าง แต่ก็ยังพอมีโอกาสทางธุรกิจให้สอดแทรกเข้าไปได้

สรุป

ตอนนี้แอปที่เป็นของไทยแท้ๆ มองหาแทบไม่มี และถึงมีก็ยากจะแข่งขัน เช่น Marketplace ที่มี Lazada, Shopee, JD Central หรือ ท่องเที่ยว ที่มี Booking, Agoda ทั้งที่ประเทศไทย เป็นอันดับต้นๆ ในการซื้อของออนไลน์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก ดังนั้น Robinhood อาจจะเป็น แอปเล็กๆ ของไทยแท้ ที่จะมาเปลี่ยนวงการ Food Delivery ให้เกิดขึ้นจริงก็เป็นได้

แถมท้าย ร้านอาหารที่สนใจสมัครได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สาขา SCB, onboard.robinhood.in.th และ คอลเซ็นเตอร์ 02-777-7564

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา